svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

'นั่งนาน-อายุสั้น' ฝันร้ายของชาวออฟฟิศ

01 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเมื่อเรานั่งนานเกินไป? เผยคำตอบมากกว่าปวดคอ บ่า ไหล่ ยังเพิ่มความเสี่ยงโรคภัยรุมเร้า ทำอายุสั้นลงแบบไม่รู้ตัว!!

ไม่ว่าจะวัยเด็ก วัยเรียน วัยทำงาน หรือแม้กระทั่งในวัยผู้สูงอายุ สิ่งที่ทุกวัยทำเหมือนกันคือการขยับตัวน้อยเพราะนั่งนาน พฤติกรรมเนือยนิ่งจากไลฟ์สไตล์ในแต่ละวัน ทั้งนั่งอ่านหนังสือ นั่งทำงาน นั่งขับรถ หรือนั่งดูทีวีอยู่ที่บ้าน ซึ่งการนั่งเฉยๆ เป็นเวลานานส่งผลเสียต่อร่างกายแน่นอน

มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารสุขภาพ ระบุว่า ถ้าคุณนั่งเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ความเสี่ยงอายุสั้นลงจะเพิ่มขึ้น 8% ในทุกชั่วโมงที่นั่ง โดยจากข้อมูลทางสถิติพบว่า ในแต่ละวันชาวอเมริกันนั่งเฉลี่ย 6.5 ชั่วโมงต่อวัน ชาวฝรั่งเศสนั่งยาวถึง 10 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนคนไทยนั่งเฉลี่ยที่ 6 ชม. 23 นาที

'นั่งนาน-อายุสั้น' ฝันร้ายของชาวออฟฟิศ

เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเมื่อนั่งนานเกินไป?

หัวใจ

เมื่อเรานั่งนานเลือดจะไหลช้าลงและกล้ามเนื้อจะเผาผลาญไขมันน้อยลง ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน กรดไขมันอุดตันหัวใจง่ายขึ้น งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่นั่ง 10 ชั่วโมงหรือมากกว่าต่อวัน มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้มากกว่าคนที่นั่งเป็นเวลา 5 ชั่วโมงหรือน้อยกว่า

ตับอ่อน

ความสามารถของร่างกายในการตอบสนองต่ออินซูลินจะได้รับผลกระทบจากการนั่งนานๆ แม้เพียงวันเดียว ซึ่งทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้มากขึ้นและอาจนำไปสู่โรคเบาหวาน การวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารโรคเบาหวาน พบว่าผู้ที่นั่งเป็นเวลานานที่สุดมีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจราวสองเท่า เมื่อเทียบกับคนที่นั่งน้อยกว่า 6 ชั่วโมง และการนั่งมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ถึงร้อยละ 90

ลำไส้ใหญ่ ปอด มดลูก

การนั่งเกินอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด และมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก กลไกนี้ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่อาจเป็นเพราะการผลิตอินซูลินส่วนเกินซึ่งกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ หรือการเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ซึ่งอาจจะช่วยขจัดอนุมูลอิสระที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ โดยตัวเลขน่าตกใจจากผลการวิจัยที่นำเสนอในการประชุมด้านโรคมะเร็ง ยังพบว่าการนั่งนานทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งของส่วนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นดังนี้

  • มะเร็งปอด เพิ่มขึ้นร้อยละ 54
  • มะเร็งมดลูก เพิ่มขึ้นร้อยละ 66
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30

ระบบย่อยอาหาร

การนั่งนานๆ หลังรับประทานอาหารทำให้อวัยวะในช่องท้องเคลื่อนไหวลดลง และลดการย่อยอาหารลง และจะนำไปสู่อาการตะคริว ท้องอืดท้องเฟ้อและท้องผูกรวมทั้งการเกิดภาวะความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคของความผิดปกติของลำไส้และลำไส้เล็กลำไส้ ความผิดปกติของลำไส้รวมถึงโรคลำไส้อักเสบ ลำไส้แปรปรวน (IBS) เป็นต้น

สมอง

การทำงานของสมองจะช้าลงเมื่อร่างกายอยู่นิ่งนานเกินไป สมองจะได้รับเลือดและออกซิเจนลดน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการกระตุ้นการปลดปล่อยสารเคมีในสมองและทำให้อารมณ์ที่ดีขึ้น

'นั่งนาน-อายุสั้น' ฝันร้ายของชาวออฟฟิศ

ปัญหาปวดคอ บ่า ไหล่เรื้อรัง

เป็นปกติที่เราจะต้องพยายามตั้งคอและหน้าให้ตรงในขณะทำงานกับคอมพิวเตอร์หรือขณะที่รับโทรศัพท์ หรือแนบโทรศัพท์ไว้กับหู ซึ่งการอยู่ท่านี้นานๆ อาจนำไปสู่การล้าของกระดูกสันหลังส่วนคอ พร้อมกับความไม่สมดุล ซึ่งนำไปสู่ความตึงปวดของคอ บ่าและไหล่ได้

ปวดหลัง หมอนรองกระดูก

การนั่งจะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังมีแรงกดมากกว่าขณะที่ยืนอยู่ และสุขภาพหลังจะแย่กว่าเดิมหากนั่งหลังค่อมหน้าคอมพิวเตอร์ ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีอาการปวดหลังใช้เวลาทำงานที่คอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน หมอนรองกระดูกฃจะมีสภาพที่ดีขึ้นหากมีการเคลื่อนไหว เนื่องจากจะมีการกดและขยายตัวทำให้มีการดูดซึมเลือดและสารอาหาร เมื่อนั่งนานๆ หมอนรองกระดูกจะบีบอัดและอาจสูญเสียความยืดหยุ่นเมื่อเวลาผ่านไป การนั่งมากเกินไปยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะการปลิ้นของหมอนรองกระดูก

การเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อ

การยืนหรือการเคลื่อนไหวจะทำให้มีการตึงตัวของกล้ามเนื้อหน้าท้อง แต่เมื่อนั่งจะมีการหย่อนตัว นำไปสู่การอ่อนแอของกล้ามเนื้อหน้าท้อง และมีผลต่อภาวะปวดหลังได้

เส้นเลือดดำอุดตัน

การนั่งนำไปสู่การไหลเวียนไม่ดี ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการบวมที่ข้อเท้า เส้นเลือดขอดและเกิดลิ่มเลือดที่เรียกว่า “เส้นเลือดดำอุดตัน”

กระดูกและข้อ

การเดินหรือวิ่งและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่นๆ จะนำไปสู่เนื้อมวลกระดูกที่หนาแน่นขึ้น การขาดกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้กระดูกขาดการกระตุ้นเพื่อให้มีการนำเข้ามาซ่อมแซม และจะนำไปสู่ภาวะกระดูกบางและแม้กระทั่งโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ การนั่งเป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้อรอบสะโพกมีการตึงรั้ง และทำให้การเคลื่อนไหวของข้อสะโพกลดลงเนื่องจากการอยู่ในท่างอและไม่ได้เหยียด ซึ่งในผู้สูงอายุการเคลื่อนไหวที่ลดลงและการตึงรั้งของข้อสะโพกเป็นสาเหตุหลักของการหกล้ม และนั่งนานยังทำให้กล้ามเนื้อสะโพกและกล้ามเนื้อก้นด้านหลังไม่ได้ทำงาน ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอลง และจะมีผลต่อการก้าวที่มั่นคงขณะเดิน วิ่ง หรือกระโดด

'นั่งนาน-อายุสั้น' ฝันร้ายของชาวออฟฟิศ

โรคอ้วน

การนั่งนานๆ ส่งผลต่อระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย เพราะร่างกายเข้าสู่เซฟโหมดและเผาผลาญน้อยลง เพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนมากกว่าเดิม ยิ่งถ้าหากเป็นคนชอบกินจุบจิบเวลาทำงานหยิบของเข้าปากก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น

'นั่งนาน-อายุสั้น' ฝันร้ายของชาวออฟฟิศ

โรคซึมเศร้า

ใครจะไปคิดว่าการนั่งนานส่งผลต่อความระบบสมองและความคิด นอกจากจะทำให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง ก็ยังส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย เมื่อบวกกับผลกระทบจากแสงสีฟ้าของหน้าจอคอมหรือมือถือ ยิ่งไปรบกวนการนอนหลับที่ดี เมื่อฮอร์โมนในร่างกายหลั่งได้ไม่เป็นปกติสะสมนานๆ จึงเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่ายกว่าเดิม

 

บทสรุป การนั่งนานทำให้อายุสั้นลง

มีการศึกษาจำนวนมากที่แสดงว่า หากเราใช้เวลามากไปในการนั่งเราจะมีอายุขัยที่สั้นลง ซึ่งการลดเวลานั่งเฉลี่ยไม่ถึง 3 ชั่วโมงต่อวัน ช่วยทำให้อายุขัยเพิ่มขึ้นได้ถึง 2 ปี ทว่า ในทางกลับกันหากนั่งนานๆ ในทุกชั่วโมงที่นั่งจะลดอายุขัยลงเกือบ 22 นาที เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 ตัว ซึ่งจะลดอายุขัยประมาณ 11 นาที  แต่หากใช้เวลาเฉลี่ย 6 ชั่วโมงนั่งหน้าจอโทรทัศน์จะลดอายุขัยลงมากถึง 5 ปี เมื่อเทียบกับคนที่ขยับร่างกายเป็นประจำ

 

logoline