svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ช่องทางทำกิน! วิสาหกิจ​ชุมชนปลูกกัญชาส่งโรงพยาบาล​ ยังต้องการอีกมาก

16 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เม็ดเงินหมุนเวียนในวิสาหกิจชุมชนก็ยังบอกไม่ได้ เมื่อยังไม่สามารถที่จะขายอย่างจริงจัง ซึ่งคงต้องจับตาดูว่าหากมีการผลักดันกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ผ่านกลไกของวิสาหกิจชุมชน การรวมกลุ่มของเกษตรกร จะได้รับผลตอบแทนมากน้อยเพียงใด

ใครที่มองหาโอกาสไว้ว่าจะปลูกกัญชา ส่งขาย หรือ ส่งออก ก็คงจะต้องอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาไปก่อน เพราะกฎหมายยังไม่เอื้อขนาดนั้น และกัญชายังนับเป็นพืชยาเสพติด คนที่จะลงมือปลูกได้จะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อทางการแพทย์เท่านั้น และไม่ใช่ว่าเอกชนจะปลูกได้ ทันที เพราะว่าต้องทำในนามของวิสาหกิจชุมชน เพื่อป้องกันนายทุนผูกขาด

คงยังอีกไกลกว่าที่จะไปถึงจุดที่ 'กัญชา' กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ เพราะดูจากความคืบหน้านโยบายปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น ของพรรคภูมิใจไทยถึงแม้จะมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันพืชยาเสพติด เข้าสภาไปแล้วเพื่อปลดล็อคในเรื่องนี้ แต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังคงมีความเป็นห่วง โดยเห็นว่าสังคมไทยยังไม่มีความรู้ในเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์มากพอ และย้ำว่านโยบายเสรีกัญชาเป็นไปเพื่อทางการแพทย์เท่านั้นไม่มีการใช้เพื่อ 'สันทนาการ'

อาจจะนับว่าที่นี่เป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่ มีการปลูกกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมายในลักษณะของ 'วิสาหกิจชุมชน' ที่ส่งผลผลิตให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่

'วิสาหกิจชุมชนเพลาเพลิน' ร่วมมือกับชาวบ้านในพื้นที่ เริ่มต้นทำการปลูกกัญชาในระบบปิด ซึ่งจริงๆแล้วการรวมกลุ่มกันก็ไม่ได้มีเพียงชาวบ้านเท่านั้น แต่มีผู้ประกอบการในพื้นที่ ช่วยลงทุนและเป็นหัวหอกสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้

'รีสอร์ทเพลาเพลิน' ลงทุนต่อเติมห้อง กว่า 7 แสนบาทเพื่อใช้เป็นฟาร์มปลูกกัญชาระบบปิดที่ได้มาตรฐาน เพื่อส่งให้กับโรงพยาบาลคูเมือง อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้มาตรฐาน GPA ในการผลิตยาจากสมุนไพรทั้งในรูปแบบแผนปัจจุบัน และแผนไทย

ในช่วงของการเริ่มต้น'วิสาหกิจชุมชนเพลาเพลิน' ปลูกกัญชาใน 4 สายพันธุ์ทั้งสายพันธุ์ไทยและต่างประเทศ โดยปลูกทั้งหมดเกือบ 300 ต้น คาดว่าจะให้ผลผลิตได้ภายในสิ้นปีนี้ จำนวน 16 กิโลกรัมใบกัญชาแห้ง

เมื่อสอบถามถึงความต้องการใช้กัญชาในการผลิตยาของ 'โรงพยาบาลคูเมือง' จำนวนกัญชาที่ผลิตได้ในรอบการผลิตแรก 16 กิโลกรัมนี้อาจเพียงพอสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรงพยาบาลคูเมืองเองเท่านั้น ประเมินว่าเป็นน้ำมันกัญชา 1000 ขวด 500 CC แต่ผอ.โรงพยาบาลคูเมือง ได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตยากัญชาส่งให้กับโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์ ซึ่งประกอบไปด้วยนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งมีกว่า 20 โรงพยาบาล มีความต้องการ 1 หมื่นขวดก็จำเป็นต้องใช้ กัญชาแห้ง เป็นจำนวน 1 ตัน ซึ่งยังนับว่ากำลังการผลิตของวิสาหกิจชุมชนเพลาเพลิน น้อยนิดมากเมื่อเทียบกับเป้าหมายของโรงพยาบาลคูเมือง

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีวิสาหกิจชุมชนเช่นเดียวกันนี้อีกหลายๆแห่ง เพื่อที่จะปลูกกัญชาส่งให้กับโรงพยาบาลผลิตยาต่อไป

นายอนุทิน จึงยกตัวอย่างของ 'วิสาหกิจชุมชนเพลาเพลิน' เป็น 'บุรีรัมย์โมเดล' ในการขยายพื้นที่การปลูกกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไปยังพื้นที่อื่นๆในรูปแบบเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ทรงคุณวุฒิในวิสาหกิจชุมชนเพลาเพลินบอกว่าในระยะเวลา 1 ปีจะลงทุนปลูกให้โรงพยาบาลคูเมืองฟรีๆ ตราบใดที่ยังไม่มีราคากลางออกมาว่า'กัญชา' อยู่ในราคาเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้ทางโรงพยาบาลอภัยภูเบศรกำลังจัดทำฐานข้อมูลราคากลางเกี่ยวกับใบกัญชาแห้ง แต่ถ้าสอบถามจากตลาดใต้ดิน ทราบมาว่าอยู่ที่ 2,500 บาทต่อขีดใบกัญชาแห้ฃ ซึ่งนับว่าสูงมากและต้องยอมรับว่าราคาพุ่งไปมากกว่าแต่ก่อนด้วย

ราคากัญชาใต้ดิน ที่พุ่งสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ความต้องการใช้กัญชามีมาก แต่กัญชาก็ยังปลูกได้น้อย ก็เลยทำให้ราคาแพง เป็นไปตามกลไกตลาด

ขณะที่เม็ดเงินหมุนเวียนในวิสาหกิจชุมชนก็ยังบอกไม่ได้ เมื่อยังไม่สามารถที่จะขายอย่างจริงจัง ซึ่งคงต้องจับตาดูว่าหากมีการผลักดันกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ผ่านกลไกของวิสาหกิจชุมชน การรวมกลุ่มของเกษตรกร จะได้รับผลตอบแทนมากน้อยเพียงใด แต่ที่แน่ๆการขออนุญาตคงมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่ง่ายเลยทีเดียว

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV

logoline