svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ป.ป.ง.เข้าตรวจค้นอายัดทรัพย์ 100 ล้าน จากกลุ่มนายทุนฮุบที่สาธารณะประโยชน์ อ.สูงเนิน

22 สิงหาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นครราชสีมา - 22 ส.ค. 2557 - ป.ป.ง.เข้าตรวจค้นอายัดทรัพย์ 100 ล้าน จากกลุ่มนายทุนฮุบที่สาธารณะประโยชน์อ.สูงเนิน เนื้อที่กว่า 3,900 ไร่ เร่งขยายผลแกะรอยความเชื่อมโยงโควต้าน้ำตาลครบุรี ขณะที่ทัพภาค 2 โชว์ผลงาน 2 เดือนทวงคืนผืนป่า 50,000 ไร่

พ.อ.สมหมาย  บุษบา  คณะทำงานด้านกฎหมาย กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 2 พร้อมด้วยพ.ต.อ.สีหนาท  ประยูรรัตน์  เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) นำกำลังเจ้าหน้าที่ปปง.เข้าตรวจสอบและยึดอายัดทรัพย์ นายอัมรินทร์ อยู่สุขดี หรือ เสี่ยกัง นักธุรกิจเจ้าของโรงแรมชื่อดังในอ.ปักธงชัย  นายสมโภชน์ ศรีใหม่ นายทรงชัย แป้สูงเนิน กับพวก กรณีบุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะประโยชน์ หนองกุง-หนองแก้ว ม. 6 ต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา จำนวนกว่า 3,900 ไร่ มานานกว่า 20 ปี
โดยคดีดังกล่าวก่อนหน้านี้ทหารพร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ได้เข้าไปตรวจสอบและอยู่ระหว่างขอเพิกถอนสปก.4-01 จากนั้นได้ส่งข้อมูลให้ปปง.ตรวจสอบเอาผิดกลุ่มผู้บุกรุกในฐานความผิดตามมาตรา 3 (15) ของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เรื่องการทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการค้า
                เลขาธิการปปง. กล่าวถึงการเข้ายึดอายัดว่ามีเป้าหมาย 4 จุด คือ โรงแรมอัมรินทร์ อ.ปักธงชัย  อัมรินทร์รีสอร์ท วังน้ำเขียว  บ้านพักนายสมโภชน์ ต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน และบ้านนายทรงชัย โดยจุดสำคัญคือบ้านนายสมโภชน์ ที่ใช้เก็บรถบรรทุกที่ใช้เพื่อการเก็บเกี่ยวอ้อย ปปง.ตรวจยึดอายัดไว้รวม 30 คัน  รถทั้งหมดตรวจสอบแล้วพบว่าได้มาจากการกระทำความผิดในการเข้าไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติซึ่งกรณีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ปปง.ดำเนินการตามมาตรา 3 (15) กับกลุ่มนายทุน ที่แม้ไม่ได้เข้ามาบุกรุกเองแต่เอื้อประโยชน์ชาวบ้านด้วยการให้เช่าซื้อรถเพื่อนำมาใช้ในการเกษตร ทำให้ชาวบ้านเข้าไปบุกรุกทำกินในพื้นที่ 
อย่างไรก็ตาม ปปง.จะให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มนายทุนที่อ้างว่าได้ทรัพย์มาโดยชอบ ด้วยการนำหลักฐานมาพิสูจน์ทรัพย์  หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกต้องก็จะคืนทรัพย์สินให้ แต่หากชี้แจงไม่ได้ก็ต้องยึดอายัดตามกฎหมาย  ส่วนกรณีที่อาจขออนุญาตนำรถมาใช้ประกอบอาชีพอาจมีการกำหนดเงื่อนไขเป็นรายไป  สำหรับทรัพย์สินที่ยึดอายัดได้จะนำไปเก็บไว้ที่ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ กองกำลังสุรนารี เบื้องต้นประเมินมูลค่าทรัพย์ที่ยึดอายัดวันนี้กว่า 50 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีบ้านในอ.วังน้ำเขียว 3 หลัง อาคารในอ.ปักธงชัย 2 หลัง  บัญชีธนาคาร 12 บัญชี รวมมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท
                เลขาธิการปปง. กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะทำการตรวจสอบเพื่อหาความเชื่อมโยงการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างกลุ่มนายทุนผู้บุกรุกและพวก  และจะเรียกเจ้าของโรงงานน้ำตาล ครบุรีมาให้ปากคำเกี่ยวกับโควตาอ้อย  ซึ่งโรงงานมีส่วนต้องรับผิดชอบการบุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์เพราะถือว่าโรงงานได้รับผลผลิตและผลประโยชน์โดยตรง  ด้วยการสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร โดยไม่สนใจว่าที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์   ซึ่งสัปดาห์หน้าปปง.จะเรียกเจ้าของโรงงานเข้าชี้แจงต่อไป
                 ด้านพ.อ.สมหมาย กล่าวว่า  การเข้ายึดอายัดทรัพย์ของนายทุนกลุ่มดังกล่าว กองทัพภาคที่ 2 ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก 2457 และปปง.ใช้อำนาจตามกฎหมายฟอกเงิน  เนื่องจากพบว่ากลุ่มทุนได้รับประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรเชิงการค้ามีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท แต่ละปีผลผลิตที่ได้จากที่ดิน 1 ไร่จะได้อ้อยประมาณ 80,000 ตัน โดยขายได้ราคาประมาณ 1,000 บาท 
ดังนั้นแต่ละปีจะมีรายได้จากการขายอ้อยประมาณ 80 ล้านบาท  และหากตรวจสอบย้อนหลังการเข้าใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2535-ปัจจุบัน จะพบว่านายอัมรินทร์ได้รับผลประโยชน์จากการขายอ้อยมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท โดยโรงงานน้ำตาละครบุรีได้ให้ข้อมูลว่ารายได้ดังกล่าวเป็นการคำนวณจากรายได้จริง  ซึ่งโรงงานดังกล่าวอยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารหลักฐานการซื้อขายอ้อยมาให้คณะทำงานพิจารณา
                พ.อ.สมหมาย กล่าวถึงกรณีการเอาผิดทางวินัยกับนายไพบูลย์  ฐิติกุล  นายช่างรังวัดชำนาญงาน  สำนักงานที่ดินจ.นครราชสีมา  ในฐานะเป็นผู้รังวัดที่ดินเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้บุกรุก ว่า   นายไพบูลย์ยอมรับว่าได้ร่วมลงนามจัดทำเอกสารในที่ดินดังกล่าวจริง โดยเป็นการทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา 
นอกจากนี้ตนได้เรียกนายอัมรินทร์และเครือญาติที่มีส่วนรับผลประโยชน์จำนวน 22 คน พร้อมทั้งภรรยาอีก 3 คน เข้าให้ปากคำ ซึ่งทั้งหมดรับว่านายอัมรินทร์ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินทั้งหมดจริง ขณะที่นายสมโภชน์ที่เช่าใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ใช้ชื่อภรรยาคือนางลำไย  ศรีใหม่ เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินทั้งหมด ทั้งนี้ การยึดอายัดทรัพย์นายทุนดังกล่าวถือเป็นรายแรกที่รัฐสามารถเรียกคืนที่ดินและทรัพย์สินที่นายทุนได้รับประโยชน์จากการใช้พื้นที่คืน
ขณะที่นายอัมรินทร์  ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ปปง. โดยยืนยันว่ามีเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดินจริงทั้งนส.3 ก  สค. 1 และใบภบท. 5 โดยครอบครองที่ดินกว่า 1,700 ไร่ ซึ่งซื้อต่อมาจากชาวบ้านหลายรายราคาไร่ละตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท โดยไม่ทราบว่าที่ดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์  ในจำนวนนี้ได้แบ่งให้นายสมโภชน์เช่าปลูกอ้อยจำนวน 1,095 ไร่ ส่วนที่เหลือประมาณ 100 ไร่ ตนปลูกเอง เพื่อส่งให้โรงงานน้ำตาล ครบุรี ขณะที่บางส่วนได้ปลูกต้นสักและยางพารา 
"ที่ดินของผมมีเพียงพันกว่าไร่ไม่ใช่ 3,900 ล้านไร่  แต่ยอมรับว่าทำกินเกินจากที่มีเอกสารสิทธิ์แต่ไม่รู้จำนวนที่ชัดเจน  ทั้งนี้ยังมีชาวบ้านรายอื่นเข้าไปบุกรุกทำกินจึงอยากขอความเป็นธรรมว่าอย่าเอาผิดเฉพาะตน  ต้องเอาผิดคนอื่นด้วย รวมถึงการบุกรุกที่สาธารณะประโยชน์ในพื้นที่อื่นด้วย" นายอัมรินทร์กล่าว
นายสมโภชน์  ยอมรับว่าเป็นคนในพื้นที่หนองตะไก้แต่ไม่รู้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ โดยเช่าพื้นที่ปลูกอ้อยต่อจากนายอัมรินทร์ทำให้ไม่รู้ว่าเป็นที่ดินสาธาณะประโยชน์หรือไม่  ส่วนรถที่ใช้เพื่อการเกษตรที่ยึดอายัดได้จากบ้านพักของตนวันนี้เป็นรถที่โรงงานน้ำตาล ครบุรี ให้มาไว้เพื่อใช้ในกิจการดูแลและตัดอ้อย  ตนไม่ใช่เจ้าของทรัพย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาคณะทำงานของคสช. นำโดยพล.ต.ธวัช  สุกปลั่ง รองแม่ทัพภาคที่ 2 ได้เข้าไปตรวจสอบการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติสามารถนำที่ดินคืนรัฐได้ทั้งหมด 10 แห่ง ประกอบด้วย
1.ที่ดินสาธารณะประโยชน์ หนองตะไก้  3,900 ไร่ 2.กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าบ้านวะช่องโค อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา 1,400 ไร่3.พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโคกสูง 1,000 ไร่4.ที่ดินสาธารณะประโยชน์บุ่งสะพัง อุบลราชธานี 1,600 ไร่5. ป่าสงวนแห่งชาติภูพาน จ.เลย 1,000 ไร่6. พื้นที่ป่าสงวนป่าดงชุมพวง จ.นครราชสีมา 2,400 ไร่7. พื้นที่สาธารณะโคกดอนไผ่ใหญ่ อ.ปักธงชัย นครราชสีมา 12,000 ไร่8. อุทยานแห่งชาติทับลาน 20,000 ไร่9. พื้นที่สาธารณะประโยชน์ป่าหลุบโพธิ์ จ.ชัยภูมิ 3,000 ไร่10. ป่าสงวนแห่งชาติป่าครบุรี 500 ไร่ รวมเนื้อที่บุกรุกที่ทวงคืนได้เกือบ 50,000 ไร่

logoline