svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

เปิดโปงสรรพคุณ 'ค้างคาว' กับเรื่องราวเข้าใจผิดทำเสี่ยงตาย

14 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แพทย์ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ เตือน "กินค้างคาว" ปรุงสุกก็เสี่ยง! โปรดหลีกเลี่ยง พร้อมแชร์ข้อมูลน่ากลัวกินค้างคาวแล้วได้อะไร?

 

 

รู้หรือไม่!! เชื้อไวรัสอันดับที่ 1 ที่จะพบได้ในค้างคาว ได้แก่ นิปาห์ไวรัส (Nipah) รองลงมา โคโรนาไวรัส

"ค้างคาว" นกมีหู หนูมีปีก ไม่ใช่อาหาร ทั้งยังเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคกว่า 60 ชนิด จากกรณีมีการโชว์สกิลการเปิบเมนูค้างคาวจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้แพทย์และนักวิชาการออกโรงเตือนประชาชนหวั่นเกิดพฤติกรรมเสี่ยงจากการเลียนแบบ ซึ่งหากย้อนรอยความเชื่อเรื่องการกินค้างคาว เรื่องราวที่ปรากฏคือ "ตำรับยาจีน" จากคำภีร์ “เปิ่นจิง” ซึ่งถือกำเนิดในช่วงประมาณ 2,000 ปีก่อน มีการบันทึกไว้ว่า "...ค้างคาว สามารถนำมารักษาโรคเกี่ยวดวงตา พร้อมบันทึกด้วยว่า กินแล้ว สุขกาย สบายใจ กินนานๆ แล้วสุขสันต์ไร้ความวิตกกังวล พร้อมระบุว่าค้างคาวไม่มีพิษ”

หลายร้อยปีถัดมา มีหมอยาจีนท่านหนึ่งขยายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า “ค้างคาว” หากต้องการนำมาทำยา จำเป็นต้องใช้ “ค้างคาว” ที่มีลักษณะตัว “สีขาว ห้อยหัว” ถ้าไม่ใช่ “ห้ามกิน” คล้ายกับว่ามีการระบุประเภทของค้างคาวไว้ว่าประเภทไหนกินได้ ประเภทไหนกินไม่ได้... แต่ยังไม่ระบุถึงพิษของค้างคาว

จนถึงในช่วงปลายราชวงศ์หมิง (ราวปี ค.ศ.1500) มีหมอจีนชื่อ หลีสือเจิน ได้รวบรวมความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับตำราสมุนไพรโดยใช้เวลาเกือบสามทสวรรา “ชำระคำภีร์สมุนไพร” ขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า คำภีร์ “เปิ่นเฉ่ากังมู่” ตำรับยาที่มีการเผยแพร่ไปทั่วโลก กระทั่ง ชาร์ล ดาวิน นักธรรมชาติวิทยาของโลกยังยอมรับว่าเป็นสารานุกรมสมุนไพรจีน และมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นคำภีร์ที่มีบันทึกตำรับยาไว้มากกว่า 1,800 ชนิด และยังเป็นตำราจีนยาที่ใช้จวบจนปัจจุบัน ซึ่งในตำรายานี้มีบันทึกขัดแย้งกับคำภีร์ “เปิ่นจิง” โดยชี้ว่า “ค้างคาว” ใช้ในการขับของเสียด้วยการระบายเป็นหลัก และการกินค้างคาวทำให้ท้องเสีย และจากบันทึกก็พบว่ามีบางคนอยู่ในภาวะท้องเสียจนตาย!

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ค้างคาวสามารถนำมาประกอบทำเป็นยารักษาโรคได้ แต่นำไปกินเป็นอาหารไม่ได้!

ด้าน ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยว่าการเข้าป่าไปหาของแปลกสัตว์แปลกมารับประทานมีอันตรายอย่างแน่นอน โดยสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติเป็นแหล่งรังโรคที่มนุษย์ยังไม่เคยสัมผัส ซึ่งบางชนิดก็ติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คนได้ โดยเฉพาะค้างคาวที่มีไวรัสเยอะมาก เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีโบล่า(Ebola) ไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) ทื่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ รวมถึงไวรัสโคโรน่า(Corona virus) ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ได้ด้วย และอีกหลายตัว 

ดังนั้น ไม่ควรไปสัมผัสกับค้างคาว เพราะสัตว์รังโรคมักไม่แสดงอาการป่วย เราจึงไม่แนะนำให้กินค้างคาวและสัตว์ป่าทุกชนิด เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าไปจับ อย่างค้างคาวที่อยู่ในถ้ำ เป็นระบบปิด อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน ขับถ่ายอยู่ถ้ำ ก็มีโอกาสสัมผัสเชื้อได้ เพราะเจอว่ามีเชื้อไวรัสโคโรน่าที่อยู่ในปัสสาวะค้างคาว แต่ยังไม่กระโดดมาคน แต่วันหนึ่งถ้าไวรัสเก่งขึ้น ก็กระโดดมาคนได้

เปิดโปงสรรพคุณ 'ค้างคาว' กับเรื่องราวเข้าใจผิดทำเสี่ยงตาย

ที่ผ่านมา มีรายงานพบเชื้อโรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) ทำให้เกิดเชื้อราในคนที่เข้าไปในถ้ำค้างคาว เกิดภาวะปอดอักเสบ ส่วนก่อนจะนำค้างคาวมาปรุงสุก ก็ต้องผ่านขั้นตอน เช่น ถลกเนื้อ ล้างเนื้อ ซึ่งก็มีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของค้างคาว

“ปัญหาของโรคที่มาจากสัตว์ป่าจะพบในแอฟริกาเยอะ เพราะเป็นประเทศที่ไม่ได้เลี้ยงไก่ หมูเหมือนบ้านเรา เขาก็จะล่าสัตว์ป่ามากิน แต่บ้านเรามีสัตว์เลี้ยง มีแหล่งอาหารเต็มไปหมด จึงไม่ควรไปยุ่งกับสัตว์ป่า” ผศ.นพ.โอภาส กล่าว

ส่วนขณะนี้มีสัญญาณเกี่ยวกับโรคที่มาจากสัตว์ป่าหรือไม่  ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า ทาง รพ.จุฬาฯ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กว่า 10 ปี เพื่อสำรวจสัตว์ป่า ดูว่ามีโอกาสเกิดเชื้อไวรัส หรือโรคอะไรที่กระโดดมาคนหรือไม่ ส่วนหนึ่งเราสำรวจค้างคาวในไทย ก็พบว่าเชื้อคล้ายกับไวรัสซาร์สโคฟ (Sars-CoV) เพียงแต่ยังไม่กระโดดจากสัตว์มาคน แต่หากวันหนึ่งที่ไวรัสพร้อม ก็อาจทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้น ก็จะมีความเสี่ยง ซึ่งจริงๆ พบได้มาก อย่างที่ประเทศลาวมีรายงานใกล้เคียงกับไทย

ทางด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์  ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า พฤติกรรมการรับประทานค้างคาว ถือว่าไม่ควรรับประทาน เนื่องจากค้างคาวเป็นสัตว์ป่า และปกติมีคลื่นโซนาร์ในตัว ประกอบกับเป็นสัตว์ที่บินสูง ไม่น่าที่จะจับมารับประทานได้ง่าย  ถ้าจับได้ง่าย หรือตกลงกับพื้น แสดงว่าค้างคาวตัวนั้นอาจเป็นโรค  การติดเชื้อจากค้างคาวก็เหมือนกับการติดเชื้อไข้หวัดนก  ที่ไม่ได้เป็นการติดเชื้อจากรับประทาน เพราะการปรุงสุกเชื้อก็ตายหมด  แต่เป็นการติดเชื้อระหว่างการปรุงมากกว่า เพราะขั้นตอนการปรุง ต้องจับถอนขน สัมผัสสารคัดหลั่ง ก็อาจเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อทั้งไวรัส และแบคทีเรีย เชื้อไวรัสอันดับที่ 1 ที่จะพบได้ในค้างคาว ได้แก่ นิปาห์ไวรัส  (Nipah) รองลงมา โคโรนาไวรัส ซึ่งการติดเชื้อนิปาห์ไวรัสนั้น เคยมีการเกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย และมีคนเสียชีวิต โดยค้างคาวไปแพร่เชื้อในหมู และคนก็ติดเชื้อจากหมู โดยลักษณะหมูเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็มีความคล้ายกับคน ดังนั้น ไม่จำเป็นอย่าไปรับประทาน  กินอย่างอื่นดีกว่า  เพราะปกติลำพังมูลค้างคาวก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้

ส่วน ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์เจ้าของแฟนเพจหมอแล็บแพนด้า  โพสต์ข้อความระบุว่า บางคนไม่ได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์โควิดระบาดทั่วโลกเลย ยังทำคอนเทนต์ที่มันเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคอยู่ตลอด การไปเอาสัตว์ที่เป็นแหล่งของเชื้อโรคมากิน ต่อให้เรากินสุกก็เถอะ แต่ขั้นตอนการจับค้างคาวและการชำแหละจะทำให้มนุษย์ติดโรคและแพร่ไปสู่คนอื่นได้ เพราะเชื้อไวรัสจะมีการสะสมอยู่ทั้งในเลือด น้ำลาย และเครื่องในต่างๆ เวลาเราเอามือไปสัมผัสพวกมันแล้วเผลอจับหน้าจับตา สูดดม หรือโดนแผลต่างๆ มนุษย์ก็ติดโรคและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก

หมอแล็บแพนด้า ให้ข้อมูลว่า ค้างคาวเป็นแหล่งรังโรค และเป็นสัตว์ที่สะสมเชื้อโรคจำนวนมาก มีรายงานการพบไวรัสมากกว่า 60 ชนิดในค้างคาว ซึ่งบางชนิดก็ก่อโรคในคนได้ และยังแพร่ระบาดไม่หายถึงทุกวันนี้ เช่น ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า, ไวรัสอีโบล่า, ไวรัสซาร์ส, ไวรัสเมอร์ส, ไวรัสนิปาห์ ที่ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ และไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิดมีคนล้มตายจำนวนมาก เศรษฐกิจพังไปทั่วโลก

“เลิกไปยุ่งกับมันเถอะครับ อย่าไปกินสัตว์พวกนี้เลย เรามีบทเรียนที่หนักหนามากแล้ว อย่าทำให้โรคแปลกๆ มันระบาดสู่มนุษย์อีกเลยครับ” หมอแล็บแพนด้า ระบุ

นอกจากนี้ สาเหตุที่ไม่ควรนำค้างคาวมาเป็นอาหารของมนุษย์นั้น ทางเพจ Drama-Addict ระบุว่า นอกจากค้างคาวจะเป็นพาหะของโรคร้ายแรงสารพัดแล้ว ค้างคาวหลายชนิดยังจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในประเทศไทยด้วย และค้างคาวยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศ… นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า การกินเนื้อค้างคาว มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคทางระบบประสาท Lytico-bodig disease หรือโรค amyotrophic lateral sclerosis-parkinsonism-dementia (ALS-PDC) คือ ภาวะที่สมองเกิดการเสื่อมคล้ายๆ ภาวะอัลไซเมอร์ อาการคือจะมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว มือเท้าสั่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ความจำเสื่อม ในรายที่เป็นหนักๆ ถึงขั้นช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พูด สื่อสารไม่ได้ กล้ามเนื้อฝ่อ อ่อนแรง จนเป็นผู้ป่วยติดเตียง โรคนี้พบที่เกาะกวม พื้นที่ที่มีการกินค้างคาวสูงกว่าที่อื่นๆ ในโลกเกือบร้อยเท่า…

“ค้างคาวเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มนุษย์เราไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยประการทั้งปวง ต่างคนต่างอยู่ดีที่สุด”

 

 

 

 

logoline