svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สมศักดิ์"ตอบ 6 คำถาม"ประยุทธ์" ทวงให้ "คสช."ยึดรธน. เพื่อสร้างเชื่อมั่น

08 พฤศจิกายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐสภา 8 พ.ย. 60 สมศักดิ์ ตอบคำถาม 6ข้อประยุทธ์ พร้อมทวงให้ คสช. ยึดรธน. เพื่อสร้างเชื่อมั่น ประเมิน คำถาม นายกฯ เพื่อตอกย้ำการสนับสนุน และหยั่งท่าทีก่อนเดินเกมการเมือง

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ฐานะประชาชนที่เคยทำงานการเมืองในนามพรรคชาติไทยพัฒนา ตอบคำถามใน 6 ประเด็น ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เผยแพร่ล่าสุด ว่า ตนเข้าใจว่าเป็นคำถามที่ นายกฯ และคสช. ต้องการทราบถึงความเห็นและความต้องการของประชาชนต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น รวมถึงต้องการเห็นทิศทางประเทศเป็นอย่างไร ต้องการให้มีนักการเมืองใหม่ หรือพรรคการเมืองเกิดใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ตนมองด้วยว่า คสช. ต้องการหยั่งท่าทีของประชาชน ก่อนจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเห็นดังกล่าว ทั้งนี้ตนไม่ขอคิดแทน คสช. ว่าต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปหรือไม่ อย่างไรก็ตามกระบวนการสอบถามประชาชนนั้น คล้ายกับสมัยที่รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ตั้งคำถามไปยังประชาชนหลังจากที่ถูกหลายฝ่ายโจมตีกรณีจัดงบประมาณลงจังหวัดที่พรรคของรัฐบาลมีส.ส.เท่านั้น ซึ่งเป็นความต้องการรู้ท่าทีและตอกย้ำการได้รับการสนับสนุน

นายสมศักดิ์ ยังให้คำตอบ ฐานะประชาชนที่เคยผ่านสนามการเมืองและการเลือกตั้งด้วยว่า คำถามข้อแรก ตนต้องการเห็นนักการเมืองหน้าใหม่ ที่มีคุณภาพเข้ามาทำงานการเมือง ส่วนพรรคการเมือง ที่เป็นองค์กรจะเกิดใหม่หรือไม่ก็ได้ เพราะคุณภาพของพรรคการเมืองจะขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาบริหาร หากได้คนที่มีอุดมการณ์เข้ามาทำงานการเมือง ต่อให้อยู่ในพรรคการเมืองเก่า การบริหารภายในพรรคก็จะถูกยกระดับและมีคุณภาพทางการเมือง , คำถามข้อสอง ต่อ ประเด็นคสช. สนับสนุนพรรคการเมือง ตนมองว่าหากเป็นเพียงตัวบุคคลที่มีตำแหน่งใน คสช. นั้น ตามสิทธิส่วนบุคคลทุกคนมีสิทธิสนับสนุนพรรคการเมืองได้ตามกฎหมาย แต่หากจะเกิดในรูปแบบของ คณะคสช. อาจถูกตั้งคำถามเรื่องความไม่เหมาะสมได้ เพราะคสช. ปัจจุบันคือรัฐบาลที่กุมอำนาจไว้ทั้งหมด

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ข้อสาม ว่าด้วยอนาคตของประเทศชาติหลังการบริหารงานของคสช. ที่ผ่านมา ตนขอสงวนสิทธิ์ออกความเห็นเพราะตนเคยทำงานการเมืองและบริหารประเทศมาก่อน ดังนั้นเมื่อตอบคำถามอาจถูกมอว่าใช้ความรู้สึกมากกว่าให้ข้อเท็จจริง แม้คำตอบนั้นจะมาจากข้อเท็จจริงก็ตาม, ข้อสี่ ว่า ด้วย แนวทางการจัดตั้งรัฐบาลด้วยวิธีใหม่ นั้น ตนมองว่าต้องยึดความถูกต้อง คือ กติกาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งพรรคการเมืองต้องทำตามกติกา คือ รัฐธรรมนูญ ถึงจะเรียกว่าถูกต้อง ทั้งนี้ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา ต้องใช้ระบบแก้ไข ทั้งนี้ระบบที่ถูกออกแบบล่าสุดคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ผ่านประชามติจากประชาชน ดังนั้นสิ่งสำคัญต้องปฏิบัติตามกลไกดังกล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ข้อห้า ว่าด้วยการมีธรรมาภิบาลของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านประชามติจากประชาชน ควรเชื่อมั่นในกติกาที่กำหนดขึ้น ส่วนประเด็นการมีธรรมาภิบาลนั้นรัฐธรรมนูญกระบวนการกำจัดนักการเมืองที่ไม่มีธรรมาภิบาล ทั้งการถอดถอน ซึ่งกติกาที่เขียนไว้นั้นถือเป็นการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และข้อหก ว่าด้วยการเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองปัจจุบัน ตนขอตอบฐานะเป็นอดีตนักการเมือง ที่มองว่าเมื่อมีกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญ , พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บังคับใช้แล้ว นักการเมืองจึงจำเป็นต้องถามถึงความพร้อมของรัฐบาลและ คสช. ว่าพร้อมหรือไม่ ดังนั้นการเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ใช่การตำหนิ หรือวิจารณ์รัฐบาล เพียงแต่เป็นการถามรัฐบาลถึงการปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง

หากคสช. และรัฐบาล ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหัวใจของการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และที่ผ่าน คสช. และเครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย ควรเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองได้ทำมา ส่วนผลของการกระทำที่สะท้อนเป็นความเชื่อมั่นนั้น ขึ้นอยู่กับประชาชน ทั้งนี้ผมมั่นใจว่าประชาชนมีบทสรุปและบทเรียนจากข้อผิดพลาดที่ผ่านมา และไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย และจะทำเพื่ออนาคตที่ดีของประเทศ นายสมศักดิ์ กล่าว.

logoline