svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

หมอสมองเทียบภาพความต่างของชายสูบบุหรี่วันละซองกับหญิงชราเตือนนักสูบ

31 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หมอประสาทศัลยแพทย์เทียบภาพสแกนสมองของคนสูบบุหรี่กับหญิงชราวัย 90 ปี พร้อมเตือนสายควัน คนสูบหนัก เสี่ยงสมองฝ่อ อัลไซเมอร์ เซ็กซ์เสื่อม เส้นเลือดสมอง-เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ชี้เป็นมะเร็งได้ทุกอวัยวะโดยเฉพาะมะเร็งปอด

นายแพทย์ประชา กัญญาประสิทธิ์ ประสาทศัลยแพทย์ แพทย์ชำนาญเฉพาะทางศัลยกรรมโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม โพสต์คลิปในเพจ หมอประชาผ่าตัดสมอง เปิดภาพสแกนสมองของผู้ป่วยพร้อมอธิบายว่าเป็นภาพสมองของชายอายุ 66 ปี ที่สูบบุหรี่วันละซอง ซึ่งมีสีดำมากกว่า เมื่อเทียบกับสมองของหญิงวัยชราอายุ 90 ปี โดยสีดำที่ปรากฏในภาพคือน้ำและเนื้อสมองที่ฝ่อ ทำให้คนที่สูบบุหรี่มีความจำที่แย่ลงเสี่ยงอัลไซเมอร์

หมอสมองเทียบภาพความต่างของชายสูบบุหรี่วันละซองกับหญิงชราเตือนนักสูบ

ในคลิปนายแพทย์ประชาได้แนะนำให้ผู้ที่สูบบุหรี่ควรเลิก เนื่องจากการสูบบุหรี่ตามมาด้วยโรคต่างๆ มากมาย ทั้งทำให้เซ็กซ์เสื่อม เส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และยังทำให้เป็นมะเร็งได้ทุกอวัยวะ โดยเฉพาะ “มะเร็งปอด”

หมอสมองเทียบภาพความต่างของชายสูบบุหรี่วันละซองกับหญิงชราเตือนนักสูบ

สองงานวิจัยชี้ความเชื่อมโยงของการสูบบุหรี่และโรคอัลไซเมอร์

นักวิจัยเตือนการสูบบุหรี่จัดในช่วงวัยกลางคนเพิ่มความเสี่ยง “โรคอัลไซเมอร์” และ “ภาวะสมองเสื่อม” ถึงเท่าตัว ผลงานของ ราเชล วิตเมอร์ นักวิจัยจากไคเซอร์ เพอร์มาเนนต์ในโอ๊คแลนด์ แคลิฟอร์เนีย และเพื่อนนักวิจัยร่วมกันรายงานไว้ในอาร์ไคฟ์ส ออฟ อินเทอร์นอล เมดิซิน เผยถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตนับล้านรายในแต่ละปีจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ

“จากการศึกษาบ่งชี้ว่า การสูบบุหรี่จัดระหว่างช่วงวัยกลางคนจะทำให้ความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมองสำหรับผู้ชายและผู้หญิงในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว”

นักวิจัยทีมนี้ระบุว่า การสูบบุหรี่ยังเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคหัวใจ และสำหรับการค้นพบครั้งใหม่นี้แสดงถึงภัยคุกคามด้านสาธารณสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต เมื่อคนเรามีแนวโน้มเป็นโรคสมองเสื่อมอยู่แล้ว โดยรายงานพบอาสาสมัคร 5,367 คน หรือ 25% ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมบางประเภทระหว่างการติดตามผลนานกว่า 20 ปี ในจำนวนนี้รวมถึง 1,136 คนที่ถูกระบุว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์

ทั้งนี้ งานวิจัยระบุว่าคนที่สูบบุหรี่วันละ 2 ซองขึ้นไปมีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมองเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ พบว่าคนที่สูบบุหรี่วันละ 2 ซองขึ้นไปมีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 114% และเพิ่มขึ้น 157% สำหรับโรคอัลไซเมอร์ และ 172% ในส่วนโรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมอง โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าทุกปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ถึง 5 ล้านราย และประชากรวัยผู้ใหญ่ 430,000 รายเสียชีวิตจากการหายใจเอาควันบุหรี่ของผู้อื่นเข้าปอดในแต่ละปี

หมอสมองเทียบภาพความต่างของชายสูบบุหรี่วันละซองกับหญิงชราเตือนนักสูบ

อีกหนึ่งงานวิจัยเรื่องบุหรี่กับโรคอัลไซเมอร์เป็นของศาสตราจารย์ Claudio Soto และเพื่อนร่วมงานที่วิทยาลัยการแพทย์ Houston University of Texas ที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature Communications ชี้ว่าการสูบบุหรี่อาจมีผลกระทบต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว หรืออาจทำให้อาการของโรคอัลไซเมอร์แย่ลง การศึกษาที่ว่านี้ทำกับหนูทดลอง แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าผลที่ได้สามารถนำมาปรับใช้กับมนุษย์ได้ โดยเฉพาะการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่

ศาสตราจารย์ Claudio Soto แห่งภาควิชาประสาทวิทยา University of Texas อธิบายว่าคณะนักวิจัยได้แยกหนูทดลองที่มีโรคอัลไซเมอร์แบบเดียวกับมนุษย์เป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้สูดดมควันแบบเดียวกับที่ผู้สูบบุหรี่ปล่อยออกมาลักษณะเดียวกับ Second-hand Smoker ส่วนกลุ่มที่ 2 ปล่อยให้ได้รับควันบุหรี่โดยตรงในปริมาณเท่ากับคนสูบบุหรี่ 1-2 มวนต่อวัน แล้วนำผลการวิจัยที่ได้ไปเปรียบเทียบกับหนูทดลองที่ไม่ได้สูดดมควันบุหรี่เลย

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ Claudio Soto ยังได้เปิดเผยผลการวิจัยว่าหนูที่สูดดมควันบุหรี่มีสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้น เห็นได้จากสมองบางส่วนเริ่มถูกทำลายและยังพบคราบแบคทีเรียในสองของหนูทดลองซึ่งมีลักษณะคล้ายกับที่พบในสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สด้วย

 

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ Soto ชี้ว่าโรคอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่ที่เกิดกับผู้สูงอายุนั้นมักจะเกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจาย หมายความว่าไม่มีปัจจัยเรื่องของพันธุกรรมมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นสิ่งที่พอจะบ่งบอกได้ว่าเป็นสาเหตุของโรคคือวัยที่เพิ่มขึ้นและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเช่นควันบุหรี่ ดังนั้น คำแนะนำของนักวิจัยเรื่องนี้ก็คือควรเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด ซึ่งเชื่อว่าน่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

 

logoline