svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

โรคถุงลมโป่งพอง ภัยร้ายที่สร้างได้จากในครัวเรือน

17 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัจจัยเร่งทำลายปอดอยู่ทุกที่ รู้จัก "โรคถุงลมโป่งพอง" อันตรายที่ทุกคนสร้างได้และหลีกเลี่ยงได้ แพทย์เตือนโรคนี้เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ใกล้ชิด และผู้สูดดมสารพิษอื่นๆ

ในทุกๆ วันเรารับอากาศเข้าไปในปอดเพื่อใช้ก๊าซออกซิเจนในการดำรงชีวิต แต่โดยที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เราก็ทำลายปอดด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งหากปอดถูกทำลายไปแล้วจะไม่สามารถกู้คืนหรือทำให้กลับมาเป็นปกติดังเดิม ส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่าง “โรคถุงลมโป่งพอง”

โรคถุงลมโป่งพอง ภัยร้ายที่สร้างได้จากในครัวเรือน

ข้อมูลจาก อ.นพ.ธีระศักดิ์ แก้วอมตวงศ์ สาขาวิชาโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรคถุงลมโป่งพองเป็นในหนึ่งโรคร้ายที่มีปัจจัยเสี่ยงใกล้ตัว เพราะโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการสะสมมลพิษผ่านการสูดดมเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลวได้ เนื่องจากภาวะของถุงลมภายในปอดมีการขยายตัวมากขึ้นกว่าปกติ ส่งผลให้พื้นที่ผิวปอดน้อยลง จนเกิดความยากลำบากในการหายใจ และทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนในปริมาณที่เหมาะสม

ปัจจัยเสี่ยงมี 2 ประการใหญ่ๆ คือการได้รับสารกระตุ้น และการหายใจเอามลพิษเข้าสู่ร่างกาย

การได้รับสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง เช่น การสูบบุหรี่ การสูดดมควันบุหรี่ เป็นต้น  ส่วนการหายใจเอามลพิษเข้าสู่ร่างกาย คือการสูดดมมลพิษจากการเผาไหม้จากทั้งในและนอกครัวเรือน เช่น การสูดดมควันรถยนต์ การสูดดมควันที่เกิดจากการทำอาหาร เป็นต้น

แม้ในอดีตจะพบว่าผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองกว่า 80% นั้นเกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ แต่ปัจจุบันตรวจพบว่ามีผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองที่ไม่สูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องระวังกันมากขึ้นในเรื่องของการสูดดมมลพิษเข้าสู่ร่างกาย เพราะเพียงแค่ทำอาหารภายในครัวเรือนก็กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวได้

อาการของโรคถุงลมโป่งพอง

ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยหอบ โดยเฉพาะเวลาออกแรง ถูกจำกัดการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาจมีอาการไอและมีเสมหะเรื้อรังร่วมด้วยเนื่องจากอาการทางปอด ในบางรายอาจเบื่ออาหาร ผอมลง และบางรายอาจเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับตัวโรค อาการที่รุนแรงของโรคถุงลมโป่งพองคืออาการกำเริบเฉียบพลันที่ส่งผลให้ระบบหายใจล้มเหลว ผู้ป่วยระยะนี้ต้องนอนพักที่โรงพยาบาลและได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจ

ทั้งนี้ โรคดังกล่าวเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงจากการสูดดมมลพิษเข้าสู่ร่างกาย หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ ควันรถยนต์ ควันที่เกิดจากการทำอาหารและการเผาไหม้ในกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงการไม่สูบบุหรี่ สำหรับการรักษาโรคนี้เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้หายขาด จึงควรป้องกันไว้จะดีที่สุด

 

โรคถุงลมโป่งพอง ภัยร้ายที่สร้างได้จากในครัวเรือน

ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือที่มักเรียกกันว่า โรคถุงลมโป่งพอง คือ ภาวะที่ถุงลมภายในปอดมีการขยายตัวมากกว่าปกติ จึงส่งผลให้พื้นที่ผิวในปอดลดน้อยลง จนทำให้หายใจลำบาก และส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองมากที่สุดคือ การสูบบุหรี่ ยิ่งสูบมากก็ยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่เราสูบเองเป็นหลัก นอกจากบุหรี่แล้วก็ยังมีสารพิษอื่นๆ ที่สามารถทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน เช่น มลภาวะในอากาศตามท้องถนน หรือตามโรงงานต่างๆ ถ้าหากสูดดมสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ หรืออาจมีความผิดปกติของปอดตั้งแต่เด็กๆ จึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้มากกว่าคนอื่น

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคถุงลมโป่งพอง ส่วนใหญ่มี 2 แบบ คือ ไอ และอาการเหนื่อย โดยผู้ป่วยจะเริ่มจากมีอาการไอ และมีเสมหะบ่อยๆ มักจะเป็นมากในช่วงเช้า ต่อมาผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อยหลังเดินออกกำลังกาย และเมื่อมีอาการมากขึ้น การทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ กินข้าว ก็ทำให้มีอาการเหนื่อยได้แล้ว หรือแม้แต่อยู่เฉยๆ ก็มีอาการรู้สึกเหนื่อยได้เช่นกัน นอกจากนี้อาจพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจถี่และสั้น หายใจแล้วมีเสียงหวีด รู้สึกแน่นหน้าอกหรือเจ็บหน้าอกร่วมด้วย ในบางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด และผอมลงมาก เมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมาก จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงของหลอดเลือดที่ไหลเข้าสู่ปอด ส่งผลให้หัวใจห้องล่างขวาโตขึ้น ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้

โรคถุงลมโป่งพอง ภัยร้ายที่สร้างได้จากในครัวเรือน

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองสำหรับคนทั่วไป

1. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีควันพิษ จากท่อไอเสีย

3. สวมหน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองเมื่อต้องเจอกับฝุ่นควัน หรือสารพิษที่เป็นอันตราย

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองควรดูแลตนเอง ดังนี้

1. หยุดสูบบุหรี่

2. หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ

3. พยายามอยู่แต่ในบ้านหรือในอาคาร หากมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง

4. ผู้ป่วยควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของโรคนี้กำเริบขึ้นได้

 

ที่มา : สสส. / คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

logoline