svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

จีไอทีปั้นผู้ประกอบการเครื่องประดับเงิน-ทองท้องถิ่น

19 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถาบันอัญมณีฯ เตรียมลงพื้นที่สุโขทัย พัฒนาผู้ประกอบการเครื่องประดับเงิน-ทองท้องถิ่น ผลิตสินค้าร่วมสมัย ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน พร้อมเดินหน้าสร้าง Thai Heritage ทำมาตรฐานทองไทยโบราณ หวังให้มีมาตรฐานเดียวกัน ส่วนการลงพื้นที่กาญจนบุรี ดัน "นิล เมืองกาญจน์" ทำเครื่องประดับ พร้อมช่วยผลักดันทำตลาดออนไลน์

นางดวงกมล เจียมบุตรผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือจีไอที เปิดเผยว่าจีไอทีมีกำหนดลงพื้นที่ในจังหวัดสุโขทัยในช่วงปลายเดือนส.ค.2562ร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ การพัฒนาเทคนิคการผลิต เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในจังหวัดสุโขทัยโดยเน้นเครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับทอง ให้มีการพัฒนา มีลักษณะร่วมสมัยและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันและผลักดันสินค้าท้องถิ่นออกสู่ตลาดต่างประเทศ


ทั้งนี้ นอกจากการเข้าไปช่วยพัฒนารูปแบบสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาดแล้วจีไอทียังมีโครงการที่จะสร้าง "มาตรฐานเครื่องประดับทองไทยโบราณ" หรือ "Thai Heritage" เพื่อสร้างแนวทางในการอนุรักษ์ศิลปะและงานฝีมือโบราณของทองสุโขทัยโดยการจัดประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการ ร้านทอง ครูช่าง เพื่อร่วมหาแนวทางในการรวมรูปแบบของทองโบราณหลักเกณฑ์การจำแนกลวดลายทองโบราณและทองร่วมสมัย เกณฑ์ความบริสุทธิ์ของทองโบราณเพื่อสร้างมาตรฐานของเครื่องประดับทองไทย ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย


ขณะเดียวกัน จีไอทีจะเข้าไปแนะนำให้ผู้ผลิตผู้ประกอบการท้องถิ่น มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการรับรองคุณภาพเครื่องประดับโลหะมีค่าตามมาตรฐานHallmark การเผยแพร่โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ(Buy With Confidence : BWC) และการตรวจสอบโลหะมีค่าเนื่องจากการผลิตเครื่องประดับในสุโขทัยนิยมใช้เงิน และทองคำเป็นตัวเรือนหลักเพื่อสร้างมาตรฐานและคุณภาพให้เทียบเท่าระดับสากล



นางดวงกมล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้จีไอทีได้ลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดกาญจนบุรีเพื่อเข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในจังหวัด โดยนำร่องนำ "นิล" ซึ่งเป็นอัญมณีที่มีมากในกาญจนบุรีมาออกแบบโดยหยิบยกอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาเป็นแรงบันดาลใจเพื่อสร้างเครื่องประดับร่วมสมัยและเป็นที่นิยมในท้องตลาดและช่วยในด้านการทำตลาดในยุค 4.0 ผ่านการทำตลาดออนไลน์เพื่อให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าสินค้าได้มากขึ้น

"เบื้องต้น ได้คัดเลือกผู้ประกอบการในจังหวัดจันทบุรีเข้าร่วมโครงการจำนวน2 ราย คือ อนันตพลพลอยกาญจน์ และปิตุกาญจน์จิวเวลรี่ โดยมอบหมายให้ น.ส.ฝนทิพย์เตทรัพยสุวรรณ นักออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ เจ้าของแบรนด์ Fonthip ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการออกแบบที่โดดเด่นในสไตล์ผสมผสานความเป็นไทยและ สากล เข้าไปช่วยพัฒนาและต่อยอดรูปแบบเครื่องประดับโดยนำอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมจังหวัดไปผสมผสานกับจุดเด่นของร้านให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์เพื่อนำผลงานการออกแบบเครื่องประดับที่สร้างสรรค์ขึ้นไปผลิตเป็นคอลเลกชันและนำไปเปิดตัวออกสู่ตลาดต่อไป"




สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอย่างยั่นยืนในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 จีไอทีได้วางแผนลงพื้นที่ใน 10 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ตาก พังงา สตูล ตราด กาญจนบุรี นครราชสีมา และแพร่โดยจะเน้นการอบรมหลักสูตรด้านอัญมณีศาสตร์ ทักษะเชิงช่าง การออกแบบเครื่องประดับรวมถึงความรู้ด้านธุรกิจและการตลาดในยุคดิจิตัลเพื่อต่อยอดสร้างสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

logoline