svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ไขปมอุทธรณ์คดี ‘ยิ่งลักษณ์-บุญทรง’

24 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเด็นทีว่า ขณะนี้จำเลยสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกานักการเมืองได้หรือยังในขณะที่ กม.ลูกยังไม่ประกาศใช้ ศาลฯจะเป็นคนชี้ในประเด็นนี้

วันนี้ ( 25 ส.ค.) เวลา 09.00 น.เป็นวันนัดฟังคำพิพากษา ในคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. จากกรณีปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งโครงการจำนำข้าวที่ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย

กับอีกคดี คือ คดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 28 คน เป็นจำเลย ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 , ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์ ใช้อำนาจโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่รัฐ ตามมาตรา 151 และ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

ทั้งสองคดีนัดฟังคำพิพากษาวันเดียวกันและเวลาเดียวกัน โดยคำพิพากษามีได้ 3 แนวทาง คือ 1.จำคุก 2.จำคุกแต่รอลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษ 3.ยกฟ้อง ซึ่งอีกไม่นานก็คงรู้ผลแล้ว

แต่มีประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากในขณะนี้ ก็คือ ในเรื่องอุทธรณ์คดี เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ล่าสุดและใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ในมาตรา 195 วรรคสี่ บัญญัติว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาซึ่งมีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 (ซึ่งเพิ่งยกเลิกไป) โดยในมาตรา 278 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ต้องคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ อาจยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้


เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการเกี่ยวกับการอุทธรณ์คดีของศาลฎีกาแผกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างสิ้นเชิง


ประการแรก เดิม ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เฉพาะจำเลยเท่านั้น ที่อุทธรณ์คำพิพากษาได้ เนื่องจาก มาตรา 278 วรรคสาม ใช้คำว่า ผู้ต้องคำพิพากษาแต่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2560 เขียนกว้างกว่า คือ คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ดังนั้นในปัจจุบัน ไม่เฉพาะจำเลย เท่านั้นที่อุทธรณ์คดีได้ แต่โจทก์ ก็อุทธรณ์คดีได้ด้วย


ประการที่สองเรื่องเงื่อนไขการอุทธรณ์คดี เดิมตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เข้มงวดอย่างมาก หรือจะเรียกว่าเป็นข้อยกเว้น เลยก็ว่าได้ ในเรื่องการอุทธรณ์คดี คือ จะอุทธรณ์คดีได้ จะต้องมีพยานหลักฐานใหม่ ที่อาจทำให้ข้อเท็จจริงในคดีเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะหาหลักฐานใหม่มาอุทธรณ์คดีได้แต่ปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นการเปิดกว้างให้สิทธิทั้งโจทก์และจำเลยในการอุทธรณ์คดีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ โดยไม่จำเป็นว่าต้องมีพยานหลักฐานใหม่ ที่ทำให้ข้อเท็จจริงในคดีเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ อีกต่อไป

ดังนั้นเมื่อดูตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพียงแค่มาตรา 195 วรรคสี่ จึงไม่น่าจะมีปัญหาว่า ทั้งโจทก์และจำเลย อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เพราะรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิในการอุทธรณ์คดีไว้

แต่ไม่จบแค่นั้น เนื่องจากในมาตรา 195 วรรคท้ายบัญญัติว่า หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งขณะนี้พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่ประกาศใช้

จึงมีหลายคนตีความว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 จะรับรองสิทธิให้อุทธรณ์ได้่ก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้ โดยยกตัวอย่างว่า อย่างกรณีมาตรา 195 วรรคท้าย เขียนว่า หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ให้เป็นไปตาม พรป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นเมื่อ พรป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังไม่ประกาศใช้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าหลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์เป็นอย่างไร จะเขียนอุทธรณ์กันอย่างไร ดังนั้น การที่จะอุทธรณ์ได้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เก่า คือ มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งทำให้ข้อเท็จจริงในคดีเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

นอกจากนี้ฝ่ายที่มีความเห็นเช่นนี้ ซึ่งส่วนมากเป็นพวกหัวอนุรักษ์นิยม คือ ตีความตามอักษร ได้ยกตัวอย่างว่า เหมือนกับรัฐธรรมนูญ บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องใดไว้แล้วพ่วงท้ายว่า ทั้งนี้แล้วแต่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งหากยังไม่มีกฎหมายลูกออกมา รัฐธรรมนูญที่บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนั้น ก็ยังใช้บังคับไม่ได้


ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะเป็นผู้ชี้ว่า จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญใหม่แล้วหรือยัง

ดังนั้นหากใน 2 คดีนี้ เกิดมีจำเลยในคดีถูกศาลพิพากษาจำคุก จำเลยก็จะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวคราวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และระบุในคำร้องขอใช้สิทธิอุทธรณ์ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำตำแหน่งทางการเมือง จะต้องพิจารณาในประเด็นที่ว่าจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือยัง หรือว่าต้องรอ พ.ร.ป. วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก่อน ซึ่งถ้าศาลฯเห็นว่า จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็จะพิจารณาต่อไปว่าจะให้ประกันตัวจำเลยหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าศาลฯจะสั่งให้ประกันตัวหรือไม่ให้ประกันตัวจำเลย ก็เท่ากับว่าศาลเห็นว่า จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คดีตามรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2560 แล้ว

แต่ถ้าศาลฯเห็นว่าต้องรอ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกาศใช้เสียก่อน จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ศาลฯก็คงยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยอาจให้เหตุผลว่า ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานใหม่ ที่ทำให้ข้อเท็จจริงในคดีเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

logoline