svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมฝนหลวงฯ เล็งใช้เทคนิค "ซุปเปอร์แซนวิช" ดับแล้ง!!

14 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ระบุ สถานการณ์ภัยแล้งยังคงขยายวงกว้างอยู่ในหลายพื้นที่ ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ เล็งใช้เทคนิค "ซุปเปอร์แซนวิช" เพิ่มฝน

14 พ.ค. 62 - นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้แม้ความรุนแรงของพายุลูกเห็บเริ่มลดน้อยลงแล้วเนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อเข้าสู่ฤดูฝน แต่สถานการณ์ภัยแล้งยังคงขยายวงกว้างอยู่ในหลายพื้นที่ ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ เพิ่มขึ้นเป็น 18 แห่ง และเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดกลางเพิ่มขึ้นเป็น 193 แห่ง ดังนั้น กรมฝนหลวงฯ โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก จึงวางแผนเตรียมพิจารณาใช้เทคนิค "ซุปเปอร์แซนวิช" (Super Sandwich) ปฏิบัติการโจมตีเมฆในพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อหวังผลให้มีฝนตกในบริเวณพื้นที่เป้าหมายได้ในปริมาณมากขึ้น ทั้งนี้ เทคนิคซุปเปอร์แซนวิชเป็นอีกหนึ่งเทคนิคในการโจมตีเมฆตามตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งจะปฏิบัติการเมื่อมียอดเมฆอยู่ที่ระดับ 20,000 ฟุตขึ้นไป โดยใช้เครื่องบิน Super King Air โจมตีในส่วนที่เป็นเมฆเย็นด้วยพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์เข้าสู่ยอดเมฆร่วมกับการโจมตีแบบเมฆอุ่น 

กรมฝนหลวงฯ เล็งใช้เทคนิค "ซุปเปอร์แซนวิช" ดับแล้ง!!

ทั้งนี้ จากผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (13 พ.ค. 2562) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 9 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี กาญจนบุรี อุดรธานี นครราชสีมา หัวหิน สุราษฎร์ธานี และสงขลา ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ ยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร พื้นที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของ จ.พะเยา น่าน เชียงราย นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร บริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำปาว เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำซับตะเคียน รวมถึงบริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส

กรมฝนหลวงฯ เล็งใช้เทคนิค "ซุปเปอร์แซนวิช" ดับแล้ง!!


สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 ผลตรวจคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเวลา 09.00 น. พบว่าบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก  มีเพียงบริเวณถนนพระราม 2 และ ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง โดยผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 90% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 72% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.7 หน่วยปฏิบัติการจังหวัดจันทบุรี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวันหากมีสภาพอากาศเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทันที

กรมฝนหลวงฯ เล็งใช้เทคนิค "ซุปเปอร์แซนวิช" ดับแล้ง!!

ด้านพื้นที่ภาคกลาง ผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 83% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 83% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 0.3 เนื่องจากสภาพอากาศยังมีลักษณะปิด หน่วยฯ จ.ลพบุรี และ หน่วยฯ จ.กาญจนบุรี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีสภาพอากาศเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทันที


พื้นที่ภาคเหนือ คุณภาพอากาศในหลายจังหวัดเริ่มสดในขึ้นมาก มีเพียง อ.แม่สาย จ.เชียงราย และ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สำหรับผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 84% (ร้องกวาง) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 74% (ร้องกวาง) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.4 (ร้องกวาง) ด้านสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ในวันนี้ไม่สามารถตรวจวัดสภาพอากาศได้เนื่องจากมีฝนตกบริเวณสถานีฯ ดังนั้น หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ และหน่วยฯ จ.พิษณุโลก จึงขอติดตามสภาพอากาศในช่วงเช้าก่อน เนื่องจากสภาพอากาศยังมีลักษณะปิด หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ และเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% โดยใช้เทคนิคซุปเปอร์แซนวิชปฏิบัติการโจมตีเมฆในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อหวังผลให้มีฝนตกในปริมาณมากขึ้น


กรมฝนหลวงฯ เล็งใช้เทคนิค "ซุปเปอร์แซนวิช" ดับแล้ง!!



พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก และจากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 94% (บ้านผือ) 78% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 79% (บ้านผือ) 82% (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.1 (บ้านผือ) 0.0 (พิมาย) หน่วยฯ นครราชสีมา จึงตัดสินใจปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 บริเวณทิศใต้ อ.วังน้ำเขียว - ทิศตะวันตกเฉียงใต้ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 2 บริเวณทิศเหนือ อ.วังน้ำเขียว - ทิศตะวันออก อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และภารกิจที่ 3 ขั้นตอนที่ 2 บริเวณ ทิศเหนือ อ.ปักธงชัย - ทิศตะวันออก อ.หนองบุนมาก จ.นครราชสีมา โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา พื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค อ.ห้วยแถลง อ.เมืองนครราชสีมา อ.ขามสะแกแสง จ.นครราชสีมา และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำมูลบน เขื่อนลำแชะ ด้านหน่วยฯ จ.อุดรธานี ปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 บริเวณลุ่มรับน้ำเขื่อนลำปาว ภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 1 บริเวณลุ่มรับน้ำเขื่อนห้วยหลวง และเขื่อนอุบลรัตน์ และภารกิจที่ 3 ขั้นตอนที่ 2 บริเวณลุ่มรับน้ำเขื่อนห้วยหลวง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ภัยแล้งและเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30%


และพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จังหวัดชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 79% (พนม) 82% (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 55% (พนม) 85% (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.3 (พนม) -1.1 (ปะทิว) 

เนื่องจากในช่วงเช้าสภาพอากาศมีลักษณะปิด จึงไม่สามารถขึ้นทำฝนได้ ดังนั้นหน่วยฯ หัวหิน หน่วยฯ จ.สงขลา และหน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่ป่าพรุ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่ได้รับผลกระทบต่อไป  

logoline