svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เพื่อไทย VS กรธ." หนุน-ค้านระบบผู้สมัครคละเบอร์

07 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลายเป็นประเด็นที่พรรคการเมืองยอมไม่ได้ หลังจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ออกมาประกาศว่า จะให้ผู้สมัคร ส.ส.จับสลากหมายเลขผู้สมัครที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งแบบรายเขต ส่งผลให้ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันไม่จำเป็นต้องใช้หมายเลขเหมือนกันทั้งประเทศตามแบบเดิมในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เรื่องนี้้ทั้งฝ่ายพรรคการเมือง และฝ่าย กรธ.ต่างก็มีเหตุผลมาสนับสนุนแนวคิดของตนเอง ล่าความจริงนำมาสรุปให้ท่านผู้ชมได้เปรียบเทียบกันชัดๆ และลองถามตัวเองดูว่าอยากได้แบบไหน


เมื่อวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เขาไปรวมพลประชุมกันที่โรงแรมรอยัล พลา คลิฟบีช รีสอร์ท จังหวัดระยอง เพื่อสรุปหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.ป. ฉบับสำคัญที่จะต้องเร่งยกร่างกันอีก 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. / และ ร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.
ประเด็นสำคัญที่กลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา นอกเหนือจากการเตรียมเพิ่มระยะเวลาการหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง จากเดิม 8 โมงเช้าถึง 3 โมงเย็น เป็น 8 โมงเช้าถึงบ่าย 4 โมงเย็น คือเพิ่มขึ้นอีก 1 ชั่วโมง และให้นับคะแนนกันที่หน่วยเลือกตั้งทันที เพื่อความรวดเร็วแล้ว / อีกประเด็นหนึ่งที่กระทบกับพรรคการเมืองเข้าอย่างจัง ก็คือ เรื่องเบอร์ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ถ้ายังจำกันได้ การเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านๆ มา จะมีผู้สมัคร 2 ระบบ คือ ระบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ กับระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือ ส.ส.เขต โดยผู้สมัคร ส.ส.เขต จะได้หมายเลขที่ใช้ในการหาเสียง เป็นเบอร์เดียวกับผู้สมัครในระบบปาร์ตี้ลิสต์ คือ เบอร์ของพรรคการเมือง สมมติว่า พรรค ก. ได้เบอร์ 1 ผู้สมัครของพรรค ก. ทั้ง 2 ระบบทั่วประเทศ ก็จะได้เบอร์ 1 เหมือนกันหมด แต่จะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ บัตรเลือกผู้สมัครแบบปาร์ตี้ลิสต์ กับ บัตรเลือกผู้สมัครระบบแบ่งเขต
แต่ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่คาดว่าจะมีขึ้นราวปลายปีหน้า กรธ.บอกว่า ระบบการเลือกตั้งจะเปลี่ยนไป เหลือบัตรเลือกตั้งใบเดียว ฉะนั้นจึงกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.ในแต่ละเขต จับสลากหรือได้หมายเลขตามจำนวนผู้ที่ลงสมัครในเขตนั้นๆ แทน ผลก็คือ ผู้สมัครพรรคเดียวกัน แต่คนละเขตกัน ก็จะได้หมายเลขในการหาเสียงคนละหมายเลข
ล่าความจริง ไปคุยกับ คุณนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. ท่านชี้แจงเอาไว้แบบนี้ค่ะ
เหตุผลของโฆษก กรธ.สรุปให้ฟังง่ายๆ แบบนี้ค่ะ
1.ระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนไป จากใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ด้วยหลักคิดที่ว่าทุกคะแนนเสียงมีความหมาย
2.สอดคล้องกับระบบ "ไพรมารี่ โหวต" ที่พรรคการเมืองจะต้องเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถ และจะต้องสามารถอธิบายนโยบายของพรรคตัวเองกับประชาชนได้
3.ป้องกันไม่ให้นายทุนเข้ามาเป็นคนกำหนดตัวผู้สมัคร
4.มีความยุติธรรมกับทุกพรรคการเมือง และเชื่อว่าจะไม่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เพราะเวลาจะเลือกตั้งประชาชนก็จะสนใจเฉพาะเขตของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องไปสนใจเขตอื่น
คุณนรชิต บอกด้วยว่า การที่พรรคการเมืองออกมาคัดค้านเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องของพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวกับประชาชน ถ้าพรรคการเมืองตอบไม่ได้ว่าวิธีที่พรรคการเมืองต้องการดีกว่าอย่างไร ทาง กรธ.ก็คิดว่าไม่ต้องรับฟัง (พูดอย่างนี้ก็ฟันธงกันชัดๆ เลยนะคะว่า กรธ.จะเสนอแบบนี้แน่นอน คือ ผู้สมัครพรรคเดียวกัน ไม่ต้องได้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ)
เราไปฟังความเห็นของฝ่ายพรรคการเมืองกันบ้าง พรรคที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านมากที่สุดในช่วงนี้ คือ พรรคเพื่อไทย ทั้งคุณภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค และ คุณนพดล ปัทมะ สมาชิกพรรค ซึ่งเป็นอดีตที่ปรึกษากฎหมายของคุณทักษิณ ชินวัตร ด้วยเหตุผลของฝั่งพรรคเพื่อไทย สรุปได้แบบนี้ค่ะ
1.เมื่อ กรธ.ใช้ระบบ "ไพรมารี่ โหวต" ในการสรรหาผู้สมัครแต่ละพื้นที่ และพรรคการเมืองจะต้องเป็นผู้ให้ความเห็นสุดท้ายว่าจะยินยอมให้เป็นผู้สมัครของพรรคหรือไม่ แสดงว่าคะแนนที่ประชาชนมอบให้มา เป็นทั้งคะแนนนิยมส่วนตัวของผู้สมัครแต่ละคน และเป็นคะแนนนิยมที่ประชาชนมีต่อพรรคการเมืองด้วย ฉะนั้นผู้สมัครกับพรรคจึงแยกกันไม่ได้
2.เป็นการสะท้อนความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมือง พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค
3.การใช้เบอร์เดียวกันทำให้ประชาชนจำง่าย ไม่สับสน ลดปัญหาบัตรเสีย
คุณนพดล ปัทมะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย บอกทิ้งท้ายเอาไว้ว่า หวังว่า กรธ.จะเปิดใจรับฟังฝ่ายต่างๆ ในการยกร่างกฎหมาย เพื่อให้การเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ง่าย ไม่สับสน และควรเปลี่ยนแปลงวิธีการเฉพาะที่ทำให้การเลือกตั้งดีขึ้นเท่านั้น
พรรคเพื่อไทยเขาหวังให้ กรธ.รับฟัง แต่ กรธ.บอกว่าไม่จำเป็นต้องรับฟัง ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าสุดท้ายจะจบอย่างไรนะคะ

logoline