svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ออมสิน จับมือ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พัฒนา-ยกระดับรับรองอาชีพผู้มีรายได้น้อย

15 กุมภาพันธ์ 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2562) ณ หอประชุมเพชรรัตน ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนและส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะการประกอบอาชีพ ระหว่าง ธนาคารออมสิน กับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. โดยมี นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และ นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง เพื่อร่วมกันพัฒนาสมรรถนะกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพ ตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่าตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ธนาคารออมสินดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับการฝึกอบรมอาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะ เพิ่มรายได้อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ ธนาคารฯจึงได้จัดโครงการฝึกอบรมอาชีพร่วมกับหน่วยงานต่างๆ หลายโครงการ อาทิร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในโครงการศูนย์รวมช่างประชารัฐ, ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา53 แห่งทั่วประเทศผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน ล่าสุด ธนาคารออมสิน ได้ร่วมกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช.เป็นองค์กรด้านการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพโดยได้มีการรับรองความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้ที่มีอาชีพต่างๆ มาร่วมสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยและลูกค้าของธนาคารได้รับใบรับรองยกระดับมาตรฐานอาชีพสร้างความมั่นใจให้กับทั้งลูกค้าและผู้อุปโภค/บริโภคประกอบกับลูกค้าจะทราบว่าตัวเองมีทักษะระดับใดถือเป็นการสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพอีกด้วย


"สคช.จะเข้ามาประเมินสมรรถนะบุคคลในแต่ละสาขาอาชีพให้เป็นมาตรฐานเป็นการยกระดับอาชีพให้เป็นที่ยอมรับขององค์กรที่จะรับทำงานและบุคคลในกลุ่มวิชาชีพนั้นๆเช่น ช่างปูน ถ้ามีทักษะอยู่ในระดับ 1 มีรายได้หรือค่าจ้างอยู่ที่ 150-200บาท/ตารางเมตร แต่ถ้ามีฝีมืออยู่ในเกณฑ์ระดับ 2-3 เมื่อนำใบรับรองที่ได้รับนี้ไปสมัครงานก็จะได้รับการพิจารณาเพิ่มค่าแรงตามเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น" นายชาติชาย กล่าว


ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังเป็นการสนับสนุนการยกระดับกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนตามเกณฑ์ของกระทรวงการคลังหรือ มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ให้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท ในขณะที่ผู้มีรายได้เกิน 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000บาท ธนาคารฯจะพัฒนาให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจนหลุดพ้นจากการเป็นผู้มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ของกระทรวงการคลังหรือมีรายได้เกิน 100,000 บาท อย่างไรก็ตามในส่วนของลูกค้าของธนาคารฯ ที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า หรือ ผู้ขับขี่รถรับจ้าง ธนาคารฯได้ใช้การให้สินเชื่อเป็นกลไกในการพัฒนา ผ่านการอบรมต่างๆหรือข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพที่ธนาคารออมสินสื่อไปถึง ทำให้ลูกค้าเริ่มจากวงเงินสินเชื่อไม่มากจากแผงค้าจนกระทั่งสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองโดยใช้สินเชื่อห้องแถวและเมื่อขยายกิจการได้โดยมีธนาคารออมสินสนับสนุนไปด้วย ก็จะเป็นธุรกิจ SMEs ต่อไป

     นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุลผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์กรมหาชน) เปิดเผยว่าสำหรับแนวทางความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบอาชีพมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบอาชีพที่เป็นลูกค้าของธนาคารออมสินและผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนพัฒนากำลังคนและส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะการประกอบอาชีพได้รับการยกระดับวิชาชีพให้มีความน่าเชื่อถือในอาชีพมากยิ่งขึ้นเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ได้รับความรู้ทางด้านการเงิน และเข้าถึงบริการทางการเงินตลอดจนความร่วมมือประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในเชิงบูรณาการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ หรือผู้ประกอบอาชีพต่างๆ

 



     "โดยผู้ที่ผ่านการสอบประเมินคุณวุฒิวิชาชีพและได้รับใบรับรองจากสคช. จะได้รับสิทธิพิเศษในการพิจารณาสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่งจะเป็นการเพิ่มคุณค่าในใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพสำหรับผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะเป็นคะแนน Score Point ในการขออนุมัติสินเชื่อโดยในปี62ทั้งสององค์กรจะมีกิจกรรมบูรณาการร่วมกันเน้นกลุ่มเป้าหมายในกลุ่มอาชีพดังนี้  Street Foodเสริมสวย และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งในส่วนกลุ่มลูกค้าธนาคารออมสิน ให้เข้าสู่การประเมินฯส่วนกลุ่มผู้ได้รับใบคุณวุฒิฯ สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและคาดมีผู้เข้ารับการประเมินสมรรถนะกว่า100,000 ราย"



 

     นายพิสิฐ กล่าวในตอนท้ายว่าความร่วมมือในโครงการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนและส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะการประกอบอาชีพนี้นับว่าเป็นการต่อยอดการเข้าถึงแหล่งทุน หรือสินเชื่อในการประกอบอาชีพ เป็นการเสริมสร้างความสามารถในการประกอบอาชีพของคนไทยโดยทั้งลูกค้าของธนาคาร หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนเข้าอบรมก็สามารถเข้าสู่การประเมินสมรรถนะเพื่อให้มีมาตรฐานและพัฒนาในอาชีพได้ อาทิ ช่างก่อสร้าง แท็กซี่ ช่างยนต์และอีกหลายสาขาวิชาชีพที่สถาบันฯ ได้ดำเนินการจัดทำเพื่อตอบโจทย์รัฐบาลตามนโยบายในการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพกำลังคนของประเทศในทุกๆสาขาวิชาชีพ และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ 20 ปี และตามนโยบายประเทศไทย 4.0รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำในการประกอบอาชีพ โดยมีแผนนำร่องการประเมินในกลุ่มอาชีพเป้าหมายไปทั่วประเทศอีกด้วย

logoline