svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

จ.ภูเก็ต สั่งเฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วง หลังพบผู้ป่วยเฉลี่ย 150 รายต่อวัน

09 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภูเก็ตสั่งเฝ้าระวัง สถานการณ์โรคติดต่อระบบทางเดินอาหารและน้ำ หลังพบผู้ป่วยอุจจาระร่วง เฉลี่ย 150 รายต่อวัน ขอให้ประชาชนยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด" และดื่มน้ำสะอาดที่ได้รับมาตรฐาน

9 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (8 มิถุายน) นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายดนัย สุนันทารอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวกรณีสถานการณ์โรคติดต่อระบบทางเดินอาหารและน้ำ จังหวัดภูเก็ต

นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยและจังหวัดภูเก็ตเข้าสู่ฤดูฝน อากาศมีความเย็นและขึ้นทำให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคหลายชนิด โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อไวรัสโนโรและไวรัสโรต้า รวมถึงเชื้อแบคทีเรีย เชื้ออีโคไล ที่เกิดจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม น้ำแข็งที่ไม่สะอาด ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค ซึ่งเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค

จ.ภูเก็ต  สั่งเฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วง หลังพบผู้ป่วยเฉลี่ย 150 รายต่อวัน

ทั้งนี้ วันอังคารที่ 6 มิถุนายน 2566 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้รับรายงานสถานการณ์พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง เข้ารับบริการในโรงพยาบาลภาครัฐ เฉลี่ย 50 ราย/วัน โรงพยาบาลเอกชนเฉลี่ย 100 ราย/วัน กระจายหลายกลุ่มอายุ ในหลายพื้นที่ รวมทั้งมีรายงานพบนักเรียนป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงกระจายในหลายโรงเรียน โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลพบว่า 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้าโรงพยาบาลมีอาการ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย และบางรายมีไข้ ซึ่งพบทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งนี้ประวัติอาหารและความเชื่อมโยงยังไม่ชัดเจน และพบการกระจาย ของโรคทั้ง 3 อำเภอ สำหรับในโรงเรียนพบนักเรียนป่วยในพื้นที่อำเภอเมือง กะทู้ และถลาง ประวัติอาหารและความเชื่อมโยงยังไม่ชัดเจน จากสถานกรณ์ดังกล่าวสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการ ดังต่อไปนี้

จ.ภูเก็ต  สั่งเฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วง หลังพบผู้ป่วยเฉลี่ย 150 รายต่อวัน

1.แจ้งสถานบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐ และเอกชน ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคติดต่อทางอาหารและน้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการดำเนินการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคฯ ในพื้นที่รับผิดชอบ

2.แจ้งสถานศึกษาในพื้นที่ ทุกระดับ ให้ดำเนินการจัดกิจกรรมการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ การปฏิบัติตนให้ถูกสุขอนามัย ด้วยการรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ สะอาด ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ และอาหารค้างมื้อ งดทานอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากถ่ายอุจจาระ หรือสัมผัสสิ่งสกปรกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค ทั้งจากตนเองไปสู่ผู้อื่น

กรณีที่ป่วยให้หยุดงาน หยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ, ให้มีมาตรการคัดกรองผู้ป่วยให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย ,เน้นมาตรการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน และเพิ่มความเข้มข้น ความถี่ ในการทำความสะอาดจุดเสี่ยงในโรงเรียนเพื่อฆ่าเชื้อ

จ.ภูเก็ต  สั่งเฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วง หลังพบผู้ป่วยเฉลี่ย 150 รายต่อวัน

3.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่มีพฤติกรรมในการป้องกันควบคุมโรค ได้แก่ การปฏิบัติตนให้ถูกสุขอนามัย ด้วยการรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ สะอาด ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ และอาหารค้างมื้อ งดทานอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังจากถ่ายอุจจาระ หรือสัมผัสสิ่งสกปรก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคทั้งจากตนเองไปสู่ผู้อื่น กรณีที่ป่วยให้หยุดงาน หยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

4.ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  • เฝ้าระวังมาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร ประกอบด้วย ร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร ตลาดสด ตลาดนัด และอาหารริมบาทวิถี
  • ทำความสะอาดบริเวณพื้นที่สาธารณะ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน
  • กำกับดูแลระบบบำบัดน้ำเสียของหน่วยงาน ในการฆ่าเชื้อด้วยคลอรืนก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
  • ติดตาม กำกับดูแลระบบประปาของหน่วยงาน และประปาชุมชน ให้มีค่าคลอรีนอิสระคงเหลือปลายท่อ 0.5 - 1 ppm. และมีการสุ่มตรวจ เพื่อเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
  • ประสานประปาภูมิภาคให้ดำเนินการติดกตาม กำกับดูแลระบบประปาของหน่วยงานและประปาชุมชน ให้มีค่าคลอรีนอิสระคงเหลือปลายท่อ 0.5-1 ppm. และมีสุ่มตรวจ เพื่อเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
  • ประเมินและประสานสถานประกอบการที่ผลิตน้ำดื่ม และน้ำแข็ง เพื่อตรวจสอบเฝ้าระวังความปลอดภัย โดยดำเนินการตรวจสอบกระบวนการฆ่เชื้อและการควบคุมกระบวนการผลิต รวมถึงเน้นย้ำผู้ประกอบการกวดชันเกี่ยวกับสุขลักษณะที่ดีของพนักงานในกระบวนการมลิต และควบคุมไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในขั้นตอนการขนส่งน้ำแข็ง เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อ
  • ดำเนินการเฝ้าระวังเชื้อในพื้นที่โดยการเก็บตัวอย่าง น้ำ น้ำแข็ง น้ำใช้ อุจจาระ และอาเจียนเพื่อส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค (อยู่ระหว่างรอผล)

จ.ภูเก็ต  สั่งเฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วง หลังพบผู้ป่วยเฉลี่ย 150 รายต่อวัน

สำหรับการป้องกันโรคอุจจาระร่วง ขอให้ประชาชนยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด" โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่รับประทานอาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ และดื่มน้ำสะอาดที่ได้รับมาตรฐาน หากเป็นน้ำแข็งหลอดที่บรรจุถุง ควรสังเกตรายละเอียดบนฉลากให้ครบถ้วน และเครื่องหมาย อย. สำหรับอาหารค้างมื้อควรอุ่นร้อนทุกครั้งก่อนรับประทาน และล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร และภายหลังขับถ่าย

ทั้งนี้ หากอาการอุจจาระร่วงไม่ดีขึ้น มีอาการถ่ายเป็นน้ำมากขึ้น อาเจียนบ่อย รับประทานอาหารไม่ได้ มีไข้สูง ถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 กรณีป่วยไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้ขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วน 1669

logoline