svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

เกมพลิก!!!

10 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกไม่นานความจริงจะปรากฏว่า แถลงการณ์ 25 หน้าของ คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น จ.ยะลา จะปรากฏว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง และมีอะไรแฝงอยู่ รอ 15 วัน อนุกรรมการสอบสวนที่ กต.ตั้งขึ้นจะเป็นผู้ให้คำตอบ

แต่ระหว่างนี้กว่าจะถึง 15 วัน ความจริงบางอย่างจะเริ่มเปิดเผยออกมาให้เห็น โดยเฉพาะประเด็นการแทรกแซงคำพิพากษาที่ คณากร กล่าวหาว่า อธิบดีภาค 9 แทรกแซงคำพิพากษาโดยมี "จดหมายลับ" ไม่ใช่การดำเนินการภายใต้กฎหมาย
กฎหมายที่พูดถึงกันมากในขณะนี้คือ อธิบดีศาลฯ มีอำนาจในการตรวจดูคำพิพากษาของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่
ข้อมูลข้อเท็จจริงที่บรรดาคนในวงการตุลาการ ได้เผยแพร่ออกมาก็คือ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 และมาตรา 14
ในมาตรา 11 บัญญัติว่า ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ต้องรับผิดชอบในราชการของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และ ให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย (๑) นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใด ๆ ของศาลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจมีความเห็นแย้งได้
และมาตรา 14 ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้พิพากษาในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจด้วยผู้หนึ่ง โดยให้มีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) สั่งให้หัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมรายงานเกี่ยวด้วยคดี หรือรายงานกิจการอื่น ของศาลที่อยู่ในเขตอำนาจของตน
จะเห็นได้ว่า พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เขียนไว้รองรับการทำหน้าที่ของ อธิบดีผู้พิพากษาภาค
ฉะนั้นการที่ คณากร บอกว่า อธิบดีฯไปแทรกแซงด้วยการส่งจดหมายลับไปข่มขู่ให้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาที่ คณากร ตัดสินยกฟ้องจำเลยในคดีด้านความมั่นคง จึงมีเรื่องที่ต้องพิสูจน์ว่า อธิบดีฯแทรกแซงโดยไม่ได้ดำเนินการตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมจริงหรือไม่
ก็ปรากฎว่า ในการเผยแพร่เอกสารออกมาแล้วว่า หนังสือที่ อธิบดีส่งไปนั้นไม่ใช่ "จดหมายลับ" แต่เป็นเอกสารทางราชการที่เขียนไปแนะนำว่า การที่ คณากร ยกฟ้องจำเลยนั้น อาจจะไม่ละเอียดเพียงพอเพราะยังมีพยานหลักฐานหลายอย่างที่นำมาประกอบเพื่อลงโทษจำเลยได้
เช่นนี้วงการตุลาการสรุปว่า 1 อธิบดีมีอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และ 2 จากรูปการณ์แล้ว อธิบดีฯได้ดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ
มีข้อสังเกตว่าในแถลงการณ์ของ คณากร 25 ได้ยกตัวอย่างคดีมา 2 คดีคือคดีที่ ผู้ก่อความไม่สงบถูกฟ้อง 5 รายข้อหาฆ่าคนตาย อีกคดี คดีที่เจ้าหน้าที่รัฐ 3 นาย ตั้งด่านตรวจแล้วยิงผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 2 ราย
ผลคำพิพากษาของ คณากร แตกต่างกันคือ คดีแรกยกฟ้องจำเลยที่ถูกฟ้องว่าฆ่าคนตายกระทำความผิดต่อคดีด้านความมั่นคง ส่วนคดีหลัง คณากร ลงโทษเจ้าหนี้รัฐ ที่ยิงผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต
ทั้งสองคดี คณากร อ้างว่า อธิบดีฯเข้ามาแทรกแซง ในทำนองว่า คดีแรกอยากให้ลงโทษจำเลย ส่วนคดีหลังอยากให้ช่วยเจ้าหน้าที่
เช่นนี้พอจะเห็นว่าอะไรเป็นอะไร
อดใจรออีก 15 วันก็จะได้ทราบว่าผลของอนุกรรมการจะออกมาอย่างไร และเมื่อถึงวันนั้น คณากร ก็คงจะทราบว่า ผลของการยิงตัวเองแต่ไม่ตายในครั้งนี้ จะได้รับอะไรเป็นการตอบแทน
ฝ่ายค้านอย่าเพิ่งโหนกระแส อย่าเพิ่งมั่นใจว่าจะใช้กรณี คณากร ไปเป็นเครื่องมือในการทำลายองค์กรตุลาการ เพราะระวังคดีจะพลิก เกมจะเปลี่ยน
ในทางกฎหมายเขาบอกว่า กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา
ส่วนทางพระบอกว่า กัมมุนา วัตติโลโกสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

logoline