svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คาดเปิดเหมืองอัคราแน่! ชาวบ้านเตรียมสู้ต่อ​ ยันมีหลักฐานบ่อรั่ว​ ใช้กม.ปกติสั่งปิดไม่ซ้ำรอย​ ม.44

04 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แกนนำชาวบ้านคัดค้านเหมืองทองอัครา เตรียมแผนต่อสู้หลังจากคาดว่าเหมืองทองจะกลับมาเปิด ได้อีกครั้ง โดยเตรียมหลักฐาน งานวิจัยบ่อทิ้งกากแร่ที่ 1 รั่ว พร้อมใช้กฎหมายปกติ พ.ร.บ.แร่ สั่งปิดเหมืองซ้ำโดยชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับของสากล ไม่ซ้ำรอยม. 44

4 ต.ค.62 - นางสาวสื่อกัญญา ธีรชาติธำรง แกนนำชาวบ้านคัดค้านเหมืองทองอัครา เปิดเผยว่า หลังจากที่เหมืองทองปิดไปตั้งแต่ต้นปี 2560 จากคำสั่ง ม.44 ของ คสช. การฟื้นฟูเหมืองยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง อีกทั้งสถานการณ์ปัจจุบันยังได้เห็นท่าทีของรัฐบาล โดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องการเร่งเปิดทางให้ผู้ที่ต้องการประกอบกิจการเหมืองแร่ยื่นอาชบัตรพิเศษ ภายใต้พ.ร.บ. แร่ พ.ศ.2560 ฉบับใหม่ และเดินหน้านโยบายทองคำ 12 จังหวัด เพื่อให้เอกชนเข้าสำรวจและประกอบกิจการต่อไป เหล่านี้จึงนำมาซึ่งความกังวลเนื่องจากปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการแก้ไข และยังไม่มีความพร้อมด้านกลไกล มาตรการที่ชัดเจนรองรับเพียงพอ

โดยการเจรจาการระหว่างรัฐบาลไทย กับบริษัทคิงเกต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ เพื่อหาข้อยุติว่าจะต้องเข้าสู่ชั้นของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศหรือไม่ มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลไทยจากเปิดทาง ให้เหมืองอัคราได้เดินหน้าต่อ เพื่อแลกกับการไม่ฟ้องในชั้นอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากครั้งนั้น คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ปิดเหมืองทอง ซึ่งไม่ใช่กฎหมายที่สากลยอมรับ เนื่องจากเป็นคำสั่งจากหัวหน้าคณะปฏิวัติ อาจทำให้แพ้คดีและต้องจ่ายค่าโง่

กลุ่มชาวบ้าน จึงคิดแผนรองรับว่า ถ้ามีการเปิดเหมืองอีกครั้ง ก็จะเดินหน้ายื่นหลักฐานต่างๆ จากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่มีอยู่แล้วหนึ่งในนั้นคือ งานวิจัยของ ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ที่พิสูจน์ยืนยันว่า บ่อทิ้งกากแร่ที่ 1 รั่วจริง

จากนั้นใช้กฎหมายตามปกติ คือพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ปิดเหมืองอัคราอีกครั้ง เนื่องจากพบความผิดเป็นที่ประจักษ์ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน เป็นบริษัทก็จะไม่สามารถไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ เพราะมีหลักฐานชัดเจนและรัฐบาลไทย ได้ใช้กฎหมายตามขั้นตอนปกติในการปิดเหมือง

ในขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการตั้งคณะกรรมการจัดการชาวบ้านที่ต้องการอพยพออกนอกพื้นที่ เนื่องจากไม่เห็นความหวังในการฟื้นฟู ขณะที่สารปนเปื้อนที่เป็นโลหะหนักจากเหลืองยังคงอยู่ทำให้สุขภาพแย่ลง จะมีแนวทางโยกย้ายอพยพอย่างไร

logoline