เข้าสู่เทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนทั่วโลก นั่นก็คือเทศกาล “ตรุษจีน” ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 1 ก.พ. 2565 โดยประกอบไปด้วย 3 วันสำคัญ คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว
สำหรับ "วันไหว้" ถือเป็นวันที่ชาวเชื้อสายจีน และชาวจีนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อขอพรเรื่องโชคลาภ โดยจะมีการตั้งโต๊ะไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย” ตามความเชื่อที่ว่าจะดลบันดาลให้ทำมาค้าขึ้น ทำธุรกิจได้ราบรื่น เจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง เงินทองไหลมาเทมา
โดยควรตั้งโต๊ะไหว้ทั้งหมด 4 รอบด้วยกัน ได้แก่
1. ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วงเช้ามืด
เริ่มต้นด้วยการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ไป๊เล่าเอี๊ย) ในช่วงเช้าเวลาประมาณ 06.00-07.00 น. เป็นการไหว้ขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเทวดาผู้คุ้มครองบ้านเรือน ที่มาปกปักดูแลให้เจ้าบ้านอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
2. ไหว้บรรพบุรุษ ช่วงสาย
การไหว้บรรพบุรุษ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีตามคติความเชื่อของชาวจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เวลาประมาณ 10.00-11.00 น. หลังจากไหว้แล้วรอจนธูปหมด จากนั้นทุกคนในครอบครัวก็จะนำของไหว้มารับประทานร่วมกันและแจกจ่ายแบ่งปันเพื่อนบ้าน
3. ไหว้ทำทานสัมภเวสี ช่วงบ่าย
การไหว้ทำทานแก่ผีไม่มีญาติหรือสัมภเวสี จะไหว้ตอนบ่ายเวลาประมาณ 14.00-16.00 น. พอไหว้เสร็จให้รอสักครู่ จากนั้นให้จุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปให้หมด และเพื่อความเป็นสิริมงคลต้อนรับตรุษจีน
4. ไหว้ "ไฉ่ซิงเอี้ย" เทพแห่งโชคลาภ ช่วงดึก
การไหว้คือช่วงกลางดึกของคืนวันสิ้นปี ก่อนจะย่างเข้าวัน "ตรุษจีน" ระหว่างเวลา 23.00-01.00 น. โดยมีความเชื่อว่าการไหว้เทพไฉ่ซิงเอี้ยจะทำให้เกิดโชคลาภและร่ำรวยตลอดปี
สำหรับที่นิยมไปไหว้เพื่อเสริมสิริมงคลในวันตรุษจีน ได้แก่
1.วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)
วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย เป็นที่คุ้นเคยในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนจากต่างประเทศ นักแสวงบุญมักมาขอพรเพื่อสิริมงคลใน “วันตรุษจีน” และสะเดาะเคราะห์สำหรับผู้ที่เกิดปีชงในแต่ละปี
2.วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2)
วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ หรือ วัดเล่งเน่ยยี่2 คนไทยเชื้อสายจีน หรือคนไทยทั่วไป ส่วนใหญ่จะเดินทางไปไหว้เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย ที่ศาลเจ้าเล่งเน่ยยี่ มังกรกมลาวาส (ทำบุญแก้ชง) ทำบุญเสริมโชคลาภเทียนถวายพุทธบูชา เพื่อให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง พร้อมด้วยเครื่องสักการะ
3. วัดมังกรบุปผาราม วัดเล่งฮัวยี่
วัดมังกรบุปผาราม หรือวัดเล่งฮัวยี่เป็นวัดในพุทธศาสนา นิกายมหายาน เป็นวัดจีนหนึ่งในสามวัดเล่งอันหมายถึงมังกร ชื่อภาษาจีนคือ “เล่งฮั้วยี่” แปลได้ว่า มังกรบุปผาราม มีศาลาและพระอุโบสถที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสกเป็นลวดลายต่างๆอย่างงดงาม ภายในวัดมีบรรยากาศที่เงียบสงบ และร่มรื่น เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรม และเป็นที่นิยมไปไหว้เพื่อเสริมสิริมงมคใน “วันตรุษจีน” ด้วยเช่นกัน
4.ศาลเจ้าแม่กวนอิม (มูลนิธิเทียนฟ้า)
ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า มีศาลรูปเคารพของ “เจ้าแม่กวนอิม” พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปางประทานพร ประดิษฐานเป็นเทพเจ้าองค์ประธาน ซึ่งชาวพุทธนิกายมหายาน ได้ให้ความเคารพนับถือต่อพระโพธิสัตว์นอกเหนือจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเชื่อว่าพระโพธิสัตว์คือผู้ที่ตรัสรู้แล้ว เพียงแต่ยังไม่เข้าสู่พุทธภูมิ จนกว่าจะช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากเสียก่อน
5.ศาลเจ้าปุงเถ่ากง จ.เชียงใหม่
ศาลเจ้าปุงเถ่ากง เชียงใหม่ เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่มีอายุร้อยกว่าปี เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดเชียงใหม่ ภายในศาลองค์ปุงเถ่ากง-ม่า (เจ้าปู่ เจ้าย่า) นอกจากนี้ยังมียังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เทพเจ้าที่ชาวจีนให้ความเคารพนับถืออีกหลายองค์คือ ทีตี่แป่บ้อ (เทพยดาฟ้าดิน) กวนอิมเนี่ยเนี้ย (เจ้าแม่กวนอิม) ไช้ซิ้งเหล่าเอี้ย (เทพเจ้าโชคลาภ) ฮั่วท้อเซียนซือ (เทพเจ้าโอสถ) เฮี้ยงเทียนเซียงตี่หรือตั้วเล่าเอี้ย (เจ้าพ่อเสือ) เล้งซิ้ง (เจ้ามังกร) โฮ้วเอี้ย (เจ้าพยัคฆ์) ซึ่งเหมาะแก่การไปกราบไหว้เพื่อเสริมสิริมงคลอีกที่หนึ่ง
6. ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง (ศาลเจ้าโป๊ยเซียน)
ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากงเป็นศาลเจ้าเก่าแก่มีอายุกว่าสองร้อยปี ลักษณะเป็นอาคารสถาปัตยกรรมสกุลช่างจีนแต้จิ๋วแบบซี่เตียมกิม ที่หมายถึง "สี่ตำแหน่งทองคำ" ภายในศาลเจ้าเป็นที่ประดิษฐานของ "เทพเล่าปูนเถ้ากง" สำหรับศาลแห่งนี้ชาวจีนแต้จิ๋วในอดีตร่วมกันสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ขอให้อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองในการดำเนินชีวิตประจำวัน และทำกิจการค้าเจริญรุ่งเรือง
7.ศาลเจ้าพ่อเสือ
ศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นศาลที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย ภายในศาลมีเทพเจ้า “ตั๋วเหล่าเอี้ย” (เจ้าพ่อใหญ่) “เทพเจ้าตั่วเหล่าเอี๊ย” (องค์เทพเฮี่ยงเทียนเสี่ยงตี่) นับว่าเป็นอีกหนึ่งในสถานที่ ที่นิยมไปกราบไหว้ขอพรในวันตรุษจีน เพื่อให้มีโชคมีชัยตลอดทั้งปี ณ ศาลเจ้าพ่อเสือและยังมี เจ้าพ่อเสือซึ่งชาวจีนถือเป็นเทพศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องอภิบาลและปราบปรามศัตรู เนื่องจากคนจีนเชื่อว่าการบูชาเทพเจ้าเสือ ถือเป็นการสาปส่งหรือไล่เสนียดวิญญาณที่เป็นศัตรูต่างๆ ออกไปได้
8.ศาลเจ้าพ่อเซียงกง
ศาลเจ้าเซียงกง (เซียนกง) สร้างขึ้นเมื่อรัชสมัยเสียนฟงปีที่ 4 แห่งราชวงศ์ชิง โดยชาวจีนจากมณฑลฮกเกี้ยนของประเทศจีนกลุ่มหนึ่งที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานยังกรุงเทพมหานคร โดยได้นำรูปปั้นของ “ท่านเซียงกง” จากมณฑลฮกเกี้ยนมาประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้ เพราะเป็นที่เคารพศรัทธาเป็นอย่าง นอกจากนี้ในเวลาต่อมาในศาลได้สร้างเสามังกร (ทีกง) ที่โดดเด่นเป็นสง่า นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่เป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นอย่างมาก
9.ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร (วัดสามจีน)
ศาลเจ้าไต้เสี่ยฮุกโจ้ว หรือ ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ถือเป็นอีกหนึ่งวัดที่มีความเก่าแก่ในประเทศไทย โดยสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เดิมชื่อวัดสามจีนเพราะมีชาวจีนซึ่งเป็นเพื่อนกัน 3 คน ได้ร่วมสร้างวัดนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นศาสนสถานที่จะใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ภายในศาลเจ้ามีองค์เจ้าพ่อ “เห้งเจีย” ซึ่งเป็นปางไต้เสี่ยฮุกโจ้ว คือปางสำเร็จเป็นอรหันต์แล้ว มีอายุยาวนานหลายร้อยปีและถือเป็นองค์แรกของประเทศไทยที่อยู่คู่วัดสามจีนมายาวนาน
10.ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าแม่ทับทิม ปากน้ำโพ
ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าแม่ทับทิม หรือ ศาลเจ้าพ่อแควใหญ่ ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมศรัทธาไทย-จีนที่เหนียวแน่น มีอายุมากกว่า 130 ปี ภายในศาลเจ้ามีองค์เทพเจ้าบ๊นเถ่ากง เทพเจ้ากวนอู และ เจ้าแม่ทับทิม ซึ่งคนนิยมมากราบไหว้ขอพรขอให้มีโชคลาภตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในช่วงตรุษจีน จะมีการอัญเชิญองค์เทพเจ้าแห่รอบตลาดปากน้ำโพอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้ผู้คนได้มาสักการะบูชาอีกด้วย