svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

การสัมผัสสารกันบูดใน “ปลาทูนึ่ง” ส่งผลให้เกิด “มะเร็งผิวหนัง” ได้จริงหรือ?

19 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เผยบทสรุปของเรื่องการสัมผัสโดนสารกันบูดในปลาทูนึ่งทำให้มะเร็งผิวหนังที่มือ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุ “เป็นข้อมูลเท็จ” ชี้กระบวนการผลิตปลาทูนึ่งถือเป็นการถนอมอาหารและไม่จำเป็นต้องใส่สารกันบูด

KEY

POINTS

บทสรุปของเรื่องนี้คือ ไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลวิชาการที่บ่งชี้ว่าการสัมผัสสารกันบูดส่งผลให้เกิดมะเร็งผิวหนัง และกระบวนการผลิตปลาทูนึ่งถือเป็นการถนอมอาหารและไม่จำเป็นต้องใส่สารกันบูด

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลการสัมผัสสารกันบูดในปลาทูส่งผลให้เกิดมะเร็งผิวหนัง และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.nci.go.th หรือ โทร. 02-202-6800

ตามที่ได้มีผู้โพสต์เตือนเกี่ยวกับเรื่องหากสัมผัสโดนสารกันบูดในปลาทูนึ่งจะเป็นมะเร็งผิวหนัง ล่าสุด ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น “เป็นข้อมูลเท็จ”

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระบุการสัมผัสโดนสารกันบูดในปลาทูนึ่งทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังที่มือ “เป็นข้อมูลเท็จ”

โดยชี้แจงว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลวิชาการที่บ่งชี้ว่า การสัมผัสสารกันบูดในปลาทูนึ่งส่งผลให้เกิดมะเร็งผิวหนัง และกระบวนการผลิตปลาทูนึ่งถือเป็นการถนอมอาหารอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยรักษาคุณภาพปลาทูไว้ทำให้สามารถเก็บไว้ได้ในระยะหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องใส่สารกันบูด

สารกันบูดกับปลาทูนึ่ง

สารกันบูดเป็นสารที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาโดยการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุการเน่าเสียของอาหาร  ตัวอย่างของสารกันบูด เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก พาราเบนส์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และซัลไฟต์ เป็นต้น

สารกันบูดที่อนุญาตให้ใช้จะผ่านการประเมินความปลอดภัยและมีการกำหนดปริมาณที่บริโภคได้ต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีการสุ่มตรวจหรือสำรวจปริมาณการตกค้างของสารเหล่านี้ให้อยู่ในค่าไม่เกินมาตรฐาน

ปลาทูก่อนรับประทานควรนำมาผ่านความร้อนทุกครั้ง  

ทั้งนี้ กระบวนการผลิตปลาทูนึ่ง ถือเป็นการถนอมอาหารอยู่แล้วซึ่งจะช่วยรักษาคุณภาพปลาทูไว้ทำให้สามารถเก็บไว้ได้ในระยะหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องใส่สารกันบูด อย่างไรก็ตาม หากมีแผลที่มือควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่างๆ เพราะจะทำให้การหายของแผลช้าลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อปลาทูนึ่งจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ และก่อนรับประทานควรนำมาผ่านความร้อนทุกครั้ง

การสัมผัสสารกันบูดใน “ปลาทูนึ่ง” ส่งผลให้เกิด “มะเร็งผิวหนัง” ได้จริงหรือ?

เรื่องของปลาทูกับสุขภาพ

ปลาทู นับเป็นของอร่อยใกล้ตัว ที่ราคาไม่แพง อัดแน่นไปด้วยคุณประโยชน์ไม่แพ้แซลมอนปลาทะเลน้ำลึกที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกล และต่อไปนี้คือประโยชน์ของปลาทูที่จะทำให้มื้อต่อไปคงต้องใส่ไว้ในลิสต์รายการอาหารบ้างแล้ว

1. ปลาทู มีโปรตีนสูง

ปลาทูเป็นแหล่งที่ดีของโปรตีน และโปรตีนจากเนื้อปลาก็เป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ส่งผลให้ระบบย่อยไม่ต้องทำงานย่อยโปรตีนจากปลาหนักเท่าการย่อยโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู หรือเนื้อวัว อีกทั้งโปรตีนในเนื้อปลาทูยังมีปริมาณค่อนข้างสูง โดยปลาทู 100 กรัม มีโปรตีนอยู่ถึง 24.9 กรัม ร่างกายก็จะได้รับโปรตีนจากปลาทูไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้เจริญเติบโตตามวัยอันควรอีกด้วย

2. ปลาทูอุดมด้วย EPA และ DHA

ปลาทูอุดมด้วย EPA และ DHA ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว โดยสารทั้งสองชนิดนี้จะทำหน้าที่ลดการจับตัวของเกล็ดเลือดที่ผิดปกติ ในบางรายจึงทำให้เป็นภาวะหลอดเลือดแข็งตัวหรือพบการอักเสบ นอกจากนั้น ทั้ง EPA และ DHA ยังมีส่วนช่วยในการลดระดับไขมันชนิดที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดหรือหลอดเลือดอุดตันได้

3. ปลาทู แหล่งโอเมก้า 3 และ 6

โอเมก้า 3 และ 6 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนที่จำเป็นต่อร่างกาย มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาทและสมอง ทั้งยังเป็นส่วนประกอบของเยื่อบุผนังเซลล์ ช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โอเมก้า 3 และ 6 ในปลาทูนี้ยังเป็นโครงสร้างที่สำคัญของเนื้อเยื้อบริเวณจอประสาทตา หรือ retina ที่ช่วยในการมองเห็นอีกด้วย นอกจากนี้ ไขมันโอเมก้า 3 เป็นกรดที่จำเป็นต่อร่างกายและสมอง  มีส่วนช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ นอกจากนี้  ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ยังพบว่า กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง และการขาดกรดไขมันชนิดนี้ อาจเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าและโรคสมาธิสั้นได้ โดยเฉพาะในเด็กวัยกำลังเรียนรู้ หากขาดกรดไขมันโอเมก้า 3 อาจมีพัฒนาการด้านการอ่าน-เขียนค่อนข้างช้ากว่าเด็กในวันเดียวกันที่ได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

4. แคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินที่หลากหลายพบได้ในปลาทู

ในปลาทูมีแคลเซียม และฟอสฟอรัส สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยสารอาหารเหล่านี้จะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแรงกระดูกและฟันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในวัยเด็กและวัยผู้สูงอายุ ทั้งยังเต็มไปด้วยวิตามินต่างๆ เช่น ไอโอดีน ธาตุเหล็ก วิตามินบี 1 บี 2 กรดไขมันจำเป็น ไนอะซิน ถึงแม้จะมีปริมาณอย่างละนิดแต่ก็เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย ช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างเต็มที่ บำรุงประสาทและสมอง

 

logoline