แม้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังคงระบาดหนักในช่วงนี้ แต่มีประเด็นหนึ่งที่ถูกจับตามองอย่างมาก สำหรับพิจารณาขึ้นทะเบียน “พื้นที่กลุ่มป่าแก่นกระจาน” เป็นมรดกโลก ซึ่งวันนี้ (26 ก.ค.) มีการหยิบยกเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ที่เมืองฟู่โจว ประเทศจีน
ซึ่งการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลกทางธรรมชาตินั้น ไทยพยายามผลักดันมาตลอดหลายปี เพื่อให้เป็นกลไกหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ท่ามกลางปมความขัดแย้งเรื่องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จนมีการตีกลับให้ทบทวนอยู่หลายรอบ
โดยช่วงเช้าที่ผ่านมา กลุ่ม “save bangkloi” และมูลนิธิผสมผสานวัฒนธรรม จัดกิจกรรมคัดค้านการขึ้นทะเบียน ที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมตำหนิหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่สนใจวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง จึงขอเสนอเลื่อนการพิจารณาออกไป จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เผยแพร่คำเตือนจากคณะผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็น ที่ส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลก ให้มีมติยกเลิกการขอขึ้นทะเบียน อ้างเหตุผลเรื่องชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงถูกละเมิดสิทธิในเขตอุทยานดังกล่าว
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นคนละเรื่องกับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติ จึงเดินเรื่องในวันนี้เต็มที่
โดยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส และอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และนางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นรองหัวหน้าคณะ
ล่าสุดเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการมรดกโลก มีมติรับรองให้ป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทาง IUCN ขอให้นำมาพิจารณาใหม่
ขณะที่นายวราวุธ แถลงภายหลังทราบผลว่า ในนามราชอาณาจักรประเทศไทย ขอขอบคุณท่านประธาน และคณะกรรมการ จึงอยากเชิญชวนประเทศภาคีมาเยี่ยมชมพื้นที่อุทยาน ซึ่งมีภารกิจหลายอย่างได้ดำเนินการ เพื่อทำให้การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติเป็นไปอย่างถูกต้อง โดยแก่งกระจานจะไม่ใช่สมับติเฉพาะคนไทย แต่เป็นของพี่น้องทั่วโลก
สำหรับการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจาน ถือเป็นมรดกทางธรรมชาติแหล่งที่ 3 ต่อจากห้วยขาแข้ง และเขาใหญ่ ยังไม่รวมมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีก 3 แห่งเดิม คือ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย และเมืองบริวาร นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และเมืองบริวาร และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง