svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ดูชัดๆ ที่มาที่ไป เส้นทาง"ฟอกเงิน" กรุงไทย สั่งฟ้อง "พานทองแท้"

25 กรกฎาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คดีฟอกเงินจากการอนุมัติเงินกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้กับเครือกฤษดามหานคร โดยมีธุรกรรมทางการเงิน 2 ก้อน ไหลจากกฤษดาธานนท์มาแตะเข้ากับกลุ่มของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาล


ซึ่งคดีดังกล่าวถูกส่งต่อจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)มายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อสอบสวนความผิดฐานฟอกเงินกับกลุ่มบุคคล ที่ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพนักงานของรัฐ แต่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงด้วยธุรกรรมการเงิน


ต่อมาเมื่อศาลฎีกาตัดสินให้ลงโทษจำคุกผู้บริหารธนาคารกรุงไทยและผู้บริหารกฤษดามหานคร ชัดเจนว่าความผิดบทหลักได้รับการตัดสินจากศาลแล้ว ถึงเวลาเดินหน้าคดีฟอกเงินซึ่งเป็นคดีเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับความผิดบทหลัก แม้จะมีการสอบปากคำพยานไปมากกว่า 100 ปาก แต่เมื่อพนักงานสอบสวนชุดใหม่เข้ามาตรวจสอบสำนวนแล้วแทบจะต้องสอบปากคำใหม่ทั้งหมด โดยมีเงื่อนเวลาต้องสรุปสำนวนให้แล้วเสร็จก่อนที่คดีจะครบอายุความ 15 ปี ในช่วงปลายปี 2561


คดีนี้ฝ่ายผู้ต้องหาเข้าร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้ง พร้อมขู่จะใช้สิทธิตามกฎหมายฟ้องพนักงานสอบสวนทั้งชุด รวมถึงการร้องขอให้พนักงานสอบสวนเรียกสอบปากคำอดีตอธิบดีดีเอสไอ พนักงานสอบสวนทุกชุด และผู้ที่มีชื่อรับเงินจากกฤษดามหานครทั้งหมด โดยพุ่งเป้าไปที่วงเงินในเช็คสั่งจ่ายพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จำนวน 250,000 บาท และพล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป (นายทหารคนสนิทของพล.อ.เปรม) จำนวน 100,000 บาท


ในประเด็นเงินบริจาค ดีเอสไอตรวจสอบผู้ได้รับเงินที่อนุมัติจากธนาคารกรุงไทยทั้งหมด โดยพบว่าเงินได้ถูกแบ่งออกเป็นหลายกอง ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนได้เรียกสอบปากคำผู้ที่มีชื่อได้รับเงินแล้ว ในกรณีที่สามารถชี้แจงได้ว่าเป็นการสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระมูลหนี้ใด ก็จะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง โดยกรณีนายวิชัย กฤษดาธานนท์ สั่งจ่ายเช็ค 250,000 บาท ให้แก่พล.อ.เปรม พบว่า พล.อ.เปรมได้นำเข้ามูลนิธิรัฐบุรุษทันที ไม่ได้ถูกนำไปใช้ส่วนตัว อีกทั้ง พล.อ.เปรมไม่เคยนำเช็คไปเข้าบัญชีส่วนตัว จุดประสงค์จึงชัดเจนว่าเป็นการบริจาคเพื่อการกุศล สำหรับเช็คเงินสดที่นายวิชัยจ่ายให้แก่ พล.ร.อ.พะจุณณ์ จำนวน 100,000 บาท ก็มีการชี้แจงว่า เป็นเงินค่าจัดงานเลี้ยงรุ่นวปอ. ที่นายวิชัยให้ พล.ร.อ.พะจุณณ์สำรองจ่ายไปก่อน แล้วนายวิชัยสั่งจ่ายเช็คมาให้ในภายหลัง ซึ่งสามารถชี้แจงธุรกรรมการเงินได้ชัดเจน เพราะมีงานเลี้ยงรุ่นเกิดขึ้นจริง


ดูชัดๆ ที่มาที่ไป เส้นทาง"ฟอกเงิน" กรุงไทย สั่งฟ้อง "พานทองแท้"



ในช่วงท้ายของการสอบสวน มีกระแสกดดันเกิดขึ้นเป็นระยะ โดยระบุเป็นนัยว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีการเมือง พนักงานสอบสวนจะมองเพียงข้อกฎหมายตรงหน้าไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การสอบสวนของดีเอสไอยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเดือนมีนาคม 2561 พนักงานสอบสวนดีเอสไอและอัยการพิเศษฝ่ายสำนักการสอบสวน สรุปสำนวนและมีความเห็นสั่งฟ้องคดี ขั้นตอนต่อไปดีเอสไอต้องประมวลรูปคดีพร้อมพยานหลักฐาน เสนอให้คณะพนักงานสอบสวนที่มี พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นหัวหน้า พิจารณารายละเอียดในสำนวนคดีและเปิดให้พนักงานสอบสวนลงมติเห็นสมควรฟ้อง-ไม่ฟ้อง ทั้งนี้ มติเสียงข้างมากมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน
จากนั้นสำนวนพร้อมความเห็นของพนักงานสอบสวนได้ถูกส่งต่อให้พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ลงความเห็นฟ้อง-ไม่ฟ้อง เป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งอธิบดีดีเอสไอมีความเห็นพ้องกับพนักงานสอบสวน ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปให้อัยการฝ่ายคดีพิเศษ พิจารณาในลำดับต่อไป โดยมีหนังสือแจ้งผลการสอบสวนไปยังผู้ต้องหา และกำหนดให้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อนำตัวไปส่งให้อัยการ ในวันที่ 31 มีนาคมนี้


สำหรับวงเงินที่เป็นมูลเหตุในคดีฟอกเงินกรุงไทย ก้อนแรกจำนวน 26 ล้านบาท เคยถูกสั่งเช็คเข้าบัญชีพานทองแท้ แต่ในวันเดียวกันเช็คถูกสั่งระงับ แล้วสั่งจ่ายอีกครั้งเพื่อเข้าบัญชีของนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร, นายวันชัย หงษ์เหิน สามีของนางกาญจนาภา และนางเกศินี จิปิภพ แม่ของนางกาญจนาภา เพื่อลงทุนในหุ้น ซึ่งพนักงานสอบสวนได้เรียกพยานบุคคลและพยานเอกสารเพื่อประกอบสำนวนการสอบสวน ก่อนจะมีความเห็นสั่งฟ้องเนื่องจากไม่เชื่อว่าเป็นการโอนเงินเพื่อลงทุนซื้อหุ้น เพราะไม่มีหลักฐานการลงบัญชีเพื่อคืนเงินหลังการขายหุ้น มีเพียงการกล่าวอ้างว่าเป็นการทยอยคืนเงินหลายก้อนจนครบ 26 ล้าน และเป็นการคืนกันแบบปากเปล่า จึงไม่มีหลักฐานประกอบ


ส่วนเงินอีกก้อนจำนวน 10 ล้านบาท โอนเข้าบัญชีของนายพานทองแท้ ทั้งนี้ภายหลังการแจ้งข้อกล่าวหา นายพานทองแท้ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมส่งเอกสารหลักฐานประกอบคำให้การ แต่ท้ายที่สุดพนักงานสอบสวนโดยการลงมติของเสียงข้างมาก ไม่เชื่อตามคำให้การของผู้ต้องหาที่ระบุว่า เงินจำนวน 10 ล้านบาท เป็นเงินที่นายรัชดา กฤษดาธานนท์ โอนมาเพื่อร่วมลงทุนประกอบธุรกิจนำเข้ารถยนต์ซูเปอร์คาร์ แต่ในภายหลังล้มเลิกโครงการไปเพราะไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จึงมีการคืนเงินให้แก่นายรัชดา ซึ่งประเด็นนี้ฝ่ายพนักงานสอบสวนมีดุลพินิจว่า เงิน 10 ล้านบาท ที่โอนเข้าบัญชีของนายพานทองแท้นั้น ไม่มีแผนธุรกิจและไม่มีการจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินกิจการตามที่กล่าวอ้าง รวมถึงเงินลงทุนเพียง 10 ล้านบาทไม่สามารถซื้อรถยนต์ซูเปอร์คาร์ได้


บัญชีธนาคารของนายพานทองแท้ อันเป็นเส้นทางธุรกรรมเชื่อมโยงกับคดีฟอกเงิน ก็เป็นบัญชีที่ไม่มีเงินฝากก้อนอื่นอยู่เลย มีเพียงเงินจำนวน 10 ล้านบาทรับโอนจากนายรัชดาเข้ามาก้อนเดียว และยังพบว่ามีการถอนเงินออกไปใช้จ่าย พฤติการณ์จึงเป็นการรับเงินและใช้เงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด


สำหรับความผิดฐานฟอกเงิน มีโทษตามกฎหมาย จำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การสรุปสำนวนสั่งฟ้องของดีเอสไอยังไม่ใช่ตอนจบ ยังต้องไปสู้กันต่อ ในชั้นพิจารณาสำนวนของอัยการฝ่ายคดีพิเศษ

logoline