svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ผลวิจัยใหม่พบสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เพิ่มความเสี่ยงหัวใจเต้นผิดปกติ 20%

28 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

งานวิจัยล่าสุด พบการดื่มเครื่องดื่มที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ 20% ขณะที่การดื่มเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลเพิ่มความเสี่ยง 10% และการดื่มน้ำผลไม้บริสุทธิ์ เสี่ยงต่อภาวะดังกล่าวต่ำสุดที่ 8%

ในขณะที่เครื่องดื่มไม่มีแคลอรี่ มีตัวเลือกให้ผู้บริโรคเพิ่มมากขึ้น ก็เริ่มมีงานวิจัยเกี่ยวกับ “สารให้ความหวานแทนน้ำตาล” ว่าอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งก่อนหน้านี้ Nation STORY เคยนำเสนอเรื่อง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนสารให้ความหวานในเครื่องดื่มไร้น้ำตาล เสี่ยงหัวใจวาย อัมพฤกษ์ ไปแล้ว

แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ออกแนวทางปฏิบัติฉบับใหม่เกี่ยวกับสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเพื่อการควบคุมน้ำหนัก หรือเพื่อลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

 

คำแนะนำดังกล่าวมีที่มาจากข้อค้นพบในการทบทวนผลงานวิจัยที่มีอยู่อย่างเป็นระบบ ซึ่งเสนอว่าการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวต่อการลดไขมันในผู้ใหญ่หรือเด็ก นอกจากนี้ ผลจากการทบทวนยังบ่งชี้ว่าอาจมีผลที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในระยะยาว เช่น ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหลอดเลือดหัวใจ และการเสียชีวิตในผู้ใหญ่

“การบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ไม่ได้ช่วยการควบคุมน้ำหนักในระยะยาว เราต้องพิจารณาหาวิธีการอื่นๆ ที่จะลดปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายได้รับ เช่น บริโภคอาหารที่มีน้ำตาลตามธรรมชาติ อย่างเช่นผลไม้ หรือบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เติมความหวาน” ฟรานเชสโก บรังกา ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการและความปลอดภัยของอาหารแห่งองค์การอนามัยโลก กล่าว

งานวิจัยใหม่เผยสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เพิ่มความเสี่ยง ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ หรือภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation)

ล่าสุด มีงานวิจัยใหม่ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่รายงานความเชื่อมโยงระหว่าง "สารให้ความหวานที่ไม่มีแคลอรี่" "สารให้ความหวานที่มีแคลอรี่ต่ำ" และ "เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล" ซึ่งมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของ "ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ" หรือที่เรียกว่าภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation)  ดังนี้

  • การดื่มเครื่องดื่มที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลตั้งแต่ 2 ลิตรขึ้นไปต่อสัปดาห์ ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำอัดลมไม่ผสมน้ำตาลขนาดกลางต่อวันนั้น เพิ่มความเสี่ยงต่อ “ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ” หรือ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วถึง 20% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มเลย
  • ขณะที่การดื่มเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลก็เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าวได้ 10%
  • การดื่มน้ำผลไม้บริสุทธิ์และไม่หวานประมาณ 4 ออนซ์ เช่น น้ำส้มหรือน้ำผักนั้น อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วต่ำกว่าที่ 8%

 

“เรายังต้องการการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องดื่มเหล่านี้เพื่อยืนยันการค้นพบใหม่นี้ และเพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงผลกระทบด้านสุขภาพต่อโรคหัวใจและภาวะสุขภาพอื่นๆ ที่ตามมา…ในระหว่างนี้ น้ำคือตัวเลือกที่ดีที่สุด และจากการศึกษาครั้งนี้ ควรจำกัดหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวานที่มีแคลอรีต่ำ” เพนนี คริส-อีเธอร์ตัน ศาสตราจารย์กิตติคุณสาขาวิทยาศาสตร์โภชนาการจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาใหม่นี้กล่าวในแถลงการณ์

 

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว สาเหตุหลักของโรคหลอดเลือดสมองในสหรัฐฯ

ตามรายงานของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (US Centers for Disease Control and Prevention / CDC) ระบุว่า “ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เป็นสาเหตุหลักของโรคหลอดเลือดสมองในสหรัฐฯ นอกจากนี้ โรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุจากภาวะ A-fib ก็มีแนวโน้มที่จะรุนแรงกว่าโรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุอื่นๆ”  

“ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ยังทำให้เกิดลิ่มเลือด หัวใจล้มเหลว และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย ภาวะสมองเสื่อม และโรคไตได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะมีความเสี่ยงในระยะยาว” ดร.เกรกอรี มาร์คัส ศาสตราจารย์คณะแพทย์ศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียบอกกับ CNN  

“การวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าการบริโภคน้ำอัดลมในปริมาณมากนั้น เชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว” นาวีด แซตตาร์ ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์เมตาบอลิซึมจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาใหม่กล่าวในแถลงการณ์  

 

การศึกษาอื่นที่เป็นไปในทำนองเดียวกัน เผยผู้คนบริโภคเครื่องดื่มที่ใช้สารให้ความหวานเชื่อมโยงโรคอื่นๆ และความเสี่ยงด้านสุขภาพ

มีการศึกษาซึ่งตีพิมพ์เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ในวารสาร Circulation: Arrhythmia and Electrophysiology ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้คนกว่า 2 แสนคนที่เข้าร่วมในฐานข้อมูลชีวการแพทย์ขนาดใหญ่ที่เรียกว่าการศึกษาธนาคารชีวภาพระยะยาว ซึ่งติดตามมาเป็นเวลาเฉลี่ย 10 ปี โดยผู้คนส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 37-73 ปี และมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง พบว่า

  • ผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มที่ใช้สารให้ความหวานมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้หญิง อายุน้อยกว่า มีน้ำหนักมากกว่า และมีความชุกของ “โรคเบาหวานประเภทที่ 2” สูงกว่า
  • ส่วนผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ชาย อายุน้อยกว่า มีน้ำหนักมากกว่า และมีความชุกของ “โรคหัวใจ” สูงกว่า
  • ผู้ที่ดื่มทั้งเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและน้ำผลไม้บริสุทธิ์ มีแนวโน้มที่จะได้รับน้ำตาลทั้งหมดมากกว่าผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่ใช้สารให้ความหวาน

ทั้งนี้ ดร.หนิงเจี้ยน หวัง ศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวตง และผู้เขียนรายงานการศึกษาหลัก กล่าวว่า ผลการศึกษาของเราในครั้งนี้ไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าเครื่องดื่มประเภทหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพมากกว่าอีกประเภทหนึ่ง เนื่องจากความซับซ้อนของการรับประทานอาหารของเรา และเนื่องจากบางคนอาจดื่มเครื่องดื่มมากกว่าหนึ่งประเภท

ผลวิจัยใหม่พบสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เพิ่มความเสี่ยงหัวใจเต้นผิดปกติ 20%

อย่างไรก็ตาม จากการค้นพบเหล่านี้เราขอแนะนำให้ผู้คนจำกัดปริมาณ หรืออาจหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ใช้สารให้ความหวาน และแน่นอนว่าควรลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลงให้มากที่สุด เพราะ “น้ำตาล” นำมาซึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง  (NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และอย่าคิดว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลต่ำและแคลอรี่ต่ำนั้นดีต่อสุขภาพเสมอไป เพราะอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาวได้

 

 

 

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

logoline