svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

'อุจจาระร่วง' ติดต่อได้หรือไม่ แล้วถ่ายแบบไหนต้องรีบไปหาหมอ

09 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ส่องอาการ ‘ท้องเสีย’ กับ ‘อุจจาระร่วง’ ความเหมือนที่แตกต่าง แล้วท้องเสียแบบไหนเข้าข่ายโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน หรืออุจจาระร่วงเรื้อรัง พิษภัยจากการบริโภค หลังจังหวัดภูเก็ตพบผู้ป่วยเฉลี่ย 150 รายต่อวัน พร้อมย้ำอาการเข้าขั้นอันตรายที่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

จากข่าวกรณี จ.ภูเก็ต สั่งเฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วง หลังพบผู้ป่วยเฉลี่ย 150 รายต่อวัน จึงอยากแนะนำวิธีการสังเกตอาการความผิดปกติของระบบขับถ่ายที่อาจเข้าข่ายเป็นอันตราย ดังนี้

เบื้องต้นสำหรับอาการ “ท้องเสีย” หมายถึงการที่คนเราถ่ายเหลวผิดปกติ เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ส่วนในทางการแพทย์ที่เรียกว่า อุจจาระร่วง (diarrhea) หมายถึงการที่คนเราถ่ายอุจจาระเหลวผิดจากปกติ ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ใน 1 วัน หรือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ หรือเป็นมูกเลือดแม้เพียงครั้งเดียว ซึ่งการที่กำหนดเช่นนั้นก็เพื่อความสะดวกในการดูแลคนไข้ โดยคนไข้ที่มีอาการอุจจาระร่วง มักจะเกิดจากโรคที่อาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากหมอ ขณะที่อาการท้องเสียเล็กน้อยไม่ถึงขั้นอุจจาระร่วงมักหายเองได้ โดยไม่ต้องรับการดูแลใดๆ

'อุจจาระร่วง' ติดต่อได้หรือไม่ แล้วถ่ายแบบไหนต้องรีบไปหาหมอ

กลุ่มของโรคอุจจาระร่วง

โรคอุจจาระร่วง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มของโรคอุจจาระร่วงแบ่งตามระยะเวลาที่แสดงอาการ

1. อุจจาระร่วงแบบเฉียบพลัน มีอาการถ่ายอุจจาระอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายชั่วโมงหรือหลายวัน แต่มักหายภายใน 7 วัน

2. อุจจาระร่วงแบบยืดเยื้อ มีอาการถ่ายอุจจาระติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์

3. อุจจาระร่วงแบบเรื้อรัง มีอาการถ่ายอุจจาระติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์

อุจจาระร่วงมีสาเหตุที่พบบ่อยหรือที่สำคัญ ดังนี้

 1. อาหารเป็นพิษ

โรคนี้มักเกิดในฤดูร้อน มักจะเกิดจากอาหารที่ปรุงไว้ล่วงหน้านานๆ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งหากมีการห่ออาหารไว้อย่างหนาแน่น เชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ปนเปื้อนใน อาหารจะจเริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิที่อุ่นพอเหมาะ ในภาวะที่ไม่มีออกซิเจน และ สร้างสารพิษออกมา สารพิษดังกล่าวมีฤทธิ์ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ปวดท้องแบบบิดๆ เป็นพักๆ บางครั้งมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการดังกล่าวมักเกิดหลังกินสารพิษเข้าไป 2 - 12 ชั่วโมง สารพิษนี้บางชนิดถูกทำลายได้ด้วยความร้อน แต่บางชนิดก็ไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้นบางครั้งแม้จะนำอาหารดังกล่าวมาอุ่นใหม่ก่อนรับประทานอาหาร ก็ยังทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดจึงต้อง รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ เท่านั้น

ลักษณะที่เด่นชัดของโรคนี้อีกประการหนึ่งคือ มักเกิดในคนที่กินอาหารแบบเดียวกันพร้อมกันหลายคน แต่บางคนอาจมีอาการมาก บางคนมีอาการน้อย โรคนี้หายได้เองแต่คนไข้บางคนที่มีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายมาก หรืออาเจียนมาก ก็จำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดดำ ให้ยาแก้ปวดท้อง แก้อาเจียน

  2. ติดเชื้อไวรัสโรตา

เชื้อไวรัสโรตาเป็นเชื้อโรคขนาดเล็กมากชนิดหนึ่ง มักก่อให้เกิดโรคในเด็กเล็ก มีลักษณะพิเศษคือมักเกิดในฤดูหนาว ขณะที่โรคอุจจาระร่วงจาก สาเหตุอื่นๆ มักเกิดในฤดูร้อน เด็กอาจมีไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดแล้วตามด้วย อุจจาระร่วง อาเจียน หรือบางคนอาจไม่มีอาการหวัดก็ได้ อุจจาระจะมีลักษณะเป็นน้ำ บางคนมีอาการน้อยและหายได้เอง แต่บางคนจะมีอาการมากจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โรคนี้มีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ เชื้อโรคจะทำลายเยื่อบุลำไส้เล็ก ทำให้ลำไส้ลดการหลั่งน้ำย่อยที่ใช้ในการย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม นมที่ไม่ย่อยจะถูก แบคทีเรียในลำไส้สลายเกิดเป็นกรด และทำให้อุจจาระร่วงมากขึ้นอีก เด็กจะถ่าย เป็นน้ำพุ่งและเป็นฟอง บริเวณก้นจะแดงเนื่องจากการระคายเคืองจากอุจจาระที่เป็นกรด เด็กที่หมอสงสัยว่าจะย่อยนมไม่ได้ อาจแนะนำให้งดนม หรือเปลี่ยนเป็นนมสูตร พิเศษที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตส เช่นนมที่ทำจากถั่วเหลือง กินประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วจึงเปลี่ยนเป็นนมตามปกติ

โรคนี้สามารถติดต่อไปสู่คนอื่นได้ทางอุจจาระของคนไข้ ดังนั้น เด็กที่เป็นโรคไม่ควรคลุกคลีกับเด็กอื่น ผู้ดูแลเด็กที่เป็นโรคควรหมั่นล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยปัจจุบันมีวัคซีนชนิดกินให้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ แต่ราคายังแพงค่อนข้างมาก

3. อหิวาตกโรค

โรคนี้ถึงแม้ปัจจุบันจะไม่พบบ่อย แต่ก็เป็นโรคที่มีความสำคัญ เนื่องจากคนไข้อาจมีอุจจาระร่วงรุนแรง และหากให้การรักษาไม่ทันท่วงทีก็อาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ โรคติดต่อได้ง่ายทางอาหารและน้ำ คนเป็นโรคนี้จากการกินน้ำหรืออาหารที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรคนี้ปนอยู่เข้าไป บางครั้งอาจมีการระบาดของโรคนี้ได้ แต่โชคดีที่เชื้อ อหิวาตกโรคถูกทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้นการกินอาหารที่ทำให้สุกด้วยความร้อน จะป้องกันโรคนี้ได้

ลักษณะที่เด่นชัดของโรคนี้คือ คนไข้จะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำพุ่งครั้งละมากๆ และบ่อย บางคนจะถ่ายอุจจาระเป็นลักษณะคล้ายน้ำซาวข้าว คนไข้จะเสียน้ำอย่างรวด เร็วจนความดันโลหิตต่ำ (ที่เราเรียกว่าช็อก) และเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม คนที่ติด เชื้อโรคนี้บางคนอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการอุจจาระร่วงไม่รุนแรง ดังนั้นหากเกิดการ ระบาด ผู้สัมผัสโรคอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจและรักษา แม้จะมีอาการไม่มาก ก็ตาม

ปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคนี้ได้ มีทั้งชนิดฉีดและกิน แต่ไม่แนะนำให้ใช้ โดยทั่วไป ยกเว้นคนที่จะเดินทางไปในประเทศที่มีโรคนี้ชุกชุม เช่น อินเดีย บังคลาเทศ อาจรับวัคซีนก่อนการเดินทางเพื่อป้องกันโรค

กรณีอุจจาระร่วงเรื้อรัง ถ่ายทุกวันนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือเป็นๆ หายๆ บ่อย อาจมีสาเหตุ เช่น

  • เกิดจากลำไส้ไวต่อสิ่งกระตุ้น บางคนหลังกินอาหารบางอย่าง (เช่น นม ของเผ็ด น้ำส้มสายชู เหล้า กาแฟ) ก็จะกระตุ้นให้ลำไส้ขับเคลื่อนเร็ว เกิดอาการปวดท้องถ่าย และถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายอุจจาระเหลว  2-3 ครั้ง ภายในครึ่งชั่วโมงหลังกินอาหาร มักเป็นไม่รุนแรง แต่จะเป็นบ่อยเมื่อกินอาหารชนิดนั้นๆ อีก
  • โรคลำไส้แปรปรวน พบในคนวัยหนุ่มสาวขึ้นไป มักมีสาเหตุจากความเครียด หรือจากอาหารบางชนิด ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องถ่าย และถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำวันละหลายครั้งทุกวันในช่วงที่มีความเครียด หรือถ่ายเหลวหรือเป็นน้ำ 1-2 ครั้ง หลังกินอาหารทันที อาการมักไม่รุนแรงและมีสุขภาพแข็งแรง บางคนอาจมีอาการเป็นๆ หายๆ มานานหลายปี หรือนับสิบๆ ปี
  • โรคพร่องเอนไซม์แล็กเทส บางคนอาจพร่องมาแต่กำเนิด บางคนอาจพร่องชั่วคราวหลังจากมีอาการท้องเดินจากการติดเชื้อ ทำให้ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสที่อยู่ในนม ผู้ป่วยมักมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ถ่ายเป็นน้ำหลังดื่มนมทุกครั้ง โดยทั่วไปมักมีสุขภาพแข็งแรงดี และถ้าไม่ดื่มนมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนมก็จะไม่มีอาการ
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป ผู้ป่วยอยู่ๆ มีอาการถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง ทุกวันนานเป็นสัปดาห์ถึงแรมเดือน ต่อมาจะมีอาการน้ำหนักลดฮวบฮาบ อ่อนเพลีย บางคนอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดสดร่วมด้วย
  • สาเหตุอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคเอดส์ คอพอกเป็นพิษ เป็นต้น ผู้ป่วยมักมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้งทุกวัน อ่อนเพลีย น้ำหนักลดฮวบฮาบ

ทั้งนี้ แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการแสดงของผู้ป่วยเป็นหลัก ได้แก่ อาการปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน อาจมีประวัติว่าผู้ที่กินอาหารด้วยกันบางคนหรือหลายคน (เช่น งานเลี้ยง คนในบ้าน) มีอาการท้องเดินในเวลาไล่เลี่ยกัน ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรง มีไข้สูง หรือสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ เป็นต้น ส่วนในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจทำการถ่ายภาพลำไส้ด้วยรังสี หรือใช้กล้องส่องตรวจทางเดินอาหารเพิ่มเติม

'อุจจาระร่วง' ติดต่อได้หรือไม่ แล้วถ่ายแบบไหนต้องรีบไปหาหมอ

การติดต่อและแพร่กระจายของเชื้อ

การติดต่อและแพร่กระจายของโรคอุจจาระร่วง พบมากจากสาเหตุการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร โดยเชื้อจะมีการฟักตัว และเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะถูกขับถ่ายอออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย และแพร่กระจายปะปนกับสิ่งมีชีวิต รวมถึงผักผลไม้ อาหาร น้ำดื่ม เข้าสู่ร่างกายคนเราได้อีก นอกจากนี้ เชื้อยังสามารถแพร่กระจายจากการอาเจียนของผู้ป่วย รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ที่ผู้ป่วยสัมผัสได้ด้วย

คนที่อุจจาระร่วงแบบไหนควรรีบไปหาหมอ

ในผู้ป่วยที่อุจจาระร่วงเป็นน้ำ ส่วนใหญ่เป็นโรคที่หายได้เอง ไม่ต้องใช้ยารักษาเฉพาะ ยกเว้นอหิวาตกโรคที่ต้องใช้ยาเพื่อฆ่าเชื้อ การรักษาที่สำคัญคือการให้น้ำและเกลือแร่ทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียทางอุจจาระและจากการอาเจียน

ในคนไข้ที่มีอาการไม่มาก อาจให้กินสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือที่เรามักรู้จักกันในชื่อ โอ-อาร์-เอส (ORS)  จิบแทนน้ำบ่อยๆ แต่ที่ต้องทำความเข้าใจคือ โอ-อาร์-เอส จะทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียไปเท่านั้น ไม่ได้ทำให้หยุดถ่ายทันที และที่สำคัญอีก ประการหนึ่งคือ โอ-อาร์-เอส ที่เป็นผง ต้องผสมน้ำกับปริมาณที่ถูกต้องตามที่ระบุ ในสลากยา หากผสมเข้มข้น หรือเจือจางเกินไป อาจทำให้ไม่ค่อยได้ผล หรือเกิด ภาวะแทรกซ้อนได้

หากไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรกินยาที่ทำให้หยุดถ่ายทันที เนื่องจากอาจก่อให้เกิด ผลเสียมากกว่าผลดี เช่น ท้องอืด ถ่ายอุจจาระนานขึ้น ในเด็กเล็กอาจทำให้เด็กหยุด หายใจได้

คนที่ควรหาหมอ คือคนไข้ที่อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระบ่อยมาก หรือขาดน้ำรุนแรง หรือเป็นนานเกิน 1 วัน แล้วยังไม่ดีขึ้น คนที่มีอาการมาก หมออาจรับเข้ารักษาใน โรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ เราควรรู้ว่าอาการอะไรที่บอกว่าคนไข้ ขาดน้ำรุนแรง ในผู้ใหญ่ จะมีอาการอ่อนเพลียมาก หน้ามืด ใจสั่น ตาโหล เป็นตะคริว ปัสสาวะออกน้อยและสีเข้ม ส่วนในเด็กเล็กเนื่องจากเด็กจะไม่รู้อาการหน้ามืด ใจสั่น เป็นอย่างไร ดังนั้น ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตสีและปริมาณปัสสาวะ และดูอาการตาโหล ริมฝีปากแห้ง กระหม่อมบุ๋ม ซึมหรือกระสับกระส่าย ไม่เล่นตามปกติ หากมีอาการ ดังกล่าวควรรีบหาหมอทันที

 

logoline