svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หวานเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือราคา​: "ภาษีความหวาน" ​ รักษาสุขภาพ​ หรือ​ ผลักภาระ​ประชาชน?

04 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การขึ้นภาษีความ อาจจะมีส่วนช่วยให้พฤติกรรมการกินของคนไทยเปลี่ยนไปได้จริงหรือ คงเป็นเพียงบางส่วน แต่สำคัญที่สุดเรารักสุขภาพตัวเองดีที่สุด... ดีกว่าให้รัฐมาขึ้นภาษีด้วย ความหวังดีว่า รักสุขภาพของเรา

1 ตุลาคมที่ผ่านมาเป็นวันดีเดย์ขึ้น "ภาษีความหวาน" ผ่านมาแล้ว 2 วัน ผมซึ่งเป็นคนหนึ่งที่พยายามลดการดื่ม "น้ำอัดลม" ซึ่ง เป็นที่โปรดปรานมาก แต่ก็ดื่มบ้างเป็นบางครั้งเพิ่งจะเห็นว่า ราคาน้ำอัดลมกระป๋องขนาดเล็กที่เดิมมีราคา 10 บาท วันนี้มีราคา 11 บาท เพิ่มขึ้นมา 1 บาท ในร้านสะดวกซื้อ ก็เลยนึกขึ้นได้ว่า รัฐเพิ่งจะเก็บภาษีความหวานเพิ่มไม่นานนี้...

แน่นอนว่าจะขึ้นเพียง 1 บาท 2 บาท หรือเท่าไหร่ก็ตามถือว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกของผู้ซื้อในระดับหนึ่ง 
ความรู้สึกอย่างแรกก็คือ เมื่อก่อนเราเคยจ่ายด้วยเหรียญ 10 ไม่ต้องทอน ไม่ต้องเพิ่มเหรียญบาท หรือถ้าหากว่าเอาแบงค์ 20 จ่าย เหรียญที่ทอนกลับมาก็คือเหรียญ 10 ถ้าเป็นตอนนี้ราคา 11 บาทให้แบงค์ 20 ไปก็ต้องทอนเป็นเหรียญห้า และเหรียญบาทอีก 4 เหรียญ

เหรียญทำให้รู้สึกว่าเงินกระจัดกระจาย และไม่ค่อยถูกใช้ เงินในกระเป๋าเหมือนถูกดึงออกไปมากขึ้น กระทบความรู้สึก จากรายจ่ายเล็กๆน้อยๆบาท สองบาท

มาดู... การคำนวณภาษีปริมาณน้ำตาลให้เทียบต่อเครื่องดื่ม 1 ลิตร เช่น กรณีมีน้ำตาล 18 กรัม ต่อ 100 มล. ถ้าสินค้านั้นมีความจุ 1 ลิตร จะจ่ายภาษี 1 บาท แต่ถ้าครึ่งลิตร จ่าย 50 สตางค์

การเก็บภาษีความหวาน จึงเป็นข้อถกเถียงอย่างมากสำหรับผู้บริโภค อย่างไรก็ตามในมุมมองของรัฐต้องการที่จะขึ้นภาษีความหวาน ไม่ให้ต่ำจนเกินไป จนคนรู้สึกว่าหาซื้อทานง่ายและทานบ่อย แต่จะใช้ภาษีขึ้นมาจำกัดไม่ให้คนกินหวาน เพื่อที่จะเซฟค่ารักษาพยาบาลเกี่ยวกับโรคที่ไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ที่เกิดจากการกิน

ข้อมูลของ Global Agricultural Information Network ปี 2557 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลถึง 28.4 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำไว้แค่วันละ 6 ช้อนชาถึง 4.7 เท่า เป็นสาเหตุสำคัญของโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด

นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ในที่สุดเราต้องเก็บภาษีความหวานเพิ่ม เพื่อให้คนกินหวานน้อยลง แต่สำหรับในมุมผู้บริโภคบางคนที่อาจจะซื้อบ้างเป็นครั้งคราวอย่างผม ก็รู้สึกว่าได้รับผลกระทบ เพราะว่าเราพยายามควบคุมตัวเองอยู่แล้ว ไม่ให้กินหวาน ไม่เห็นจำเป็นต้องใช้วิธีเก็บภาษีของรัฐมาบีบบังคับให้เราจะต้องไม่กินหวานด้วย

และการขึ้นภาษีอาจมีการขึ้นภาษีเพิ่มไปอีกเรื่อยๆ โดยการเพิ่มภาษีความหวานไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรเลย ต่อผู้ประกอบการ หรือนายทุนที่ผลิตเครื่องดื่มหวานเหล่านี้

ธุรกิจเครื่องดื่มพร้อมดื่มในไทย มูลค่าทะลุสองแสนล้านบาท นั่นหมายความว่า การเสียภาษีให้รัฐ นายทุนกลุ่มนี้ไม่ได้ควักกระเป๋าเอง และไม่มีใครรู้ว่าอัตราการคำนวณ ภาษีความหวานข้างต้น จะถูกกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ฉวยโอกาสขึ้นราคาเกินกว่าความเป็นจริงหรือไม่

จะเห็นได้ว่า แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มหวานก็ยังเติบโตขึ้นทุกปี ปีละ 4-5 เปอร์เซ็นต์

ทำให้มีเสียงวิจารณ์ขึ้นมาว่าภาครัฐหาประโยชน์เพื่อเพิ่มรายได้ และไม่คำนึงถึงคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะฝืดเคือง และหลังจากที่ประกาศขึ้นภาษีน้ำตาลไปแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าภาษีโซเดียมหรือเกลือก็กำลังจะขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้อาหารหลาย ๆ ประเภท เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผงปรุงรส หรือซอสปรุงรส อาจต้องปรับขึ้นราคา

การขึ้นภาษีความ อาจจะมีส่วนช่วยให้พฤติกรรมการกินของคนไทยเปลี่ยนไปได้จริงหรือ คงเป็นเพียงบางส่วน แต่สำคัญที่สุด คือการปรับความเคยชินในการรับกินอาหาร หรือเครื่องดื่มรสหวานจัด เค็มจัด หรือมันจัด ให้อยู่ในระดับที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

เรารักสุขภาพตัวเองดีที่สุด... ดีกว่าให้รัฐมาขึ้นภาษีด้วย ความหวังดีว่า รักสุขภาพของเรา

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #VAJIRAVIT #VajiravitDaily #NationTV #Nation

logoline