svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

How to เติมไฟในการทำงานหลังผ่านวันหยุดยาว

03 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ฮีลตัวเองหลังวันหยุดสุดอภิรมย์ รวบรวม 6 เคล็ดลับเอาชนะ Post-vacation Blues หลังวันหยุดยาวผ่านไปให้อยากกลับมาทำงาน

ทำงานวันแรกหลังผ่านวันหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นเรื่องยากจะทำใจของใครหลายคน เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังอยากเพลิดเพลินกับวันหยุด สนุกสนานกับการกินดื่ม ท่องเที่ยว พักผ่อน ทั้งกับเพื่อน คนรัก หรือครอบครัว จนไม่อยากกลับมาทำงาน ที่เป็นแบบนี้เพราะยิ่งเรามีความสุขกับวันหยุดพักผ่อนมากเท่าไร โอกาสเผชิญหน้ากับภาวะ Post-Vacation Blues หรืออาการเฉาหลังหยุดยาวยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

เรื่องนี้ตามหลักจิตวิทยาอธิบายได้ว่าเป็นภาวะ Post-Vacation Blues ที่ไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่เป็นอาการที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน มีอาการหงุดหงิดอารมณ์เสีย ใจลอย รู้สึกไม่อยากทำงาน มีความวิตกกังวล ซึ่งส่วนมากอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวจะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นอาการเฉาเหล่านี้ก็จะหายไปเอง เพราะคนปกติจะปรับตัวได้หลังจากเริ่มต้นใช้ชีวิตตามปกติ

How to เติมไฟในการทำงานหลังผ่านวันหยุดยาว

6 เคล็ดลับเอาชนะ Post-vacation Blues หลังวันหยุดยาว

1 เบี่ยงเบนความเฉาในใจด้วยงานอดิเรก

ในช่วง 2-3 วันแรก หลังจากกลับมาจะเป็นช่วงที่หนักหนาเอาการอยู่ ในการปรับสภาพจิตใจ หากมีงานอดิเรกที่ชอบ เช่น ปลูกต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลง ทำอาหาร วาดภาพ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมใดๆ ที่เรามีความสุขและทำได้ไม่เบื่อ หากต้องนั่งอยู่กับโต๊ะทำงาน การจัดโต๊ะทำงานใหม่ ทำความสะอาดของใช้บนโต๊ะ อาจช่วยให้เราคุ้นเคยและรู้สึกอยากนั่งทำงานมากขึ้น

How to เติมไฟในการทำงานหลังผ่านวันหยุดยาว

2 รีวิวทริปล่าสุด พร้อมวางแผนทริปต่อไปรอไว้เลย

ในเมื่อความสุขในวันหยุดยังอินอยู่ในใจ ก็อัพรูปท่องเที่ยวสร้างแรงบันดาลใจไปซะเลย วิธีนี้เป็นสร้างความสุขง่ายๆ แบบไม่หลอกตัวเอง เช่น อัพรูปทริปล่าสุดพร้อมแคปชั่นความประทับใจแชร์ลงในโซเชียล เขียนรีวิวการท่องเที่ยวบอกเล่าประสบการณ์ให้เพื่อนๆ ได้อ่าน นอกจากเราเองจะมีความสุข คนที่ได้อ่านก็จะได้รับพลังบวกจากรูปสวยๆ และเรื่องราวของเราอีกด้วย จากนั้นลองแพลนสถานที่ท่องเที่ยวที่อยากไปทริปหน้า หาแรงบันดาลใจใหม่ๆ รับรองว่าจะลืมภาวะความเศร้าและอาการเฉาไปเลย

3 ออกกำลังกายเรียกฮอร์โมนแห่งความสุข

ขณะออกกำลังกายร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอนโดรฟิน ช่วยให้เรามีความสุข ลืมความทุกข์ไปชั่วขณะ นอกจากนั้นยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย ดังคำกล่าวของชาวโรมันที่ว่า “mens sana in corpore sano” หรือสุขภาพกายดีทำให้สุขภาพจิตดี การเพิ่มความกระฉับกระเฉงเพียงเล็กน้อย สามารถกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและเผาผลาญแคลอรีด้วยการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งเราอาจทำแค่วิดพื้น แพลงก์ สควอช ลุกจากโต๊ะทำงานมาแกว่งแขน เดินขึ้นลงบันได ไปซื้ออาหารกลางวันแทนการสั่งเดลิเวอรี่ เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะช่วยให้กลับมามีความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าอีกครั้ง

How to เติมไฟในการทำงานหลังผ่านวันหยุดยาว

4 ฟื้นฟูร่างกายด้วยโปรตีน

สำหรับคนที่ยังรู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย ควรมองหาอาหารจำพวกโปรตีนปราศจากไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ ไก่ ปลา ผลไม้ และผักสดที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ในปริมาณสูง รวมทั้งไขมันที่ดีต่อสุขภาพจากแหล่งต่างๆ เช่น น้ำมันมะกอกและถั่วในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนอาหารเสริมที่จะช่วยให้ปรับตัวได้เร็วยิ่งขึ้น ได้แก่ วิตามินบีรวม วิตามินซี วิตามินอี  สารแคโรทีน สารไลโคพีน  โคเอนไซม์ Q10 และ N-acetylcysteine (NAC) เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างพลังงานภายในเซลล์ร่างกายและกล้ามเนื้อ

5 สมดุลการนอนหลับ

ความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับหลายคนก็คือ การเที่ยวในช่วงวันหยุดทำให้เหนื่อยมากขึ้น เพราะกิจกรรมหลากหลายที่ได้วางแผนไว้ และการนอนหลับที่ไม่เป็นเวลาสำหรับประเทศที่เวลาต่างจากประเทศเรามากๆ อาจทำให้นอนหลับไม่สนิท หรือหลับไม่เต็มที่  การนอนหลับให้เพียงพอในช่วง 2-3 วันแรกหลังเที่ยว เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ต่อสุขภาพ เพราะขณะหลับร่างกายจะมีการซ่อมแซมและปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง เพื่อกลับมาสู่โหมดภาวะปกติ ดังนั้นเราจึงควรนอนในเวลาที่เหมาะสมประมาณ 22.00 น. ทุกคืน และควรนอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูกลับสู่สภาวะเดิมได้รวดเร็ว

How to เติมไฟในการทำงานหลังผ่านวันหยุดยาว

6 หาก “หมดไฟ” ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน

ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome ถูกองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดว่าเป็นอาการป่วยที่มีผลมาจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน และควรได้รับการดูแลจากแพทย์ก่อนรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต สาเหตุจาก การเผชิญกับความเครียดในที่ทำงานเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน

วิธีสังเกตง่ายๆ คือเหนื่อยล้า หมดพลัง ชอบคิดลบต่อความสามารถของตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ เจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานประเมินว่าเรามีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานได้ไม่เหมือนเดิม และที่พบบ่อยคือ ความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานและคนรอบข้างแย่ลง

ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งแรกที่ควรทำคือ หยุดพักเพื่อจัดการความเครียด แต่ถ้าไม่สามารถลาหยุด ควรตั้งสติ ปรึกษาคนที่ไว้ใจได้ เพื่อวางแผนจัดระบบการทำงานใหม่ และถ้าหากสัมพันธภาพของหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานคือต้นเหตุหนึ่ง เราควรโอนอ่อนผ่อนตามบ้าง เลี่ยงเผชิญกับบุคคลที่มองโลกในแง่ร้าย เพื่อไม่ให้เราแบกความทุกข์มากจนเกินไป หากยังไม่เป็นผลเท่าไหร่ ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เรารู้สึก อยากพักตลอดเวลา ไม่อยากกลับมาทำงาน หรืออยากลาออกจากงาน

logoline