svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม nation online

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

เริงร่าถิ่นย่าโม งานมหกรรมศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale

18 มีนาคม 2565
210

Thailand Biennale ถูกจัดขึ้นด้วยความอลังการ ที่ปากช่อง พิมาย และเมืองโคราช ภายใต้หัวข้อ “Butterflies Frolicking on the Mud: Engendering Sensible Capital”, “Nature Reigns Supreme in the World. Art Is Having Freedom in One Self” และ “เซิ้งสิน ถิ่นย่าโม”

ในมหกรรม Thailand Biennale ยังประกอบไปด้วยนิทรรศการฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระองค์ได้รับพระราชสมัญญานาม สิริศิลปินจากกระทรวงวัฒนธรรม โดยจัดแสดง ที่

พาวิลเลี่ยนนานาชาติ หอศิลป์พิมานทิพย์ ได้มีการจัดแสดงจิตรกรรม ประติมากรรม และงานเย็บปักฝีพระหัตถ์เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ อย่างเสืออินโดจีน เสือดาว นกฮูก นกแก้ว ตลอดจนผีเสื้อ โดยมีศิลปินไทยและนานาชาติร่วมแสดงด้วย

การแสดงแสงสี ดนตรี ขบวนพาเหรด ขบวนรถแห่ และพลุ ได้มีการถ่ายทอดออกโทรทัศน์ มีการติดป้ายตามถนนหนทาง สำหรับงานประชาสัมพันธ์ข้าราชการพลเรือนในชุดไทยได้ทำการแสดง ฟ้อนรำแมวโคราช อย่างสนุกสนานใต้ท้องของประติมากรรมแมว “Queen Cat” ที่รังสรรค์โดยกฤช งามสม ซึ่งทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยประกาศว่ามหกรรม Thailand Biennale ที่เมืองโคราชนี้จะกระตุ้นรายได้การท่องเที่ยวอย่างมหาศาลภายในระยะเวลา 4 เดือนที่มหกรรมได้มีการจัดขึ้นนี้

HRH Princess Chulabhorn_installation and interactive art in Pimarntip Art Gallery

ผลงานที่น่าประทับใจที่สุดในมหกรรมนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายและสถาบันศิลปะราชมงคล โดยทั้งสองสถานที่นี้อยู่ห่างกันกว่า 80 กิโลเมตร ในห้องจัดแสดงหลักที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ผลงาน “Nature’s Breath: Arokayasala” ของมณเฑียร บุญมา กล่าวถึงสถานพยาบาลในสมัยขอมโบราณว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับการเยียวยาและรักษาตัว กล่องเหล็กถูกจัดวางให้สมดุลกับปอดเหล็กที่ถูกโรยด้วยยาสมุนไพร โดยถูกจัดวางอยู่เคียงข้างพระบรมรูป ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในสไตล์บายน (ปี พ.ศ. 1201-1300) ที่ถูกพบเจอที่ปราสาทหินพิมาย

Montien Boonma Nature’s Breath- Arokayasala_1995_and Portrait of Jayavarman_Banyon style-13th century AD_ Pimai National Museum_Pimai

 

 

ผลงานวิดีโอและสื่อนิวมีเดียที่สถาบันศิลปะราชมงคลประกอบไปด้วยผลงานคุณภาพสูงและเป็นที่น่าจดจำ อย่างเช่นผลงาน “Not Really Now Not Anymore” ของ Herwig Scherabon ที่เป็นผลงานวิดีโอและเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (augmented reality) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการล่มสลายของระบบนิเวศน์ในมหาสมุทร Atlantic โดยเป็นการย้ำเตือนมนุษย์เราถึงความเปราะบางของชีวิตและธรรมชาติ ส่วนผลงาน “Learning from Artemisia” ของ Uriel Orlow เป็นผลงานจัดวางวิดีโอ จิตรกรรม และเสียงเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการค้นคว้าวิจัย Artemisia afra ซึ่งเป็นพืชแอฟริกาชนิดหนึ่งที่สามารถรักษาและป้องกันโรคมาลาเรียได้ สืบเนื่องจากการที่องค์การอนามัยโลกปฏิเสธการใช้ยาสมุนไพรพื้นบ้านและยอมรับการใช้ยาแผนปัจจุบันแทนแม้ว่าจะมีการศึกษาประสิทธิภาพการรักษาของสมุนไพรพื้นบ้านก็ตาม ถัดมาที่ผลงานของกลุ่ม Atacama Desert Foundation ที่เป็นผลงานวิดีโอจัดวางที่แสดงถึงการอ่านขนบการทำภาพสลักโบราณของคนพื้นเมืองแห่งทะเลทราย Andean ในประเทศชิลี

Herwig Scherabon_Not Really Now Not Anymore_2021

มาถึงผลงาน Two Sides of the Moon ของส้ม ศุภปริญญา ผลงานนี้แสดงให้เห็นสภาพแวดล้อมของแม่น้ำมูลที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญ ของจังหวัดนครราชสีมามาอย่างยาวนาน ชาวประมงและผู้คนท้องถิ่นพูดถึงเรื่องราวชีวิตของพวกเขารวมไปถึงผลกระทบของความเป็นสมัยใหม่และสิ่งก่อสร้างโดยฝีมือมนุษย์

ผลงาน “Wisdom for Love 3.0โดยกลุ่มศิลปินหญิง KEIKEN นำเสนอเกมออนไลน์ที่ดำเนินเนื้อเรื่องผ่านการตัดสินใจของผู้เล่น ภายในเกมมีการสะสมเหรียญโทเค็น NFT โดย โทเคนแห่งปัญญา (wisdom token)” นั้นผู้เล่นสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี เป็นที่น่าเสียดายว่าเกมออนไลน์เหล่านี้มักจะใช้งานไม่ได้เนื่องจากไม่มีนักเทคนิคคอยดูแลอุปกรณ์ทางเทคนิคอันแสนแพงนั่นเอง

Som Supaparinya_Two Sides of the Moon_ 2021_two-channel video

 

 

 

 

 

สำหรับผู้ชมที่ได้มีโอกาสพบเจองานเสียงและดิจิตอลที่ซ่อนอยู่ในอาคารศูนย์วิจัยนกกระเรียนไทยจะไม่ผิดหวัง เนื่องจากพวกเขาจะได้ยลโฉมผลงาน “X.laevis (Spacelab)” ของ John Gerrard ที่ศิลปินใช้หลักอัลกอริทึ่มและกระบวนการแปลความทางคอมพิวเตอร์มาสร้างสรรค์กบเล็บแอฟริกันที่ลอยอยู่ท่ามกลางสภาวะไร้แรงดึงดูดในห้องทดลองทางอวกาศ ในผลงานนี้ Gerrard แสดงให้เห็นถึงการหยอกล้อกันระหว่างการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสัตว์ทดลองภายใต้โลกที่มนุษย์เราพยายามที่จะพิชิตธรรมชาติ ถัดมาที่ผลงาน “Redder” ของ Zai Tiang ผลงานนี้เป็นผลงานเสียงจัดวางในสภาพแวดล้อมสีแดงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนกกระเรียนไทยที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เป็นผลงานที่สื่อถึงคอที่มีสีแดงอันโดดเด่นของนกกระเรียนไทยในฤดูสืบพันธุ์ ซึ่งการสืบพันธุ์และการเอาตัวรอดเป็นสิ่งคู่ขนานแห่งการมีอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสัตว์

 

John Gerrard X.laevis_Spacelab_2017

 

เมื่อผู้ชมเข้ามาในเขตพระราชฐาน ที่หอศิลป์พิมานทิพย์อันเต็มไปด้วยระบบความปลอดภัยขั้นสูง พวกเขาต้องลงทะเบียน จ่ายค่าเข้า และถอดรองเท้าเพื่อที่จะเข้าสู่หอศิลป์ที่ปูพรมและติดตั้งเครื่องปรับอากาศควบคุมอุณหภูมิที่เย็นเฉียบ ภาพเขียน ภาพวาด ประติมากรรม และผลงานเย็บปักถักร้อยอันเป็นส่วนหนึ่งของงานฝีพระหัส ของพระเจ้าน้องยาเธอฯ ถูกจัดแสดงอย่างหรูหราพร้อมด้วยสูจิบัตรอันโอ่อ่า ดั่งการเข้าสู่โลกของสรรพสัตว์โดย Henri Rousseau ที่บรรดาเหล่าสัตว์แสดงความอุดมสมบูรณ์ออกมาให้เห็น ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมกับสัตว์เหล่านี้โดยการรับชมวิดีโอและสัมผัสพวกมันผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง อย่างไรก็ตาม ในนิทรรศการนี้ เราอาจเกิดข้อสงสัยในมาตรฐานของการดำเนินงานภัณฑารักษ์ของปัญญา ด้วยการที่มีภาพฝีพระหัตถ์โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ บางชิ้นที่ถูกผลิตใหม่ผ่านเพียงการพิมพ์แบบอิงค์เจ็ทและใส่กรอบทอง ปัญญาจึงทำให้งานเหล่านี้กลับกลายเป็นดูไร้ค่าและไม่สูงส่ง ส่วนศิลปินหลายคนที่ปัญญาเลือกมานั้นก็ยังไม่เชื่อมโยงกับหัวข้อของ Hasegawa แต่อย่างใด ซึ่งด้วยความที่เป็นกิจกรรมคู่ขนานที่เป็นส่วนหนึ่งของ Thailand Biennale จึงทำให้ผู้ขมงานเกิดความสับสนได้ ปัญญายังนำผลงานประติมากรรม “Hold Me Close” ของ Louis Bourgeois ผู้ซึ่งบริจาคให้จังหวัดกระบี่เนื่องในการรำลึกถึงเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2548 มาจัดแสดงโดยไม่ได้ขออนุญาตสตูดิโอของศิลปินที่นครนิวยอร์คอีกด้วย มากไปกว่านั้นปัญญาและทีมภัณฑารักษ์ของเขายังจัดวางประติมากรรมดังกล่าวไว้อย่างผิดที่ผิดทางในห้องกระจกที่มีการสร้างภาพสะท้อนในหลายจุด ซึ่งเป็นการทำให้ประติมากรรมนี้ดูลวงตาและสนุกสนาน ซึ่งเป็นการทำลายความตั้งใจของศิลปินที่ต้องการสร้างความรู้สึกระลึกถึงและสงสาร กับเหตุการณ์ที่เศร้าสลด น่าเสียดายที่ปัญญา ศิลปินแห่งชาติ-คิวเรเตอร์ใหญ่ ไม่ได้ทำการบ้านทบทวนมาให้ดีในการเรียนรู้ความตั้งใจของ Bourgeois ในการสรรค์สร้างผลงานเฉพาะที่ชิ้นนี้เอาเสียเลย

Louise Bourgeois

นอกเหนือจากหอศิลป์พิมานทิพย์ ยังมีผลงาน 100 กว่าชิ้นจากศิลปินจากโคราช กระบี่ และเชียงรายจัดแสดงอยู่ที่ Terminal 21 โคราชซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Thailand Biennale แต่ผลงานเหล่านี้กลับไม่ปรากฏในเว็บไซต์และเฟซบุ๊คของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย แต่อย่างใด

กระทรวงวัฒนธรรมต้องทำการอธิบายว่าเพราะเหตุใดทางทีมงานจึงมีข้อผิดพลาดมากมายและการจัดการที่ล้มเหลว เพราะแม้ว่าจะมีงบประมาณและเวลามากมายสำหรับตระเตรียมแต่ Thailand Biennale ครั้งที่ 2 นี้ก็ยังไม่ได้มาตรฐานสากล วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยคนก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหน้าที่ตั้งแต่แรกควรจะแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ การขาดความร่วมมือกันระหว่างทีมงานและความไม่พร้อมในเรื่องของการคาดคะเนเวลาทำให้เกิดการล่าช้าของการขนส่งงานศิลปะซึ่งมาถึงไม่ทันเวลาเปิดงาน การสื่อสารที่ด้อยคุณภาพระหว่างสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และจังหวัดนครราชสีมาทำให้เกิดการขาดแคลนการชี้นำทิศทาง ข้อมูลพื้นฐาน และการพาทัวร์ชมงานให้กับผู้ชม และด้วยการจัดสัมมนาและทอล์คน้อยครั้ง สาธารณชนและนักเรียนนักศึกษาจึงพลาดโอกาสได้สัมผัสชื่นชมงานศิลปะในครั้งนี้ ในสถานที่แสดงงานเราควรได้เห็นภัณฑารักษ์ไทย ที่ได้ค่าจ้างสูงต่อเนื่องเป็นเวลากว่าสองปี ซึ่งได้แก่ธวัชชัยและวิภาชทำการนำทัวร์และทอล์คให้กับผู้ชม ส่วนในภาคออนไลน์การสัมมนาผ่านเว็บและ Zoom นำโดยภัณฑารักษ์ชาวไทยและญี่ปุ่นพร้อมด้วยศิลปินนานาชาติน่าจะเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนได้

คำถามที่เป็นปัญหาและเจ็บปวดที่สุดคงหนีไม่พ้นที่ว่าทำไม อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จึงไม่แต่งตั้งผู้สืบตำแหน่งต่อจากวิมลลักษณ์ที่เกษียณราชการไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่กลับปล่อยให้ตำแหน่งว่างถึงสามเดือนเต็มๆในระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อของการเตรียมมหกรรม ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือการจัดการที่ล้มเหลวอันส่งผลให้เกิดความยุ่งเหยิงวุ่นวายในการบริหารงาน เป็นที่น่าเศร้าว่าเมื่อเราเข้าสู่เดือนสุดท้ายของมหกรรม ดูเหมือนแทบไม่มีความพยายามที่จะกอบกู้ภาพลักษณ์ที่เสียไปของเทศกาลศิลปะนานาชาติในเมืองโคราชที่ควรจะยอดเยี่ยมอย่างน่าเหลือเชื่อเอาเสียเลย

HRH Princess Chulabhorn_The Tiger that Protects Water_2021

 

งานพิธีมอบธงสัญลักษณ์ Thailand Biennale โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีขึ้นแบบออนไลน์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้ทำการเข้าร่วมพิธีที่จังหวัดนครราชสีมา ท่ามกลางการจัดอีเวนต์ที่ มีนางฟ้อนรำ เซิ้งสินตระการตา ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวรายงานมหกรรมระดับโลกโดยท่านเอง ยังไม่เคยไปดูงาน Thailand Biennale ที่โคราชและพิมายแม้แต่ครั้งเดียว ท่านดูเหมือนจะไม่ทราบหรือสนใจกับผลลัพธ์ที่ออกมาของ Thailand Biennale ณ เมืองโคราชในครั้งนี้เลยแม้แต่น้อย มีแต่ยิ้มแย้มเริงร่าและปล่อยไปอย่างนั้นจนกว่าจะถึง Thailand Biennale ในครั้งหน้าที่เชียงรายในปี พ.ศ. 2566

 

เรื่องโดย :

ศาสตราจารย์อภินันท์ โปษยานนท์

กรรมการ Asian Council :Solomon R.Guggenheim Museums นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

และ Member of the Research Panel, National Gallery Singapore ประเทศสิงคโปร์