svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สมชัย" เสนอแนวคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

08 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สมชัย" ถอดทุกวงเล็บ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 คำนวณเฉลี่ย 150 ที่นั่งให้ 14 พรรค เพื่อไทย-ประชาชาติ-58 พรรคเล็กไม่ได้ แนะ กกต.ใช้เวลา 1 เดือนเชิญนักก.ม.-นักคณิตศาสตร์ ร่วมถกสูตรถูกที่สุดไม่ขัด รธน.

8 เม.ย.62 - ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเวลา 14.00 น. "นายสมชัย ศรีสุทธิยากร" สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีต กกต. ได้ออกมาแสดงความเห็นส่วนตัวสาธิตการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อว่าคำนวณอย่างไร ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ โดย "นายสมชัย" ได้กล่าวว่า สิ่งที่ตนกำลังจะนำเสนอ เป็นการทดลองใช้ สิ่งที่เป็นความรู้ทางด้านนิติศาสตร์และความรู้ทางคณิตศาสตร์ มาช่วยประกอบกัน โดยกระบวนการคิดทั้งหมดนั้นก็ยิงกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับคือรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ดูให้กฎหมาย 2 ฉบับนี้เป็นต้นแบบเป็นคัมภีร์เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 91 มี (1)(2)(3)(4)(5)

\"สมชัย\" เสนอแนวคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ


ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ (1)(2)(3)(4)(5)(6)(7)(8) แล้วจะใช้กฎหมายใดเป็นกฎหมายหลักถือว่าสำคัญเพราะถ้าเลือกผิดฉบับการคำนวณก็จะแตกต่างกันด้วย ซึ่งต้องระวังเพราะครั้งแรกจะใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นหลักเพราะรัฐธรรมนูญฯ มีบรรทัดหนึ่งเขียนไว้ว่า การคำนวณให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งคล้ายกับว่าเป็นการมอบอำนาจไปแล้ว แต่ต้องมองต่อไปว่าการทำตามขั้นตอนที่ปรากฏในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีบางส่วนที่จะขัดกับรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่
ดังนั้นวันนี้เราต้องอาศัยรัฐธรรมนูญฯ เป็นหลักในการคำนวณ ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นขั้นตอนที่จะบอกในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่ถ้าเกิดติดขัดในขั้นตอนใดที่เป็นเนื้อความที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เราก็ต้องยึดหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ เป็นหลัก ดังนั้นหัวใจสำคัญอยู่ที่รัฐธรรมนูญฯ ซึ่งกระบวนการคิดคำนวณของตน ใช้วิธีการถอดกฎหมายทีละบรรทัด แต่ต้องย้ำว่าตนไม่ใช่คนตัดสิน แต่ทั้งหมดนี้ กกต. 7 คน จะเป็นคนตัดสิน

\"สมชัย\" เสนอแนวคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ


โดยวิธีการคำนวณของตน เริ่มต้นไล่เรียงจากที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ มาตรา 128 ซึ่งต้องย้ำว่าต้องดูว่าส่วนนั้นไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญฯ โดยกฎหมายก็ระบุขั้นตอนไว้ว่า
1.การเอาจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศ มาหารด้วย 500 (จำนวน ส.ส.ที่ต้องมีในสภา) โดยตัวเลขนี้หลายสำนักจะเริ่มไม่ตรงกัน ซึ่งมักจะท่องกันว่าคือตัวเลข 71,065 แต่ตนคำนวณได้ 71,057.4980 โดยที่ได้ตัวเลขนี้มาเพราะมี 3 พรรค คือ พรรคท้องถิ่นไท , พรรครักธรรม , พรรคอนาคตไทย ไม่ได้ส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย ดังนั้นจึงต้องลบ 3 พรรคนี้ออกไป
2.ตาม มาตรา 128 (2) ระบุว่า ให้เอาผลลัพธ์ตาม (1) ขั้นตอนแรกนั้น ไปหารกับ คะแนนรวมของพรรคการเมืองแต่ละพรรค แล้วจะเป็นคะแนนเบื้องต้นที่พึงจะมี จากนั้นจึงจะให้ไปคำนวณในส่วน (5)(6)(7) ต่อไปก็จะเป็นส่วนที่พึงจะมีได้ โดยส่วนนี้มีคำที่น่าสนใจคือ "พึงจะมีได้เบื้องต้น" กับ "พึงจะมีได้" ซึ่งเมื่อทำตาม (2) คือนำมาหารแล้วจำนวนที่พึงจะมีได้เบื้องต้น แล้วผลลัพธ์ที่ได้ออกมามี 2 ทาง คือ กลุ่ม 1 พรรคที่มีจำนวน ส.ส.พึงจะมีได้เบื้องต้น มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ที่นั่งขึ้นไป จะมี 16 พรรค (ตัวอย่าง พรรคแรกคือพลังประชารัฐ จะมีได้ 18 คน ส่วนพรรคสุดท้ายคือพรรคพลังชาติไทย ตัวเลขจะเท่ากับ 1.0396 ) และกลุ่ม 2 มี 58 พรรค ที่จะมี ส.ส.พึงจะมีได้เบื้องต้น ต่ำกว่า 1 ที่นั่ง ก็จะได้ตัวเลขที่หารแล้ว ตั้งแต่ 0.97 - 0.0026 เพราะมีคะแนนทั่วทั้งประเทศเพียง 183 คะแนน
3.ให้นำจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมีได้เบื้องต้นตาม (2) มาลบ ด้วยจำนวน ส.ส.แบ่งเขตทั้งหมด ก็จะเป็นผลลัพธ์ คือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคนั้นจะได้รับเบื้องต้น ส่วนนี้ก็อาจจะได้ผลหลายแบบ เช่น ได้ผลเป็นจำนวนบวก ตัวอย่างเช่น พรรคประชาธิปัตย์ ได้พึงจะมี 55.5568 เอามาลบแล้วได้ 33 คน ก็เท่ากับยังเหลืออีก 22 คน แต่กลุ่มที่ไม่มี ส.ส.เขตแม้แต่รายเดียว ตัวอย่าง พรรคเสรีรวมไทย ที่นำตัวเลขมาลบแล้วก็จะไก้ผลบวก กลุ่มที่ 3 คือลบแล้ว ก็ได้ผลเป็นเลขติดลบ ก็จะมีพรรคเดียว คือ พรรคเพื่อไทย เพราะมี ส.ส.เขต จำนวน 137 คน มีตัวเลข ส.ส.ที่พึงจะมีได้ 111 ดังนั้นเมื่อนำมาลบแล้ว ก็จะติดลบจำนวน 25 กลุ่มที่ 4 ที่นำมาลบแล้ว เหลือไม่ถึง 1 ก็มีพรรคเดียวเช่นกัน คือ พรรคประชาชาติ โดยลบมาแล้วเท่ากับ 0.83 ซึ่งในขั้นตอนนี้ หากนำตัวเลขติดลบของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชาติ ออกเพราะอยู่ในเงื่อนไขที่ ส.ส.ที่พึงจะมีได้เบื้องต้นนั้นได้ผลติดลบ และต่ำกว่า 1 ก็เท่ากับ 2 พรรคนี้จะไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่ิอ ดังนั้นจำนวน ส.ส.ที่จะได้รับการจัดสรรจะอยู่ 159.8439
4.ภายใต้ข้องบังคับ (5) ให้จัดสรรจำนวนสมาชิกบัญชีรายชื่อให้ครบ 150 คน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองที่ได้ผลลัพธ์ตาม (3) ให้ได้เป็นจำนวนเต็มก่อน แล้วหากไม่ครบจำนวน 150 คนให้พรรคที่มีเศษจากจำนวนมากสุด ได้รับการจัดสรรเพิ่มอีก 1 คนตามลำดับ ซึ่งขั้นตอนนี้ที่เขียนว่า ภายใต้ข้อบังคับ (5) นั่นแปลว่า ต้องไปทำตาม (5) ให้เสร็จก่อน โดยตนเห็นว่า ข้อความตาม มาตรา 128(5) นี้ เป็นข้อความเดียวกันกับรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 91(4) ดังนั้น พ.รป.ว่าด้วยการเลิอกตั้ง ส.ส.ฯ มาตรา 128(5) จึงมีพลังเท่ากันรัฐธรรมนูญฯ

\"สมชัย\" เสนอแนวคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ


ซึ่งหากถอดความออกมา จะมี 3 ชิ้นเปรียยเทียบสี คือ
1.สีฟ้าเป็นพรรคที่ไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ก็มี 2 พรรคที่หลุดออกไปคือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชาติ เพราะได้ ส.ส.เขต เกินกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมีอีกได้
2.สีแดง คือ การจัดสรรที่ไม่มีผลให้พรรคการเมืองใด มี ส.ส.เกินกว่าจำนวนที่พึงจะมีได้ตาม ม.128(2) โดยส่วนนี้คือ 58 พรรคเล็กที่แม้จะคำนวณแล้วมีเศษส่วนเยอะแยะไม่ถึง 1 ก็จะมี ส.ส.ได้ไม่เกินกว่าจำนวนนั้นเช่น ได้ 0.9 , 0.7 ก็จะได้อย่างนั้นตลอดไป แปลว่า 58 พรรคเล็กไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรเพราะได้ตัวเลขต่ำกว่า 1 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 71,047 คน
3.สีดำ คือ เมื่อตัดพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ และ 58 พรรคเล็กออกไป จะเหลือ 14 พรรคการเมือง ก็จะได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน และหากกรณีที่เป็นเงื่อนไข เกิน 150 คน ก็ต้องมาดูขั้นตอนตาม (7) ที่ว่าถ้าเกิน 150 คนให้ปรับจำนวนใหม่ คิดตามอัตราส่วนที่ควรจะได้ ตัวอย่าง คือ เอาจำนวนที่พึงมีได้เบื้องต้น มาคูณด้วย 150 แล้วหารด้วย 159.8439 (คือจำนวนรวม ที่รวมแล้วเกินมา) เมื่อทำส่วนนี้เสร็จ ก็มาดูตามขั้นตอน (4) ที่ว่าให้จัดสรรเป็นจำนวนเต็ม เช่น 54.5983 จำนวนเต็มคือ 54 คน ซึ่งตนลองคำนวณแล้วจะได้ 142 คนแปลว่า จะต้องเอาเศษมาคิดให้พรรคการเมืองที่เหลือที่ ส.ส.ยังไม่เต็มโควต้า (คือกลุ่มพรรคสีดำ) ขณะที่เมื่อยังไม่ครบจำนวน 150 คน ก็ต้องทำตาม (6) คือ นำเศษมาจัดสรรให้ครบ
ดังนั้น เศษที่ไปได้ ก็มีอีก 7 พรรค รวมแล้วก็จะได้ 149 คน และเมื่อทำตามขั้นตอนสุดท้ายจะเหลือพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้อีก 1 คน ก็จะครบ 150 คน นี่คือกระบวนคิดที่จะไม่ผิดไปจากรัฐธรรมนูญฯ ที่สำคัญ คือต้องเล็งว่า ตัวเลข ส.ส.รวม เกินกว่าตัวเลข ส.ส.ที่พึงจะมีได้ตามรัฐธรรมนูญฯ หรือไม่

\"สมชัย\" เสนอแนวคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ


ขณะที่ "นายสมชัย" ยังได้ตอบคำถามสื่อมวลชนด้วยว่า วิธีคิดก็ดูจากรัฐธรรมนูญฯ ก่อน หากการคิดคำนวณรอบแรกไม่จบ ก็ทำรอบสองตามกฎหมาย ซึ่งกระบวนในกฎหมายไม่ได้เขียนละเอียดว่าต้องทำกี่รอบ ส่วนสูตรนี้จะต่างจาก กกต.หรือไม่ จุดต่างคงอยู่ที่ิ (5) ที่บอกสิ่งที่มีนั้นตรงกับรัฐธรรมนูญฯ ม.91(4) ดังน้้นหัวใจสำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าทำอย่างไรต้องไม่เกินจำนวนที่พึงจะมีได้ตาม (2) ก็ให้ กกต.ดูประโยคนี้ให้ดีๆ เรื่องคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ สุกคะแนนเสียงต้องนำมาคิดนั้นเป็นเพียงวาทะกรรม แต่เมื่อกฎหมายเขียนไว้ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ถ้าคุณคิดแบบ 25 พรรคแล้วไม่ทำให้พรรคการเมืองใดมี จำนวน ส.ส.ไม่เกินที่นั่งที่พึงจะมีได้ อย่างนั้นจึงจะถือว่าถูก ส่วนการโอเวอร์แฮงค์ ผิดจากกฎหมายหรือไม่นั้น สุดท้ายการคำนวณจะต้องเทียบแล้วว่าจำนวนพึงจะมี ต้องไม่เกินไป ตนไม่วิจารณ์สูตร กกต.ที่คิดจาก 25 พรรค เพราะตนไม่รู้ว่าหักเศษอย่างไร แต่ที่สำคัญคืออยากให้วัดผลสุดท้ายต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดจำนวน ส.ส.คือไม่เกินกว่าจำนวนที่พึงมี โดยปัญหาอยู่ที่ตัวกฎหมาย หรือคนใช้กฎหมายนั้น ตนเห็นว่า ผ่านการออกมาแล้ว รัฐธรรมนูนฯ ไม่ผิดผ่านการทำประชามติมาแล้ว กฎหมายลูกก็เขียนมาเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งหากกฎหมายลูกจะติดขัดก็ต้องยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลักที่ปกครองประเทศ ดังนั้นไม่ได้เป็นปัญหาที่กฎหมาย
อย่างไรก็ดี "นายสมชัย" ได้ตอบคำถามด้วยว่า เมื่อครั้งเป็น กกต. ช่วงร่างกฎหมายกระบวนการต่างๆ ยังไม่ทันได้ทำความเข้าใจลึกลงในรายละเอียดว่ามีปัญหาใดเกิดขึ้นบ้าง เพราะขณะนั้นแต่ละคนปฏิบัติตามหน้าที่รับผิดชอบ โดยเมื่อมีประเด็นที่เกิดขึ้นมาจึงมาดูรายละเอียดอย่างจริงจัง โดยทางออกเรื่อง ควรเป็นอย่างไร วิธีการอาจแตกต่างกันเพราะเมื่อสูตร กกต.ยังไม่เปิดเผย ก็มีเวลา จนถึง 9 พ.ค.นี้ยังมีโอกาสเปลี่ยนอีก ช่วง 1 เดือน ดังนั้นอยากให้ กกต.จัดเวทีรับฟังความเห็นจากนักคณิตศาสตร์ นักกฎหมาย และใครหลายฝ่าย แล้วเมื่อได้รับข้อมูลครบถ้วนกกต.ค่อยคิดเอาสูตรที่ถูกต้องก็ได้ อยากให้เอาสิ่งที่เคยติดยึดออกไป อย่างเช่นหากเคยอ้างว่าเคยพรีเซ็นต์ชั้น กรธ.แล้วอาจผิดก็ได้ สุดท้ายไม่มีใครกดดัน กกต. ท่านต้องตัดสินใจเอง แต่ท่านต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจในการใช้สูตรและผลการคำนวณดังกล่าว
เมื่อถามว่า หากใช้สูตรผิด ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ได้หรือไม่ "นายสมชัย" กล่าวว่า การใช้สูตรผิด คือความบกพร่อง แต่จะเจตนาหรือไม่เจตนาหรือไม่ต้องดู หากบกพร่องโดยไม่เจตนา เช่น พิมพ์ผิด อย่างนี้หากมีการแก้ไขให้ถูกต้องสังคมคงยอมรับได้ แต่ถ้าบกพร่องโดยคำนวณผิดพลาดโดยตั้งใจด้วยวันนี้สังคมก็พยายามสะท้อนถึง กกต.อยู่แล้ว ดังนั้นถ้า กกต.ยังไม่ฟังเสียงคนอื่นแล้วยังทำก็จะเข้าสู่การทำผิดโดยตั้งใจส่วนจะมีผลอย่างไรคนที่เกี่ยวข้องคงจะต้องพิจารณาอีกครั้ง แต่ก็ไม่ทำให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะการคำนวณนั้นเป็นเรื่ิองการประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่อยากให้ผิด ท้ายสุดไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีหน้าตาให้ต้องเสีย แต่เป็นเรื่องของประเทศชาติ
ส่วนช่องทางตีความจะมีหรือไม่นั้น คงต้องเป็นเรื่องที่มีหน่วยงานปฏิบัติแล้วมีความเห็นต่างกัน จึงให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้น่าจะเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันที่ 9 พ.ค.แต่เป็นเรื่องที่ กกต.จะพิจารณาเองก่อน
อย่างไรก็ดี ตนก็กำลังคิดว่า จะส่งแนวคิดในการคำนวณของตนนี้ เสนอให้ กกต.พิจารณาเพื่อนำไปรับฟังด้วย โดยในช่วงสัปดาห์นี้ก็จะจัดเตรียมเอกสารให้พร้อม ซึ่งตนก็เป็นชาวบ้านคนหนึ่ง ก็อยากนำเสนอความคิดเห็นเพื่อไม่ให้รูปแบบคำนวณบิดเบี้ยวหรือไม่
เมื่อถามว่า ในฐานะพรรคการเมืองใดๆ จะทำอะไรเพื่อปกป้องสิทธิประชาชนหรือไม่ "นายสมชัย" กล่าวว่า ตนไม่ใช่ กรรมการบริหารพรรค ไม่สามารถตอบได้ ก็ต้องดูว่าแต่ละพรรค ดำเนินอย่างไร แต่ในส่วนตัว ตนก็พร้อมปวารณาตัวที่พร้อมจะพูดคุยเสนอแนวคิดนี้กับ กกต.จะเชิญไปสอบถามก็พร้อมพูดคุย

logoline