svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

แจ้งเตือนพบการระบาดของเชื้อไวรัส RSV เพิ่มสูงโดยเฉพาะในเด็กเล็ก

13 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ประกาศเตือนให้ผู้ปกครองเฝ้าระวังอาการติดเชื้อไวรัส RSV หลังพบการระบาดในเด็กเล็กเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่กรมการแพทย์ไทยเตือน 4 โรคติดต่อพบบ่อยช่วงฤดูฝน แนะผู้ปกครองควรเฝ้าระวังลูกน้อยเป็นพิเศษ

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC แจ้งพบการระบาดของเชื้อไวรัส RSV เพิ่มสูงขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มเด็กเล็กในพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ โดยตามปกติแล้ว เชื้อไวรัส RSV จะเริ่มระบาดในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ต่อเนื่องไปจนถึงฤดูหนาว คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอื่นๆ แต่ในปีนี้พบว่าการระบาดของเชื้อ RSV เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ทั้งในรัฐฟลอริดา และจอร์เจีย

แจ้งเตือนพบการระบาดของเชื้อไวรัส RSV เพิ่มสูงโดยเฉพาะในเด็กเล็ก

โดยในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยของการตรวจหาเชื้อ RSV ใน 3 สัปดาห์ในรัฐฟลอริดาสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าเกินเกณฑ์ในช่วงเริ่มต้นฤดูกาล RSV ถึง 3% ส่วนในรัฐจอร์เจีย ผู้ติดเชื้อ RSV อายุต่ำกว่า 4 ปีที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจาก 2.0 ต่อประชากร 100,000 คน ในช่วงก่อนหน้านี้กลายมาเป็น 7.0 ต่อประชากร 100,000 คน และเป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ต้องเข้าโรงพยาบาลมีอายุน้อยกว่า 1 ขวบ

ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมาพบการระบาดของ RSV เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมก่อนจะลดลงในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งในช่วงนั้นอาจจะเกี่ยวเนื่องกับการล็อกดาวน์จากโควิดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020-2022 ทำให้อัตราการติดเชื้อลดลงไปโดยปริยาย โดยในทุกๆ ปีจะพบเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องเข้ารักษาอาการในโรงพยาบาลราว 58,000-80,000 คน และพบผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปติดเชื้อราว 60,000-160,000 คน ขณะที่มีเด็กต้องเสียชีวิตจาก RSV ปีละประมาณ 100-300 ศพ และมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจาก RSV 6,000-10,000 ศพ จึงฝากไปยังหน่วยงานดูแลเด็กและผู้สูงอายุ ให้เฝ้าระวังไวรัสนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นโรคที่อันตรายต่อวัยทารกและเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่เกิดก่อนกำหนด เด็กที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีโรคประจำตัวเช่นโรคปอด โรคหัวใจ รวมไปจนถึงผู้สูงอายุด้วย

แจ้งเตือนพบการระบาดของเชื้อไวรัส RSV เพิ่มสูงโดยเฉพาะในเด็กเล็ก

RSV แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาตรงไหน?

อาการติดเชื้อไวรัส RSV นั้น มักจะไม่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาในผู้ใหญ่หรือเด็กโต แต่ในเด็กเล็กเริ่มต้นเป็นไข้หวัดแล้วอาจมีเชื้อลุกลามไปทางเดินหายใจส่วนล่างเป็นปอดอักเสบได้ ทั้งนี้ แพทย์สามารถตรวจจากน้ำมูก ซึ่งจะตรวจพบเชื้อ RSV เพียงร้อยละ 53-96 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV การตรวจทำได้ในบางโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจทุกรายเพราะการตรวจพบ หรือไม่พบเชื้อ RSV ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการรักษา แต่ช่วยในการแยกผู้ป่วยเพื่อลดการแพร่กระจายโรคได้

สำหรับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) มีสองสายพันธุ์หลัก คือ RSV-A และ RSV-B สามารถป่วยซ้ำได้หลายครั้งเมื่อร่างกายอ่อนแอ เด็กที่ป่วยจะมีอาการเบื้องต้นคล้ายเป็นไข้หวัดธรรมดามีน้ำมูก ไข้ ไอ จาม ส่วนมากอาการมักไม่รุนแรง และหายป่วยได้เองภายใน 1–2 สัปดาห์

แต่ในเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ อาจมีอาการรุนแรงจนเป็นหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบได้ โดยมักมีอาการไข้สูง ไอมีเสมหะมาก ไอมากจนอาเจียน หายใจหอบเหนื่อยจนอกบุ๋ม หายใจแรง หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ด ซึม ตัวเขียว ในบางรายอาจทำให้เกิด "โรคปอดอักเสบรุนแรง" จนถึงขั้นเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพาลูกน้อยไปปรึกษากุมารแพทย์

สำหรับการติดต่อของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV เป็นโรคติดต่อเกิดจากการสูดละอองฝอยที่ปนเปื้อนเชื้อผ่านการไอ จาม หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ผ่านทางตา จมูก ปากหรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อจะเริ่มแสดงอาการได้เร็วที่สุดหลังจากติดเชื้อ 2 วัน ช้าสุดประมาณ 8 วัน โดยส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 วัน สามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วันหลังจากเริ่มมีอาการ ไปจนถึง 3-4 สัปดาห์โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

 

กรมการแพทย์เตือน 4 โรคติดต่อพบบ่อยช่วงฤดูฝน

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า โรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน ส่วนมากมักเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่, ไข้ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ซึ่งทำให้มีหลอดลมอักเสบ, ปอดอักเสบติดเชื้อหรือปอดบวม รวมถึงโรคมือเท้าปาก และโรคไข้เลือดออก ที่มีการระบาดในช่วงหน้าฝนนี้เช่นกัน สาเหตุการติดเชื้อมาจากการสูดหายใจเอาละอองหรือสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคเกาะอยู่ เช่น น้ำมูก หรือน้ำลาย อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูง ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย 

สำหรับโรคมือเท้าปาก มีสาเหตุจากการติดเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส (Enterovirus) ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยมีอาการเด่นที่ผิวหนังคือ มีตุ่มนูน แดง หรือเป็นตุ่มน้ำใส พบมากบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในช่องปาก ในผู้ป่วยบางรายอาจพบการกระจายของตุ่มผื่นทั่วตัวได้รวมถึงที่เข่าและก้น เด็กมักมีไข้สูง ไม่ยอมรับประทานอาหาร เพราะรู้สึกเจ็บตุ่มแผลในช่องปากหรือกระพุ้งแก้ม 

ในส่วนของโรคไข้เลือดออกนั้น มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เด็กมักมีอาการไข้สูงนำมาก่อนอาการอื่น มักไม่พบอาการไอน้ำมูก อาจพบหน้าแดงตัวแดงผิดปกติ และอาจพบอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้องที่ชายโครงขวา เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาจำเพาะแพทย์จะดำเนินการรักษาตามอาการของผู้ป่วย เช่น การให้ยาลดไข้ ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะปริมาณมากและเหนียวข้น หรือมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย อาจต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมหรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย รวมถึงทำหัตถการเคาะปอดและดูดเสมหะออก ให้สารน้ำทางน้ำเกลือในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ลดลงหรือไอมีเสมหะมากจนอาเจียน หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนอาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย และในรายที่มีอาการรุนแรงหรือเริ่มมีภาวะหายใจล้มเหลวอาจจะต้องพิจารณาให้ออกซิเจนแรงดันสูงหรือเครื่องช่วยหายใจ แต่ถ้าหากเด็กมีอาการไม่รุนแรง เบื้องต้นผู้ปกครองสามารถรักษาอยู่ที่บ้านเองได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 3-5 วันหรือพบมีอาการรุนแรงดังกล่าวข้างต้น แนะนำให้พาลูกน้อยมาปรึกษากุมารแพทย์ที่โรงพยาบาล

สำหรับการป้องกันโรค ทำได้โดยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง สอนให้ลูกน้อยรักความสะอาดล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในที่แออัดหรือในบริเวณสาธารณะ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเมื่อมีน้ำมูกคั่ง ทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

logoline