svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ปปง. อายัดทรัพย์ 300 ล้าน แก๊งโกงหวยครู

11 มีนาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปปง. อายัดทรัพย์แก๊งโกงหวยครู กว่า 300 ล้าน และอายัดทรัพย์เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนหลอกให้เปิดบัญชีแต่ไม่มีผลกำไรจริงกว่า 6 แสนบาท

เลขาธิการ ปปง.พันตำรวจเอก สีหนาท ประยูรรัตน์ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม กรณี ปปง.มีคำสั่งอายัดทรัพย์แก๊งค์โกงหวยครู กว่า 300 ล้าน และอายัดทรัพย์เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกว่า 6 แสนบาท

หลังรับเรื่องร้องเรียนว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลย จำกัดและสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกับบริษัท เทวาสิทธิ พิฆเนศ จำกัด โดยนายศรีสุข รุ่งวิสัย นำเงินของสหกรณ์ฯ ไปใช้ในกิจการค้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากพิเศษการกุศล เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบโดยทุจริตจากการขายสลากเกินราคา
ซึ่งพบว่า บริษัทเทวาสิทธิฯ ไม่ใช่คู่สัญญาและไม่ได้รับโควต้าสลากจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเลย แต่ได้ทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกรมสามัญศึกษาจังหวัดเลย จำกัด จำนวน 3 สัญญาเป็นจำนวน 25,000 เล่ม ทำสัญญาซื้อขายสลากกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลย จำกัด จำนวนสลากฯ 20,000 เล่ม และทำสัญญากับสหกรณ์การเกษตรวังสะพุง จำกัด จำนวน 5,000 เล่ม
ทั้งๆ ที่บริษัท เทวาสิทธิ พิฆเนศ จำกัด โดยนายศรีสุข รุ่งวิสัย กับพวก สามารถรวบรวมสลากฯ จากผู้ค้าสลากฯ ที่บริเวณสี่แยกคอกวัวได้ไม่มากตามที่ทำสัญญาไว้ ทำให้มีสลากไม่เพียงพอที่จะส่งมอบให้กับสหกรณ์ต่างๆ ได้ จึงเกิดการหมุนเวียนสลากส่งผลให้มีการรับซื้อในราคาที่แพงขึ้น

เมื่อจะต้องนำสลากไปส่งมอบให้สหกรณ์ต่างๆ ตามราคาในสัญญาที่ตกลงกัน แต่ไม่มีสลากกินแบ่งรัฐบาลไปมอบทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องทางการการเงิน เป็นเหตุให้บริษัท เทวาสิทธิ พิฆเนศ จำกัด โดยนายศรีสุข รุ่งวิสัย กับพวก โฆษณาระดมทุนจากประชาชนทั่วไปให้ร่วมลงทุนซื้อสลากมาจำหน่าย โดยอ้างว่าได้รับโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลจากกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก และเสนอผลประโยชน์ตอบแทนที่เรียกว่าเงินส่วนต่างให้กับผู้ร่วมลงทุนในอัตราฉบับละ ๑๐ บาท ปรากฏว่ามีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ เมื่อสลากไม่เพียงพอบริษัท เทวาสิทธิ พิฆเนศ จำกัด โดยนายศรีสุข รุ่งวิสัย กับพวก ยังได้ไปทำสัญญากับสหกรณ์อื่นๆ เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนในระบบ โดยสหกรณ์ต่างๆ ไม่เคยได้รับสลากแต่อย่างใด ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 (3) ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 จึงมีมติให้อายัดทรัพย์สินรายบริษัท เทวาสิทธิ พิฆเนศ จำกัด โดยนายศรีสุข รุ่งวิสัย กับพวก ไว้ชั่วคราว รวมจำนวน 100 รายการ ได้แก่ โฉนดที่ดินหนองตางู บรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 92 รายการ โฉนดที่ดินที่ ต.บางเมือง และ ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง สมุทรปราการ จำนวน 4 รายการ และ อาคารชุดไดมอนด์ รัชดา ห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร จำนวน 4 รายการ มูลค่ารวมกว่า 300 ล้านบาท

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ พันตำรวจเอก สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. ร่วมกับ นายสันติ เจริญสุข ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แถลงข่าวประเด็นเรื่อง การอายัดทรัพย์เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนหลอกให้เปิดบัญชีแต่ไม่มีผลกำไรจริงว่า ตามที่ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีหนังสือรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยของวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมเกษตรกรไทย กับพวก เพื่อให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป นั้น

จากการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรม พบว่า เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมเกษตรกรไทย กับพวก ได้เปิดบัญชีกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในหลายพื้นที่ จำนวน 19 สาขา รวม 146 บัญชี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยมีเงินบำนาญ ปลดภาระหนี้สินและลดช่องทางการจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลาง และมีการเสนอผลตอบแทนให้แก่สมาชิกในลักษณะที่สูงเกินความเป็นจริง

พฤติการณ์ของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมเกษตรกรไทย กับพวก มีการโฆษณาเชิญชวนให้ลูกค้าและประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิก มีการจัดประชุมสัมมนาเชิญชวนบุคคลทั่วไป โดยให้เปิดบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. นำเงินเข้าบัญชีของเครือข่ายเป็นประจำทุกเดือน มีการตั้งเครือข่ายประจำจังหวัด เพื่อให้เครือข่ายประจำจังหวัดนั้นๆ หาสมาชิกให้แต่ละพื้นที่เปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับเงินค่ารับสมัครและเงินตามโครงการที่สมาชิกเครือข่ายฯประสงค์จะเข้าร่วม ซึ่งเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์เชิญชวนประชาชนให้สมัครสมาชิก โดยเสนอแผนการดำเนินงานและผลประโยชน์ตอบแทนที่สูง ในช่วงระยะเวลาที่สั้น เช่น ออมเงินเดือนละ 1,000 บาท สามารถกู้เงินได้เงินในวงเงิน 1,000,000 บาท โดยไม่เสียดอกเบี้ย และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเครือข่ายฯ มีการดำเนินการประกอบธุรกิจหรือกระทำการใดๆ อันที่จะได้ผลตอบแทนที่เพียงพอที่จะให้กับสมาชิกตามคำประชาสัมพันธ์เชิญชวน

เมื่อประชาชนผู้สนใจสอบถามถึงรายละเอียดของโครงการต่างๆ ทางเครือข่ายฯ ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนกับบุคคลที่สนใจได้ จึงน่าเชื่อเป็นการกระทำเพียงมุ่งจะหาสมาชิก เพื่อการระดมเงินค่าสมัครมาหมุนเวียนในเครือข่ายตน มีการเสนอผลตอบแทนที่สูงโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพียงพอ ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 (3) ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 จึงมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมเกษตรกรไทย กับพวก และผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ มีมติอายัดทรัพย์สินรายวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมเกษตรกรไทย กับพวก ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 146 รายการ บัญชีรวมเป็นเงินประมาณ 6 แสนบาท

เลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ สำนักงาน ปปง. ดำเนินการจัดทำ แบบคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ทั้งแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษเรียบร้อยแล้ว ผู้เสียหายสามารถดาวน์โหลดแบบดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th หรือ มารับได้ที่ส่วนรับเรื่องเรียน กองสื่อสารองค์กร

สำหรับผู้เสียหายที่เป็นชาวต่างประเทศ หากมีความประสงค์จะยื่นคุ้มครองสิทธิดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดแบบคำร้องภาษาอังกฤษได้ ทั้งนี้จะต้องแปลเป็นภาษาไทยและต้องรับรองลายมือชื่อจากกระทรวงการต่างประเทศหรือโนตารี พับลิค (NOTARY PUBLIC) แนบมาพร้อมหลักฐานต่างๆ ที่ใช้ประกอบการยื่นคำร้องด้วย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน ปปง. 1710 และเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th

logoline