svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

จิตแพทย์เตือน! 5 ค่านิยมคนไทย สู่โรคซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

31 มีนาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จิตแพทย์เผย 5 ค่านิยมคนไทย นำสู่โรคซึมเศร้าจนถึงฆ่าตัวตาย เน้นวัตถุ-แข่งขัน-เอาชนะ-กลัวเสียหน้า-สร้างภาพลักษณฺ์ ลั่นสังคมซุบซิบ นินทายิ่งเร่งคนฆ่าตัวตาย ระบุคนไทย 1 ใน 4 มีปัญหาสุขภาพจิต



นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวในงานเสวนา ฆ่าตัวตาย สุขภาวะคนไทยบนปากเหวว่า ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 57 ของโลก อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6 ต่อแสนประชากร หรือประมาณ 3,000 คนต่อปี แต่เชื่อว่าน่าจะมีการฆ่าตัวตายมากกว่าตัวเลขนี้ เนื่องจากยังมีการปกปิดข้อมูล เช่น กรณีคนที่ทำประกันชีวิตฆ่าตัวตายแล้วญาติจะปกปิดสาเหตุที่แท้จริง เพื่อให้ได้รับค่าสินไหมทดแทน เป็นต้น สำหรับประเทศไทยข้อมูลที่เคยมีการสำรวจในกลุ่มคนอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าทุก 1 ใน 4 คนจะมีโอกาสมีปัญหาทางสุขภาพจิต เนื่องจากครั้งหนึ่งในชีวิตจะมีความทุกข์จนสูญเสียความสามารถในการดำเนินชีวิต แต่ที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชจะพบประมาณร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น

จิตแพทย์เตือน!  5 ค่านิยมคนไทย สู่โรคซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย


สิ่งที่เป็นปัญหาจนอาจทำให้นำไปสู่การป่วยโรคซึมเศร้าหรือป่วยจิตเวชของคนไทย มาจากค่านิยมที่เน้นวัตถุ การแข่งขัน การอยากเอาชนะ กลัวเสียหน้า ต้องการสร้างภาพลักษณ์ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเครียด บวกกับการเกื้อกูลกันของคนไทยหายไป เมื่อมีปัญหาจะไม่ขอรับการช่วยเหลือเพราะกลัวการเสียหน้า โดยเฉพาะหากเกิดในสังคมที่มีการซุบซิบนินทา จะมีความเสี่ยงให้เกิดการฆ่าตัวตาย นพ.ประเวช กล่าว
ด้านนางพัชรี คำธิตา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ(จิตเวช) โรงพยาบาลแม่ทา จังหวัดลำพูน กล่าวว่า การรักษาหน้า การซุบซิบ นินทา เป็นเหตุผลเร่งให้คนฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในอ.แม่ทา จ.ลำพูนซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสุขมากที่สุดในประเทศ แต่เป็น 1 ใน 8 อำเภอที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงสุดในจังหวัด และเคยสูงสุดระดับประเทศ โดยอัตราอยู่ที่ 34.51 ต่อแสนประชากร หรือปีละ 20 คน สาเหตุมาจากการกลัวเสียหน้า กับการซุบซิบนินทา ใครที่เดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ เมื่อกลับมาจะถูกนินทา ถูกตีตรา ทำให้คนไม่เข้าสู่ระบบบริการ จนเมื่ออาการรุนแรง ปลีกตัว เก็บตัว ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอนญาติจึงต้องส่งโรงพยาบาล แต่หลังกลับจากรักษามาอยู่ที่ชุมชนจะถูกตีตรากลายเป็นปัญหาไปเรื่อยๆ

จิตแพทย์เตือน!  5 ค่านิยมคนไทย สู่โรคซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย


"ที่ผ่านมาจึงมีการปรับทัศนคติของชุมชนใหม่ โดยใช้แกนนำชาวบ้านซึ่งนอกเหนือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแล้วยังมีกลุ่มพระสงฆ์ในพื้นที่มาร่วมให้ข้อมูลความรู้ เกิดเป็นโครงการบิณฑบาตความทุกข์ และขอความร่วมมือจากร้านค้าห้ามจำหน่ายสุราในวันพระ และงานศพ ล่าสุดอัตราการฆ่าตัวตายของพื้นที่ อ.แม่ทาดีขึ้น อยู่ที่ 7 ต่อแสนประชากร"นางพัชรีกล่าว
นางรัชนี แมนเมธี กรรมการสมาคมสายใยครอบครัว กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะระดับประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนต้น จะมีปัญหาสุขภาพจิตแบ่งเป็น 2 กลุ่มอาการ คือ 1.อาการไม่คลุกคลีกับใคร ซึมเศร้า ไม่เข้าสังคม ไม่สดใส และ2.อาการก้าวร้าว ไฮเปอร์ โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้เมื่อเติบโตไปเสี่ยงจะเป็นภาวะซึมเศร้า หรืออาจฆ่าตัวตาย แต่ปัญหาคือครูจะูไม่ทราบอาการของเด็ก จึงเสนอว่าควรจะมีการบรรจุการเรียนรู้เรื่องโรคทางจิตเวช อยู่ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้เด็กทุกคนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรค รู้จักวิธีสังเกตโรคซึมเศร้าหรืออาการทางจิตเวชในเด็กเป็นอย่างไร สามารถเข้าสู่การรักษาได้โดยไม่ต้องอายใคร หรือกลัวว่าสังคมจะรังเกียจ

จิตแพทย์เตือน!  5 ค่านิยมคนไทย สู่โรคซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

logoline