svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รับ "หมีควาย" แก่งหางแมว พลัดหลง ส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

08 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทีมสัตวแพทย์ประจำ สสป.สบอ.2 (ศรีราชา) รับ "หมีควาย" แก่งหางแมว พลัดหลง ส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง เพื่อดูแล ตรวจสุขภาพ ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ต่อไป

วานนี้ 7 พ.ค.62 - นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สสป.สบอ.2 (ศรีราชา) รายงานเข้ามาว่า ทีมสัตวแพทย์ประจำ สสป. สบอ.2 (ศรีราชา) พร้อมด้วยหัวหน้าสายตรวจสัตว์ป่าสายที่ 5 สบอ. 2 (ศรีราชา) ปลัดอำเภอแก่งหางแมว ร้อย รส. ทร. ที่ 3 (วัดโคกวัด) และเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขาปอ เข้าตรวจสอบหมีควายป่า พลัดหลงมาในพื้นที่หมู่ที่ 8 ต ขุนซ่อง อ. แก่งหางแมว จ.จันทบุรี จากการตรวจสอบสัตว์ป่าที่พลัดหลง คือ หมีควาย เพศผู้ อายุประมาณ 2 ปี น้ำหนักประมาณ 90 -100 กิโลกรัม พบบาดแผลบริเวณสะโพก กว้างประมาณ 7 นิ้ว มีลักษณะหนังถลอก ขนหลุด จากการสอบถามชาวบ้านพบว่าหมีควายตัวดังกล่าวพลัดหลงเข้าไปในสวนยางและถูกน้ำกรดในสวนยางที่ผิวหนัง


รับ "หมีควาย" แก่งหางแมว พลัดหลง ส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ


คณะเจ้าหน้าที่ได้ลงบันทึกประจำวันกับพนักงานสอบสวน สภ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ไว้เป็นหลักฐาน ทีมสัตวแพทย์ประจำ สสป.สบอ.2 (ศรีราชา) ทำการขนย้ายหมีควายตัวดังกล่าว มาดูแลรักษาต่อ ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จ.ชลบุรี


สำหรับหมีควาย หรือหมีดำ (Asian black bear) จัดเป็นหมีขนาดกลางและเป็นหมีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตัวยาวประมาณ 130-190 เซนติเมตร ตัวผู้หนัก 100-200 กิโลกรัม ตัวเมียหนัก 50-125 กิโลกรัม มีขนหยาบสีดำหรือน้ำตาลทั่วทั้งตัว ยกเว้นบริเวณอก ซึ่งขนสีเหลืองอ่อนเป็นรูปตัววี ขนบริเวณหัวไหล่และคอจะยาวเป็นพิเศษ หูค่อนข้างใหญ่ ฝ่าตีนใหญ่เดินเต็มตีน รอยตีนของหมีจึงดูคล้ายรอยตีนคน มีเล็บยาวและแหลมคม ชอบอาศัยในป่าเขา แต่ก็สามารถพบได้ในเขตที่ราบประเทศต่างๆ เอเชียตะวันออก ตั้งแต่ อัฟกานิสถาน อิหร่าน บังกลาเทศ ภูฏาน จีน รัสเซีย อินเดีย เนปาล ปากีสถาน พม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย มองโกเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี

รับ "หมีควาย" แก่งหางแมว พลัดหลง ส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ส่วนอุปนิสัยนั้น จะเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ปีนต้นไม้เก่ง มีพื้นที่หากินราว 10-20 ตารางกิโลเมตร มักอาศัยอยู่โดดเดี่ยว หรืออยู่เป็นครอบครัวเฉพาะแม่ลูกเท่านั้น ชอบอยู่ตามป่าหนามที่มีหินและถ้ำ โดยปกติหมีควายจะหากินตอนกลางคืนและไม่ชอบเดินทางตามเส้นทางที่คนหรือสัตว์อื่นใช้กัน จึงทำให้หารอยเท้าได้ยาก อาหารของหมีควายได้แก่ พืช ลูกไม้ต่างๆ สัตว์ที่เล็กกว่าอาหารที่หมีควายชอบที่สุด คือ น้ำผึ้ง 

การสืบพันธุ์ หมีควายจะตั้งท้องประมาณ 7 เดือน และตกลูกครั้งละ 2-3 ตัว ฤดูผสมพันธุ์อยู่ราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และออกลูกราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แต่บางสถานที่ฤดูอาจแตกต่างออกไป เช่น ในปากีสถาน ฤดูผสมพันธุ์จะเริ่มในฤดูใบไม้ร่วง ออกลูกคราวละ 1-4 ตัว ลูกหมีจะอยู่กับแม่เป็นเวลา 2-3 ปี เมื่ออายุได้ 3-4 ปีก็ผสมพันธุ์ได้แล้ว หมีควายมีอายุขัยราว 25 ปี ในสวนสัตว์ที่มีการดูแลดีอาจอยู่ได้ถึงกว่า 30 ปี 

จากข้อมูลล่าสุด (ปี 2544) ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สำรวจหมีควายตามภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 197 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 55 แห่งพบหมีควายอาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 78 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 45 แห่ง ทั่วทุกภาคของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ป่า ประมาณ 77,519 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่จำนวนประชากรหมีควายในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่คาดกว่ายังมีถึงหลักพัน

รับ "หมีควาย" แก่งหางแมว พลัดหลง ส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

การรายงานสถานภาพของหมีในประเทศไทย โดย ศุภกิจ วินิพรสวรรค์ ระบุผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากหมีควายในประเทศไทยถือว่าน้อยมาก เท่าที่รายงานปรากฏพบทั้งหมดเกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่โดยรอบของพื้นที่อนุรักษ์ และทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่เป็นไร่ข้าวโพดและสวนผลไม้ รายงานจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบมีเพียง 6 ครั้งเท่านั้น โดยหมีควายลงมากัดกินพืชไร่ในพื้นที่ที่อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง และลงมาทำลายสวนผลไม้บริเวณรอบๆ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ยังถือว่าไม่ได้เป็นปัญหาที่รุนแรงมากนัก

หมีควายในประเทศไทยถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 คือห้ามมิให้มีการล่า การเพาะพันธุ์ การนำเข้า-ส่งออก รวมทั้งซาก ชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆ และยังรวมไปถึงหมีที่มีชีวิตด้วย ส่วนไอยูซีเอ็นประเมินว่า หมีควายอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ไซเตสจัดหมีควายไว้ในบัญชีหมายเลข 1 เป็นชนิดพันธุ์ที่ห้ามทำการค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นในกรณีพิเศษ เช่น การศึกษาวิจัยทางวิชาการและการแพทย์ เป็นต้น

logoline