svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เมื่อ Work-ไร้-Balance ไทยแลนด์ vs Work-Life-Balance ฟินแลนด์

27 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้หรือไม่? ประเทศไทยติดอันดับโลกเมืองรั้งท้าย Work-Life Balance ล่าสุดพบคนกรุงเทพฯ กว่า 70% เครียด เพราะอะไร ต้องแก้จากตรงไหน ให้ตัวอย่างของ “ฟินแลนด์” ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก 7 ปีซ้อนสอนไทย

เพราะมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร Work-Life Balance จึงสำคัญ การมีชีวิตที่สมดุลจะนำมาซึ่งความสุข ส่งผลให้เกิดความสำเร็จทั้งหน้าที่การงาน การดูแลครอบครัว การมีสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่ดี เมื่อชีวิตดี การงานมีประสิทธิภาพ องค์กรก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ และมีพนักงานที่มีคุณภาพช่วยสร้างศักยภาพให้กับองค์กรได้ในระยะยาว

ทว่า ประเทศไทยยังไม่เข้าใกล้ Work-Life Balance ที่ดี

ปี 2021 ผลสำรวจของ Kisi  บริษัทเทคโนโลยีให้คำปรึกษาด้านการทำงาน หัวข้อ “Cities with the Best Work-Life Balance 2021” ค้นหาว่าเมืองที่มีการทำงานที่สมดุลที่สุด และ "Cities with the  Overworked 2021” หรือเมืองที่มีประชากรที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและชีวิตไลฟ์สไตล์ขาดความสมดุลมากที่สุด พบว่า กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยติดอันดับ 3 ดีกว่าจีน และสิงค์โปร์เพียงนิดเดียว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตกของวัยทำงานชาวกรุง 

ในขณะที่ปี 2022 กรุงเทพฯ รั้งอันดับที่ 96 จากผลสำรวจ 100 เมืองทั่วโลกในดัชนี Work-Life Balance 2022 และล่าสุดในปี 2024 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยตัวเลขคนกรุงเทพฯ 70% มีภาวะเครียด!! เพราะไลฟ์สไตล์คนกรุงมีชีวิตที่เร่งรีบจากการทำงานจนบางครั้งผู้คนเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว ซึ่งนโยบายการตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน (ที่ขณะนี้ตรวจไปแล้วกว่า 1 แสนคน) พบว่ากว่า 70% มีภาวะเครียด

เมื่อ Work-ไร้-Balance ไทยแลนด์ vs Work-Life-Balance ฟินแลนด์

 

ผลเสียที่เกิดขึ้นเมื่อคนทำงานมากไปจน Work-ไร้-Balance

  • องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายงานการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร Environment International ระบุว่าการทำงานล่วงเวลา ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวและเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรหลายแสนคนต่อปี และนำไปสู่พฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ และทำให้ชีวิตไร้สมดุล
  • โดยกลุ่มคนที่ทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปในแต่ละสัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อการเป็น “โรคหลอดเลือดสมอง” สูงขึ้นประมาณร้อยละ 35 และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจาก “โรคหัวใจ” สูงขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานสัปดาห์ละ 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
  • โรคคาโรชิ (Karoshi) ประชากรวัยทำงานในญี่ปุ่นเผชิญกับการทำงานหนักจนตาย เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด อ่อนเพลีย จนเกิดความผิดปกติต่อร่างกายและอารมณ์ นำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งสาเหตุการตายส่วนใหญ่มักมาจากภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง และฆ่าตัวตาย ข้อมูลเชิงลึกระบุว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ทำงานเป็นเวลานานติดต่อกัน 60-70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือมากกว่านั้น
  • ข้อมูลจากองค์การแรงงานสากล (ILO) และองค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยผลสำรวจพบว่าในแต่ละปี มีคนทั่วโลกเสียชีวิตโดยมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการทำงานเกือบ 2 ล้านคน โดยปัจจัยที่ทำให้คนเสียชีวิตจากการทำงานมีหลายอย่าง ตั้งแต่ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไป พักผ่อนไม่เพียงพอ ป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน มลภาวะในที่ทำงาน เป็นต้น
  • การทำงานงานหนักยังส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ทำร้ายต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย ฯลฯ
  • คนทำงานหนักเกินไป เสี่ยงเป็น “โรคเบาหวาน” ซึ่งสาเหตุที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของพฤติกรรมการกินของหวาน ของมัน ของทอด โดยเฉพาะเมื่อทำงานหนัก เกิดความเครียดร่างกายต้องการของหวานเติมเต็ม เพราะว่าสามารถบรรเทาความเครียดได้ของหวานที่มีน้ำตาลสูงจะสามารถช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีนที่จะหลั่งออกมาในเวลารู้สึกเครียด เมื่อเครียดมากจึงกินมากขึ้น นับเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นแต่ทำลายสุขภาพเป็นอย่างมาก

 

8:8:8

ย้อนในปี ค.ศ.1810 โรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) นักเศรษฐศาสตร์และนักปฏิรูปทางสังคมชาวอังกฤษ ได้ตั้งสโลแกนในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพไว้ว่า “Eight hours labour, Eight hours recreation, Eight hours rest – ทำงาน 8 ชั่วโมง, สันทนาการ 8 ชั่วโมง, พักผ่อน 8 ชั่วโมง” ซึ่งมันกลายมาเป็นมาตรฐานของการสร้างสมดุลให้กับชีวิตตลอดจนการแบ่งเวลาในการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน

 

Work-Life Balance เหตุผลที่ "ฟินแลนด์" กลายเป็นดินแดนแห่งความสุข

Work-Life Balance เหตุผลที่ "ฟินแลนด์" กลายเป็นดินแดนแห่งความสุข

ผลการจัดอันดับของบริษัทโพล โดยแกลลัพ (Gallup) ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ และมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดอีก ปี 2024 เผย “ฟินแลนด์” ยังครองแชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก 7 ปีซ้อน ขณะที่ประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 58 จาก 60 ในปีที่แล้ว 

ปัจจัยที่ทำให้พลเมืองฟินแลนด์มีความสุขนั้นมีหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุม เช่น เรียนฟรีจนจบมหาวิทยาลัย นโนบายช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิต รัฐบาลมีความเป็นประชาธิปไตยสูง-บริหารงานโปร่งใส-คอร์รัปชันต่ำ พลเมืองมีเสรีภาพการใช้ชีวิตและความไว้วางใจในสังคม เข้าถึงธรรมชาติได้ตามกฎหมายที่เรียกว่า ‘Everyman’s Right’ โดยจะอนุญาตให้คนฟินแลนด์ใช้พื้นที่ป่า ทะเลสาบ และชายทะเลเกือบทุกแห่ง รัฐบาลให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ ส่งเสริมสิทธิสตรี และเป็นประเทศที่อาชญากรรมต่ำ นอกจากนี้ ยังมีอีกปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ฟินแลนด์โลกนาน นั่นคือ Work-Life Balance

รัฐให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance ของพลเมือง

ชีวิตการทำงานของชาวฟินแลนด์มีกฎเกณฑ์มากมายที่ลูกจ้างและนายจ้างต้องปฏิบัติตาม โดยกฎหมายและข้อตกลงร่วมครอบคลุมข้อกำหนดสำหรับชั่วโมงทำงาน เพื่อให้ผู้คนมีเวลาสำหรับงานอดิเรกและกิจกรรมยามว่างหลังเลิกงาน มีชั่วโมงการทำงานที่เป็นมิตรกับพนักงาน โดยต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ การลาป่วย วันหยุด การเลิกจ้าง และเงื่อนไขอื่นๆ ซึ่งนั่นทำให้การสร้างสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและการทำงานในฟินแลนด์นั้นง่ายกว่าในหลายประเทศ 

วัฒนธรรมการทำงานของฟินแลนด์

  • คนฟินแลนด์ตรงต่อเวลา ชีวิตการทำงานของชาวฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับความตรงต่อเวลา พนักงานแต่ละคนจะต้องมาถึงที่ทำงานตรงเวลาและปฏิบัติตามกำหนดเวลา
  • ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในที่ทำงานของฟินแลนด์คือ การทำงานให้เสร็จสิ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
  • วันหยุดที่ได้หยุดของจริง ที่ฟินแลนด์ พนักงานมีสิทธิ์ได้รับวันหยุดและวันลาพักร้อนจำนวนมาก ในแต่ละเดือนของการทำงานเต็มเวลา ชาวฟินแลนด์จะได้รับวันหยุดประจำปีอย่างน้อย 2 วันในช่วงฤดูร้อนที่จะเริ่มช่วงปลายเดือนมิถุนายน และเป็นเรื่องปกติที่ชาวฟินแลนด์จะใช้เวลาวันหยุด 1 สัปดาห์ในช่วงฤดูหนาว ไม่ว่าจะเป็นช่วงคริสต์มาส หรือต้นฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผู้คนมีความสมดุลในชีวิตการทำงานได้อีกครั้ง เพราะพวกเขาจะได้พักผ่อนกับครอบครัวก่อนกลับไปทำงาน นอกจากนี้ ยังมีวันหยุดราชการอื่นๆ ในฟินแลนด์อีกมากมายด้วย เช่น วันชาติ วันแรงงาน วันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วชาวฟินแลนด์จำนวนมากจะลาหยุด 4 สัปดาห์ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งดูเหมือนว่าวันหยุดในฟินแลนด์นั้นดูยาวนานมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่นายจ้างส่วนใหญ่ก็ยังให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน และต้องการให้ลูกจ้างใช้เวลาช่วงวันหยุด เนื่องจากความเชื่อในฟินแลนด์ที่ว่าพนักงานจะทำงานได้ดีขึ้นหากได้พักผ่อนบ้างเป็นครั้งคราว

ทั้งหมดล้วนเป็นเหตุผลที่คนฟินแลนด์มีความสุข จนส่งเสริมให้ประเทศนี้กลายเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก 7 ปีซ้อน 

logoline