svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

ระวัง 'ง่วงเหงาหาวบ่อย' สัญญาณเตือนสุขภาพ

21 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

บางครั้ง "การหาว" อาจไม่ได้แปลว่า "ง่วง" แต่เป็นผลพวงด้านสุขภาพ หาคำตอบหาวบ่อย ง่วงจริงหรือถูกกระตุ้นจากโรค เช็กตัวเองก่อนสาย!!

ใครที่มีอาการหาวบ่อยๆ หรือง่วงนอนตอนกลางวันเป็นประจำ จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่แค่ง่วงนอน แต่แท้จริงแล้วอาจจะกำลังเผชิญกับสาเหตุเหล่านี้อยู่ก็เป็นได้

การหาว เป็นกลไกหนึ่งของร่างกายที่ต้องการจะรับเอาออกซิเจนจากอากาศเข้าสู่กระแสเลือด พร้อมช่วยขับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดออกไป เพื่อรักษาความสมดุลของร่างกาย ซึ่งการหาวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างกายเรามีออกซิเจนไม่เพียงพอ หรือมีคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดมากเกินไป จนก่อให้เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอน

การหาวบ่อยเป็นอาการหาวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ มากกว่า 1 ครั้งต่อนาที และถึงแม้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของการหาวอาจมาจากความง่วง หรือความอ่อนเพลีย แต่ในบางครั้งแล้วนั้นการหาวมากจนผิดปกติซึ่งอาจเป็นผลมาจากสาเหตุหลักดังนี้

ระวัง 'ง่วงเหงาหาวบ่อย' สัญญาณเตือนสุขภาพ

พักผ่อนไม่เพียงพอ

พฤติกรรมการนอนไม่เพียงพอทำให้ส่งผลทำให้เกิดอาการง่วงนอนตอนกลางวันได้ ถึงจะดูเหมือนไม่ได้ร้ายแรงแต่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงยังก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายอย่างโรคอ้วน โรคหัวใจ หรือโรคซึมเศร้า ฯลฯ ทั้งนี้ ให้ลองเช็คตัวเองดูหากเป็นเช่นนั้นควรปรับพฤติกรรมการนอนและจัดตารางการนอนใหม่ โดย 1 วันควรนอนให้ได้อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง และงดการจ้องมองจอที่มีแสงสีฟ้าก่อนนอน

นอนไม่หลับ

เป็นอาการที่ร่างกายรู้สึกอยากจะนอน แต่ไม่สามารถหลับได้ อาจจะใช้เวลานานกว่าปกติ หลับไปแล้วแต่ตื่นเร็ว หรือตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วไม่สามารถนอนหลับต่อไปได้ ทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เต็มที่ ดังนั้น ควรเข้านอนให้เป็นเวลาเพื่อให้ร่างกายชิน และควรงดเครื่องดื่มที่มีสารออกฤทธิ์กระตุ้นสมอง เช่น สารคาเฟอีนที่มีอยู่ในชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น แต่หากอยากดื่มควรเลือกดื่มก่อน 14.00 น. เพราะถ้าดื่มหลัง 14.00 น. อาจทำให้ร่างกายมีปัญหานอนไม่หลับได้

ฤทธิ์ของยาบางชนิด

กลุ่มคนที่รับประทานยา เช่น กลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้า หรือกลุ่มยารักษาภาวะวิตกกังวล อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียง มีอาการง่วงซึม นอนไม่หลับได้

ระวัง 'ง่วงเหงาหาวบ่อย' สัญญาณเตือนสุขภาพ

หาวบ่อยๆ เพราะอาการป่วยบางชนิด อาทิ

โรคปลอกประสาทอักเสบชนิด MS (multiplesclerosis) เกิดจากปลอกหุ้มเส้นประสาทภายในระบบประสาทส่วนกลางได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย ผู้ป่วยโรคนี้จะรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ เนื่องจากการนำสัญญาณของเส้นประสาทจากสมองส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เสียไป จึงส่งผลให้เกิดอาการหาวบ่อยได้

เนื้องอกในสมอง เกิดจากเนื้อที่เกิดจากการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์ในสมองหรือบริเวณเนื้อเยื่อและต่อมต่างๆ บริเวณใกล้เคียงกับสมอง ซึ่งอาจรบกวนระบบประสาทและการทำงานของสมอง ซึ่งได้มีผลการวิจัยจากวารสาร Neurosurgery and Psychiatry พบว่าผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเนื้อเยื่อสมองมักจะมีอาการหาวบ่อย เนื่องมาจากอาจเกิดจากระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวถูกกดทับ ทำให้เลือดส่งออกซิเจนมาเลี้ยงสมองได้ลำบาก จนร่างกายต้องรับออกซิเจนเพิ่มด้วยการหาวบ่อยๆ

โรคหลอดเลือดสมอง คือภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจน และเหตุนี้อาจทำให้เกิดอาการหาวบ่อยได้ แต่นอกจากนี้โรคนี้อาจมีหลายอาการร่วมกัน เช่น ร่างกายอ่อนแรง มีอาการอัมพฤกษ์ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย, มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว, เห็นภาพซ้อน, มึนงงอย่างรุนแรง เป็นต้น อาการเหล่านี้จะกินเวลานาน หลังจากนั้นอาการจะหายไป ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนบอกถึงอันตรายควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

โรคลมชัก เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์สมองบริเวณผิวสมอง ทำให้สมองทำงานผิดปกติไป จึงส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และอาการหาวบ่อยก็เป็นหนึ่งในความผิดปกติของผู้ป่วยโรคนี้ได้เช่นกัน

ตับทำงานล้มเหลว (ตับวาย) เป็นภาวะที่เกิดจากตับสูญเสียการทำงานจนส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาการหาวบ่อยมักพบได้ในผู้ป่วยโรคตับวายในระยะที่อาการเริ่มรุนแรงแล้ว เพราะเนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่ค่อยหลับ จึงเกิดอาการหาวบ่อยๆ ได้

กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจจะขาดเลือดและออกซิเจน ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตายได้ หากมีอาการหาวบ่อยผิดปกติร่วมกับรู้สึกเจ็บหน้าอก จุกแน่นหน้าอก หายใจได้สั้นลง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังมีอาการ เพราะอาจอันตรายถึงชีวิตได้

 

วิธีแก้อาการหาวบ่อย

  1. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล เพราะการรับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมากจนเกินไป เป็นตัวการที่ทำให้ร่างกายง่วงซึมได้ เพราะตับอ่อนจะส่งอินซูลินออกมาเพื่อย่อยน้ำตาลเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ก่อให้เกิดอาการง่วงนอนตามมานั่นเอง
  3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและเป็นเวลา ให้ได้อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
  4. ดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ เพื่อเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย
  5. หากใครเป็นมนุษย์ออฟฟิศอย่ามัวนั่งแต่หน้าคอมพิวเตอร์ ให้หาเวลาเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อผ่อนคลายบ้าง
  6. งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มคาเฟอีน

วิธีแก้ไขอาการหาวบ่อยผิดปกติเบื้องต้น

  • หายใจลึก ๆ จะช่วยเพิ่มออกซิเจนในร่างกาย สามารถลดการหาวได้ในผู้ที่การหาวเกิดจากร่างกายต้องการออกซิเจน หรือในกรณีหาวติดต่อกับผู้อื่น (contagious yawn) 
  • เคลื่อนไหว ขยับร่างกาย การเคลื่อนไหวร่างกายสามารถกระตุ้นระบบประสาทและสมองได้ สามารถลดการหาวในผู้ที่การหาวเกิดจากความเหนื่อยล้า เบื่อ หรือความเครียดได้ 
  • เพิ่มความเย็นในร่างกาย เช่น การเดินไปยังบริเวณที่อากาศเย็นและถ่ายเท ดื่มน้ำเย็น หรือกินอาหารว่างเย็น ๆ  เช่น ผลไม้แช่เย็น 

หาวบ่อยระดับไหนควรไปพบแพทย์

เราควรไปพบและปรึกษาแพทย์เมื่อมีการหาวบ่อยมากกว่าปกติ และมีอาการอื่นที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาการทางกายที่ผิดปกติอื่น ๆ 

แนวทางการรักษาอาการหาวบ่อย

เนื่องจากการหาวผิดปกติเกิดได้จากหลายสาเหตุ การรักษาจึงเน้นการรักษาที่ต้นเหตุ เช่น 

  • การหาวที่เกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือความเหนื่อยล้า สามารถใช้วิตามินเสริมช่วยลดความเหนื่อยล้าได้ ในผู้ที่ขาดวิตามิน 
  • การหาวผิดปกติที่เกิดจากปัญหาด้านการนอน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับอาจแนะนำแนวทางเพื่อการนอนหลับที่ดีขึ้น เช่น การเข้านอนเป็นเวลาเดิมในทุก ๆ คืน การใช้อุปกรณ์ช่วยการหายใจขณะนอนหลับ การออกกำลังเพื่อลดความเครียด หรือการใช้ยาในรายที่จำเป็น เป็นต้น 
  • การหาวผิดปกติที่เกิดจากยา แพทย์จะพิจารณาลดขนาดยาลงหรือหยุดยาที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่ควรปรับหรือหยุดยาด้วยตนเอง 
  • การหาวที่เกิดจากโรคทางกายอื่น ๆ เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะแนะนำการรักษาที่ตัวโรค ซึ่งจะทำให้อาการหาวผิดปกติดีขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม หากใครที่มีอาการหาวบ่อยๆ ก็อย่าเพิ่งกังวลใจไป ให้ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนหลับพักผ่อนและสังเกตอาการต่างๆ ของตัวเองร่วมด้วย ซึ่งหากว่าลองทำแล้วแต่ยังพบว่ามีอาการหาวบ่อยเช่นเดิม ให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการดังกล่าวจะดีที่สุด หรือหากมีอาการหาวบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากโรคหรือภาวะเจ็บป่วยที่รุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคลมชัก ตับวาย ฯลฯ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างถูกต้องและเร่งด่วน

 

logoline