svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วอนสังคมลดความคาดหวัง​ บทบาทความเป็น​ 'แม่'​ ของผู้หญิง

03 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หญิงหลังคลอดอาจมีอาการภาวะซึมเศร้าอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน เช่นหญิงหลังคลอดบางราย เมื่อคลอดลูกออกมาก็จะไม่อยากเลี้ยงลูก รู้สึกเบื่อหน่าย และเหนื่อย โดยจากอาการนี้เองทำให้มีหญิงบางส่วนที่ตัดสินใจฆ่าลูกตัวเอง แล้วมานั่งเสียใจภายหลัง เพราะตอนนั้นตัดสินใจไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

อาจดูเป็นเรื่องยากสักหน่อย หากจะบอกให้ทำความเข้าใจและเห็นใจกับแม่ที่ทำร้ายลูกในขณะที่ยังเป็นทารก 'แม่ใจยักษ์' เป็นคำพาดหัวของหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ใช้เรียกแม่ที่ฆ่าลูกตัวเอง และสำหรับกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับน้องไอแอล แม้ว่าแม่จะสารภาพว่าเผลอให้ป้อนนมลูกจนสำลัก แต่ก็ดูเหมือนว่าจะมีอะไรมากไปกว่านั้นโดยเฉพาะภาวะเครียด และซึมเศร้า

สำหรับทารกในวัย 18 วัน จริงๆควรจะอยู่ในช่วงที่แม่ให้นมจากเต้า แต่สำหรับน้องไอแอล คุณแม่เลือกที่จะป้อนนมผงแล้วป้อนให้ ซึ่งแม่ที่ดีคือแม่ที่ให้นมลูกจสกเต้า ทั้งหมดปฏิเสธไม่ได้ว่า นส.ออย ในวัย 22 ปีที่เป็นแม่ของน้องไอแอล กำลังถูกสังคมส่วนหนึ่งพิพากษาว่าเธอ เป็นแม่ที่ไม่สมบูรณ์แบบ

นส.ออยเป็นหนึ่งใน ผู้หญิงอีกหลายคนที่ต้องแบกรับความเป็นแม่ที่อาจทำไม่สมบูรณ์แบบ แต่คำถามก็คือในบทบาทของความเป็นแม่ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องแบกรับภาระหนักอยู่เพียงผู้เดียว

เพื่อหาคำอธิบายในเรื่องนี้ ทีมข่าวของเรา จึงตั้งคำถาม ถึงข้อท้าทาย ของขนบวัฒนธรรมและความคิดของสังคมส่วนใหญ่เกี่ยวกับความเป็น 'แม่' และลองไปพูดคุยสัมภาษณ์ กับบุคคลที่รณรงค์เรื่องความเสมอภาคทางเพศว่ามีความคิดเห็นอย่างไร

'จะเด็จ เชาวน์วิไล' ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บอกว่า สังคมต้องเข้าใจและไม่ผูกความคาดหวังให้ผู้หญิงที่เป็นแม่ต้องแบกรับภาระที่หนักเกินไป ปัจจุบันสังคมไทย 'ชายเป็นใหญ่' ทำให้ผู้หญิงไม่มีทางเลือก จากแนวคิดดังกล่าวทำให้แม่น้องไอแอลได้รับผลกระทบคือ 1) ต้องแบกรับความเครียดเพียงคนเดียว 2) ต้องติดคุก และ 3) ถูกสังคมประนาม ถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้หญิงคนหนึ่ง

อย่างไรก็ตามต้องถือว่ากรณีนี้เป็นกรณีพิเศษ ต่างจากเคสที่มูลนิธิที่เคยเจอมา เนื่องจากพ่อแม่ไม่ได้หย่าร้างกันเพียงแต่สามีไปทำงานที่กรุงเทพฯ ปล่อยให้ผู้หญิงคลอดลูกที่บ้านเกิด และเลี้ยงดูลูกกับผู้สูงอายุที่บ้าน

'จะเด็จ' บอกว่า สังคมมักคาดหวังว่าคนเป็นแม่ต้องดูแลรับผิดชอบลูก เพราะแม่ผู้หญิงต้องทำงานบ้าน เลี้ยงลูก ส่วนเพศชายไปทำงานนอกบ้าน หาเงิน มีความเป็นผู้นำ และคนเป็นแม่จะต้องเลี้ยงดูลูกได้ดี แต่ในความเป็นจริงครอบครัวไทยไม่ใช่ครอบครัวที่สมบูรณ์ มีผู้หญิงตั้งท้องจำนวนมากต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดียว โดยจากแนวคิดหลักของสังคมที่คาดหวังกับความเป็นแม่ ทำให้มีแนวโน้มว่า 'แม่ลูกอ่อน' หรือ 'หญิงหลังคลอด' จะทำร้ายลูกตัวเองเพิ่มมากขึ้น มีปรากฏให้เห็นตามข่าวในสื่อต่างๆ

สังคมควรจึงควรเข้าใจบทบาทของความเป็นแม่เสียใหม่ และไม่ควรยัดยัดเยียดภาระให้ผู้หญิงฝ่ายเดียว ผู้ชายและคนในครอบครัวควรมีส่วนร่วมในการดูแลชีวิตใหม่ที่เกิดมา

อีกส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหานี้คือ รัฐสวัสดิการ เช่นการให้สิทธิ์ลาคลอดที่เพิ่มมากขึ้น และผู้ชายควรมีสิทธิ์ลาช่วยภรรยาเลี้ยงลูก ปัจจุบันสิทธิลานี้มีเฉพาะหน่วยงานราชการ

ด้าน 'นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต' อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีแม่ฆ่าลูกในภาพรวมว่า หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงจะมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วทั้งโลกจะเกิดขึ้น 15% ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด ส่วนประเทศไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ข้อมูลล่าสุดเมื่อปีที่แล้วมีหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดประมาณ 19% สาเหตุมาจาก ภาวะร่างกายตึงเครียดซึ่งการตั้งครรภ์นับว่า สร้างความเครียดและความเจ็บปวดให้กับร่างกายรองจากการถูกไฟคลอก และระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ถูกดึงลงไปอยู่กับทารก ทำให้เกิดสภาวะปั่นป่วน เกิดเป็นอาการซึมเศร้า

หญิงหลังคลอดอาจมีอาการภาวะซึมเศร้าอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน เช่นหญิงหลังคลอดบางราย เมื่อคลอดลูกออกมาก็จะไม่อยากเลี้ยงลูก รู้สึกเบื่อหน่าย และเหนื่อย โดยจากอาการนี้เองทำให้มีหญิงบางส่วนที่ตัดสินใจฆ่าลูกตัวเอง แล้วมานั่งเสียใจภายหลัง เพราะตอนนั้นตัดสินใจไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

อย่างไรก็ตามหญิงหลังคลอด หรือแม่ลูกอ่อน ครอบครัวควรช่วยเลี้ยงดูทารกอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของแม่คนเดียว เพราะจะเกิดความเครียด จากที่เครียดอยู่แล้วหลังคลอด และก่อนการตั้งครรภ์ควรมีการวางแผนครอบครัวอย่างเข้มงวด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยง และระดับความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

สำหรับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะมีแบบคัดกรอง ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดซึ่งจะติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งสำคัญที่สุด หากตรวจพบอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้เร็วก็จะช่วยกันดูแลและรักษาป้องกันความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที

จะเห็นได้ว่า ปัญหาความไม่พร้อม นำมาสู่ปัญหาสุขภาพและนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ไม่มีใครปรารถนา สังคมปัจจุบัน คาดหวังกับความเป็นแม่ ที่ต้องแบกรับภาระและต้องทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์มากจนเกินไป จนกลายเป็นความกดดัน ที่ทำให้เกิดปัญหาตามมา มากกว่าที่จะกลายเป็นคำชื่นชม

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #NationTV #Nation

logoline