svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาหาร

"ขนมม่อฉี" ขนมยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 หากินยาก มีวิธีการกินแบบเฉพาะ

25 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ขนมม่อฉี" ขนมหากินยากเมืองตรัง ที่มีที่มาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมเอกลักษณ์วิธีการกินแบบเฉพาะตัว

25 พฤษภาคม 2566 จ.ตรัง ได้ชื่อว่าเป็น "เมืองแห่งของกิน" จากการที่มีอาหาร ที่เป็นเอกลักษณ์ และขึ้นชื่อหลายเมนู หนึ่งในเมนูที่ชื่อ และหารับประทานได้ยากในปัจจุบันคือ "ขนมม่อฉี"  ขนมโบราณที่มีลักษณะคล้าย "ขนมไดฟุกุ"

โดยมีประวัติยาวนาน มาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แป้งนุ่ม ไส้หวาน แถมยังมีเอกลักษณ์ วิธีการกินเฉพาะตัว เพื่อไม่ให้ไส้ทะลัก มีคุณป้าชาวจีนวัย 63 ปี ในพื้นที่ อ.กันตัง จ.ตรัง เป็นผู้สืบทอดการทำอยู่ในปัจจุบัน คือ น.ส.นิฐินาฏ พจนตันติ หรือ "ป้าหน่อง" ที่ยังคงสืบทอดการทำ "ขนมม่อฉี" อยู่ 
"ขนมม่อฉี" ขนมโบราณหากินยากเมืองตรัง
 

"ป้าหน่อง" เล่าถึงประวัติของ "ขนมม่อฉี" ว่า ตามประวัติที่ อาจารย์วันดี ณ สงขลา ได้บันทึกไว้ เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ขึ้นฝั่งที่ จ.สงขลา ทำให้ชาวญี่ปุ่นซึ่งจากบ้านมานาน อยากจะกินขนมของประเทศญี่ปุ่น เช่น "ขนมไดฟุกุ" ที่เคยได้กินมา

ประกอบกับในยุคนั้น ข้าวของแพง และหากินได้น้อย จึงให้คนไทยไปหาวัตถุดิบมาให้ ซึ่งก็จะได้ แป้งข้าวเหนียว , น้ำตาลแว่น , งา , เกลือ เมื่อได้วัตถุดิบมาแล้ว จึงนำมาทำเป็นขนม จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับ "ขนมไดฟุกุ" ในอดีตชาว จ.สงขลา เรียกว่า "ขนมม่อสี้" แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป จึงเพี้ยนมาเป็นคำว่า "ขนมม่อฉี"
วิธีการทำแป้ง "ขนมม้อฉี"
 

โดยในแถบฝั่งทะเลอันดามัน จะมีชาวจีนฮกเกี้ยนนำ "ขนมม่อฉี" มาทำอยู่ด้วยเช่นกัน จนถึงทุกวันนี้ "ป้าหน่อง" เล่าว่า ในสมัยเด็ก ๆ ก็ได้เห็น "ขนมม่อฉี" แล้ว แต่ไม่ได้ทำขาย และได้ห่างหายไปจาก อ.กันตัง จ.ตรัง นานมาก

บังเอิญวันหนึ่ง ได้ไปอ่านหนังสือของ อาจารย์วันดี ณ สงขลา จึงได้นำสูตรจากหนังสือเล่มนั้น มาเริ่มทำ "ขนมม่อฉี" กินตั้งแต่นั้นมา และได้เริ่มมาทำเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี 
การทำไส้ของ "ขนมม่อฉี"
 

ปัจจุบันมีคนสืบทอดทำ "ขนมม่อฉี" น้อยมาก ๆ แต่ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่บ้าง และ เป็นขนมที่หากินยากแล้ว ซึ่งการทำ "ขนมม่อฉี" ขั้นตอนแรก ต้องเตรียมไส้ ซึ่งวัตถุดิบของไส้ ประกอบด้วย งาขาว , งาดำ , ถั่วลิสง โดยการนำทั้งหมดไปคั่วให้สุก และให้หอมด้วยไฟอ่อน ๆ หลังจากคั่วเสร็จแล้ว จึงนำทุกอย่างมาตำรวมกัน พร้อมทั้งใส่น้ำตาล , เกลือ ก็จะได้เป็นไส้ของขนม 
ขั้นตอนการทำ "ขนมม่อฉี"  

ในขั้นตอนต่อมาคือการทำแป้ง ซึ่งใช้แป้ง 2 แบบ ขั้นตอนแรกมีชื่อเรียกว่า "แป้งนวล" โดยการนำแป้งข้าวเหนียวมาคั่วด้วยไฟอ่อน ๆ เพื่อให้แป้งหอม ก็สามารถใช้ได้ ก่อนที่จะทำแป้งอีกชนิด คือการนำแป้งมาละลายกับน้ำต้มใบเตย และพักแป้งไว้ประมาณ 4 - 5 ชั่วโมง ก่อนจะนำแป้งมาต้ม เมื่อเสร็จจึงนำมากวน แต่ในปัจจุบันขั้นตอนนี้ จะใช้เป็นเครื่องตีแป้งมาช่วยแทนการกวน จนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จึงสามารถนำมาปั้น ก่อนจะใส่ไส้ และห่อให้เป็นทรงกลม ก่อนจะนำมาคลุกกับแป้งนวล ก็สามารถรับประทานได้ทันที 
"ขนมม่อฉี" ขนมยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 หากินยาก มีวิธีการกินแบบเฉพาะ

และที่สำคัญขนมนี้ มีวิธีกินเป็นเอกลักษณะเฉพาะ คือต้องใช้นิ้วกดตัวขนมให้เป็นทรงรี ๆ ยาว ๆ ใส่เข้าปากและกัดให้ขาดในครั้งเดียว เพื่อที่ตัวแป้งจะได้มาห่อหุ้มไส้ไว้ โดยห้ามยืดตัวขนมเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นไส้จะทะลักออกมา 
"ขนมม่อฉี" ขนมยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 หากินยาก มีวิธีการกินแบบเฉพาะ  

ปัจจุบัน "ป้าหน่อง" ขาย "ขนมม่อฉี" อยู่ที่ร้านถ่ายเอกสาร "คุณหน่อง" ในเขตเทศบาลเมืองกันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง พิกัดอยู่ระหว่างโรงเรียนจุ๋งฮัวโซะเซียวกับสหมิตร บรรจุขายในกล่อง 2 ชิ้น ราคากล่องละ 10 บาท เริ่มขายตั้งแต่ 06.30 น. จนกว่าจะหมด โดยใช้แป้งประมาณ 2 กิโลกรัมต่อวัน แต่ละวันจะขายหมดเร็วมาก ประมาณ 10.00 น. ก็ขายหมดแล้ว หากมีคนสนใจสั่งซื้อสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-326-6856
"ขนมม่อฉี" ขนมยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 หากินยาก มีวิธีการกินแบบเฉพาะ
 

logoline