svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้! มติมส.เสนอชื่อ "สมเด็จช่วง" เป็นสังฆราช ผิดขั้นตอน

03 มีนาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัญหาเรื่องกระบวนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ถึงจุดพลิกผันอีกครั้ง เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยออกมาว่ากระบวนการเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 มีการทำผิดขั้นตอน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ พร้อมด้วย นพ.มโน เลาหวณิช อดีตศิษย์วัดพระธรรมกาย ไปยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อ 19 มกราคม ให้พิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมาย มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 ว่า หน่วยงานใดมีอำนาจในการเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช

โดยนายไพบูลย์ เห็นว่าตามเจตนารมณ์ของมาตรา 7 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม (มส.) เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช นั้น เท่ากับกฎหมายมีเจตนารมณ์ให้นายกฯเป็นผู้ริเริ่มในการพิจารณาและเสนอนามของสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงสุดต่อมหาเถรสมาคม เพื่อให้ความเห็นชอบดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช แล้วจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล ไม่ใช่มหาเถรสมาคมเป็นผู้ริเริ่มหยิบยกขึ้นพิจารณาเสนอนามและลงมติเลือกเอง แล้วจึงเสนอนายกรัฐมนตรี ให้ทำหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เท่านั้น
ล่าสุดผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยประเด็นนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีความเห็นว่า การดำเนินการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชจะต้องเริ่มต้นที่นายกฯ โดยหลักฐานรายงานสภาในการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เมื่อปี 2535 ระบุชัดเจนว่าต้องเริ่มโดยนายกฯแล้วค่อยส่งให้ มส. เห็นชอบ ดังนั้น มติ มส. เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ให้เสนอชื่อสมเด็จช่วงเป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงเป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอนกฎหมาย

สำหรับขั้นตอนต่อไป ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีการแถลงเรื่องนี้เร็วๆนี้ และส่งผลการวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯต่อไป จากนั้นนายกฯก็คงจะส่งต่อให้ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และคงจะส่งเรื่องกลับไปที่ มส.ต่อไป

นายไพบูลย์ กล่าวว่า หากผู้ตรวจการมีมติดังกล่าว เท่ากับเป็นการชี้ว่ามติ มส.เมื่อ 5 มกราคมเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะเป็นมติที่ไม่มีผลใดๆ และ มส.ต้องดำเนินการเพิกถอน

ถามว่าหาก มส.ไม่เพิกถอน จะถือว่ามตินี้เป็นโมฆะไปหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า หาก มส.ยังเพิกเฉยและยังนำมตินี้ไปใช้ก็จะเรียกร้องให้มีการเพิกถอน ซึ่งอาจจะร้องไปที่ศาลปกครอง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าคงไม่ไปถึงขั้นตอนนั้น เพราะเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นดังกล่าว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก็คงไม่นำชื่อสมเด็จช่วงขึ้นทูลเกล้าฯ
อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ กล่าวว่า ผลจากคำวินิจฉัยอีกส่วน คือ วัดต่างๆที่อ้างมติ มส.และขึ้นป้ายสนับสนุนมติดังกล่าวจะต้องเอาป้ายลง เพราะเอามติที่ไม่ชอบไปอ้าง
ทั้งนี้นายไพบูลย์ กล่าวว่า การส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยนี้ เป็นไปตามอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติผู้ตรวจการแผ่นดิน คือ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออํานาจหน้าที่ตามกฎหมาย ของหน่วยงานของรัฐ คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่นำมติ มส.ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาเสนอต่อนายกฯ

logoline