svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

Nation Documentary | เขื่อน แม่น้ำโขง

30 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คนสร้างเขื่อน ไม่มีทางเลือกที่จะบอกว่าเขื่อนไม่ได้สร้างผลกระทบ และการสร้างเขื่อนออกแบบตามหลักวิศวกรรมด้วยวิธีพิเศษที่จะทำให้คล้ายคลึงธรรมชาติ หรือส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด เช่นเดียวกับชาวบ้าน ที่ไม่มีทางเลือกปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดกับชีวิตของพวกเขา เช่นเดียวกัน




เรือของชาวบ้านหลายลำใน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ที่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขง เคยเป็นเรือประมงที่ใช้ออกหาปลา วันนี้ต้องเปลี่ยนมาเป็นเรือนำเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเชียงคาน

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน ชีวิตค่อยๆ คืบคลานเข้ามา มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลัน แต่ค่อยๆเปลี่ยนไปหมด เพราะปลาที่เคยจับได้มากๆ เคยเป็นรายได้หลักให้กับครอบครัว ตอนนี้กลายเป็นเพียงอาชีพเสริม

ชาวประมงหลายคนเปลี่ยนอาชีพไปเป็นรับจ้างก่อสร้าง ทำไร่ทำนา หรือออกไปขายล็อตเตอรี่บ้างก็มี

และที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง คือรายได้จากการท่องเที่ยว มันน่าจะเป็นเรื่องดีที่ชุมชนมีรายได้เพิ่มจากคนแปลกหน้าเข้ามาในชุมชน และจับจ่ายใช้สอย

แต่มันก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาปรับตัว และไม่มีทางเลือกมากนัก ถ้าอาชีพประมงไม่รุ่งโรจน์เหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว

แม่น้ำโขงปีนี้วิกฤตมากกว่าทุกปี คนเก่าแก่อายุ 60 ปีขึ้นไปที่ได้คุยด้วย ไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้มาก่อนไม่มีใครคิดว่า หาดทรายแม่น้ำโขงจะโผล่ขึ้นในฤดูน้ำหลาก

ชายวัย 64 ปีคนนี้เป็นชาวประมงไทบ้าน ที่เกิดและเติบโตในอำเภอเชียงคานริมแม่น้ำโขงมาตลอดชีวิต "ทองอินทร์ เรือนคำ" บอกว่าปกติแล้วในช่วงฤดูน้ำหลาก แม่น้ำโขงจะมีระดับเกือบถึงตลิ่งบนสุด แต่ว่าปีนี้น้ำโขงลดลงอย่างมาก

น้ำที่ลดลงทำให้ชาวประมงจับปลาได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านๆมา ซึ่งฤดูน้ำหลากจะเป็นช่วงที่จะจับปลาได้น้อย

อาจเป็นเรื่องดีที่ชาวประมงจับปลาได้มากในช่วงน้ำหลากปีนี้ แต่ในระยะยาวเมื่อฤดูแล้งจมาถึง ไม่มีใครรู้ว่าน้ำจะขึ้นมาอีกหรือไม่ มากไปกว่าการจับปลามากหรือน้อย คือความปั่นป่วนของระดับน้ำในแม่โขง ที่ทำให้ปลาหลงฤดูและไม่วางไข่
มีหลากหลายคำอธิบายที่ได้รับมา ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติจากผลกระทบจากโลกร้อน เอลนินโญ่ ภัยแล้งที่ทำให้ฝนตกน้อย และที่มาพร้อมกับภัยธรรมชาติก็คือสิ่งแปลกปลอมที่ขวางกั้นลำน้ำที่นับวันจะมีมากขึ้นมากขึ้นในแม่น้ำโขง

และนั่นทำให้ชาวประมงเชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการสร้าง 'เขื่อน'เขื่อนที่ ได้เปลี่ยนชะตาชีวิตของคนริมฝั่งโขงอีกหลายล้านคนไปตลอดกาล
เรื่องอื่นๆอาจเป็นเรื่องที่มนุษย์สามารถจัดการได้ แต่ภัยธรรมชาติเป็นเรื่องที่เหนือความสามารถของมนุษย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักกับสถานการณ์แม่น้ำโขงที่แห้งผิดฤดู นอกจากการวิเคราะห์สาเหตุว่าเกิดจากอะไร
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้แม่น้ำโขงไม่เหมือนเดิมนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยไม่ปฏิเสธว่า เป็นฝีมือมนุษย์ ถึงอย่างนั้นเขาก็หลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่าเขื่อนหรือการสร้างเขื่อน มากไปกว่าภัยพิบัติการแก้ปัญหาแม่น้ำโขงอาจต้องใช้วิธีทางการทูต
เป็นเวลา 26 ปีแล้วที่แม่น้ำโขงไม่เหมือนเดิม นับตั้งแต่จีนสร้างเขื่อนแห่งแรกในแม่น้ำโขงตอนบนเมื่อปี 2536 หลังจากนั้นก็มีอีกหลายเขื่อนที่ถูกสร้างตามมา จนถึงวันนี้ แม่โขงมีเขื่อนกั้นทั้งหมดแล้ว 12 แห่ง และมีแผนจะสร้างเพิ่มอีก 10 แห่ง

ลุ่มน้ำโขงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายสูง โดยเฉพาะพันธุ์ปลาที่มีมากกว่าร้อยชนิด ส่วนใหญ่เป็นปลาที่อพยพวางไข่ การสร้างเขื่อนจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อเส้นทางอพยพของปลาในแม่น้ำโขง

ที่อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย แม่โขงที่ไหลผ่านพรมแดนไทย ลาวบริเวณนี้ ชาวบ้านเรียกว่าวังปลาบึก วันนี้เหลือเพียงแต่ชื่อ เพราะ 10 ปีให้หลังมานี้ไม่มีใครเคยเห็นปากบึกอีกเลย

ปลาบึกเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ไร้เกล็ด ตัวใหญ่สุดมีน้ำหนัก 280 กิโลกรัม ยาวสุดที่เคยจับได้คือ 3 เมตร ปลาบึกมักอพยพขึ้นไปวางไข่ไกลถึงแม่น้ำโขงตอนบน ในเขตประเทศจีน เมื่อมีเขื่อนกั้น ปลาน้ำจืดที่ได้ชื่อว่าเป็นราชาแม่น้ำโขง ก็ไม่สามารถอพยพไปมาได้อย่างอิสระ

ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักวิชาการที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงมาหลายปี บอกว่าที่หายไปพร้อมกับปลาบึก ก็คือวิถีชีวิตของคนริมฝั่งโขง

สำรวจเขื่อนไซยะบุรี

ผืนทรายใต้ท้องน้ำปรากฎในเห็น บริเวณท้าย 'เขื่อนไซยะบุรี' ในเขต สปป.ลาว ช่วงเดือนกรกฎาคม แต่ภาพท้ายเขื่อนที่เห็น สวนทางกับระดับน้ำเหนือเขื่อนที่สูงกว่า 30 เมตร

เรามาที่นี่เพราะได้รับคำเชิญสื่อมวลชนจาก บริษัทลูกในเครือ ช.การช่าง หลังมีการเผยแพร่ภาพท้ายเขื่อนไซยะบุรีที่แห้งขอด และตกเป็นจำเลยว่าเป็นตัวการที่ทำให้แม่น้ำโขงแห้งเหือด

สำหรับเขื่อนไซยะบุรี มีเป้าหมายจ่ายไฟ เข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 1,285 เมกกะวัตต์ ภายในเดือนตุลาคม นี้

หลังสร้างแนวสันเขื่อนเสร็จ เขื่อนได้เริ่มทยอยยกระดับน้ำ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่ช่วงน้ำหลาก เมื่อปีที่แล้ว จนกระทั้งระดับน้ำสูงถึงที่ 275 เมตร จากระดับน้ำทะเลเมื่อเดือนตุลาคม 25641 น้ำที่ไหลผ่านเขื่อนหลังจากนี้ จะถูกปล่อยผ่านเทอบายทั้งหมดเพื่อปั่นไฟ หรือที่เรียกว่า Run of River
เขื่อนไซยะบุรี เริ่มทดลองเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงวันนี้ เขื่อนสามารถผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้ว 500 เมกะวัตต์
รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ ปริมาณน้ำที่ไหลมาถึงหน้าเขื่อนแบ่งเป็นน้ำจากเขื่อนจิ่งหงประเทศจีน 60% และเป็นน้ำจากตามธรรมชาติ 40% โดยเฉลี่ยแล้วปริมาณน้ำที่ไหลผ่านหน้าเขื่อนจะอยู่ที่ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่วันนี้วัดได้เพียง 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในขณะที่น้ำในแม่น้ำโขงทั้งหมด ที่ไหลลงสู่ปากแม่น้ำบริเวณประเทศเวียดนามจะอยู่ที่ 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
นั่นหมายความว่า ปริมาณน้ำในแม่โขงส่วนใหญ่มาจาก แม่น้ำสายย่อยที่อยู่บริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่ามาจากจีน
กว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่เขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จ ต้องผ่านการประท้วงคัดค้านจากคนลุ่มน้ำโขง ทั้งฝั่งไทย กัมพูชา และเวียดนาม

แต่เขื่อนแห่งนี้ก็ขึ้นจากการสนับสนุนเงินทุนของสถาบันการเงิน 6 แห่ง ของไทย

บริษัทที่ก่อสร้างเขื่อน ก็เป็นบริษัทของคนไทย ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อน ก็ถูกส่งมาขายไทย ไม่แปลกที่เขื่อนไซยะบุรี จะได้ชื่อว่า "เขื่อนลาวสัญชาติไทย" และที่นี่นับเป็นเขื่อนแห่งแรก กั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง

ไม่ว่าจะเรียก Run of River หรือว่าเรียกอะไร เขื่อนก็ต้องกักน้ำไว้ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักวิชาการแนวหน้าที่ค้านเขื่อน มาตั้งแต่สมัยเขื่อนปากมูล มีความเห็นที่แตกต่าง กับคำให้สัมภาษณ์ของผู้บริหาร ช.การช่าง ที่บอกว่าเขื่อนไม่เก็บน้ำ

แต่คำถามที่นอกจากเขื่อนเก็บน้ำหรือไม่เก็บน้ำ เขื่อนก็ขวางทางอพยพของปลาในแม่โขง ใช่หรือไม่ วิศกรของเขื่อนไซยะบุรี พาเราดูทางปลาผ่าน และลิฟท์ปลาแห่งแรกในเอเชีย นับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่อำนวยความสะดวกให้ปลาว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ ที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ระบบทางปลาผ่านสำหรับการอพยพทวนน้ำ ประกอบด้วยทางเข้าปลา ทางผ่านปลา ช่องยกระดับ หรือลิฟท์ปลา บนสันเขื่อนมีคลองระดับบน

โดยเขื่อนจะปล่อยน้ำ เพื่อล่อปลา ให้ว่ายทวนน้ำเข้าใน 4 ช่องทาง ซึ่งทุกช่องทางจะไปเชื่อมต่อกับทางปลาผ่าน และคลองระดับบน ส่วนปลายทางปลาผ่าน จะเชื่อมโยงกับลิฟท์ปลา เพื่อต้อนปลา และยกขึ้นสู่คลองระดับบน ทำให้ปลาอพยพได้อย่างสะดวก

ส่วนปลาที่อพยพตามน้ำจะใช้ช่องทางผ่าน สปิลเวย์รวมทั้งเทอร์ไบน์ปั่นไฟ ที่มีอัตราการหมุนช้าทำให้ปลาสามารถผ่านไปได้ อย่างปลอดภัย

คนสร้างเขื่อน ไม่มีทางเลือกที่จะบอกว่าเขื่อนไม่ได้สร้างผลกระทบ และการสร้างเขื่อนออกแบบตามหลักวิศวกรรมด้วยวิธีพิเศษที่จะทำให้คล้ายคลึงธรรมชาติ หรือส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด
ไม่มีทางเลือกที่จะปฏิเสธว่าเขื่อนไม่ได้กักน้ำ

ไม่มีทางเลือกที่จะบอกว่าเขื่อนนี้ทำทางผ่านปลาให้สามารถอพยพข้ามฝั่งไปวางไข่เหนือเขื่อนได้

เช่นเดียวกับชาวบ้าน ที่ไม่มีทางเลือกที่จะปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดกับพวกเขา เช่นเดียวกัน

มนุษย์ยังปรับตัวเพื่อที่จะอยู่ กับความเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราไม่รู้ว่าธรรมชาติจะปรับตัวไปพร้อมกับเราได้หรือไม่

เหล่านี้ก็เป็นเพียงเรื่องเล่าเพียงชั่วข้ามคืน วันพรุ่งนี้ เขื่อนก็ยังต้องสร้างต่อไปอยู่ดี ชาวบ้านก็จะต้องบอกเล่าถึงผลกระทบต่อไปอีกครั้งแล้วครั้งเล่า และวิถีชีวิตที่เคยเป็นมาในอดีต ก็จะเหลือเพียงความทรงจำ

logoline