svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงกับแนวคิดเรื่องฮาลาล

20 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทำความรู้จัก “เนื้อทางเลือก” เมื่อเนื้อสัตว์เพาะได้ในห้องแล็บ ความท้าทายใหม่ของโลกมุสลิมกับนานาทัศนะเรื่อง “ฮาลาล”

เรารู้จักเนื้อสัตว์ทางเลือกดีแค่ไหน

Alternative meat หรือ meat analogues อาจเรียกว่าเนื้อสัตว์ทางเลือก คือการออกแบบและลอกเลียนแบบเนื้อสัตว์ผ่านกระบวนการผลิตที่มีการปรับปรุง แต่งเสริม เติมรส ให้มีลักษณะทั้งภายนอก (appearance) กลิ่น (flavor) รสสัมผัส (taste) และเนื้อสัมผัส (texture) เหมือนกับเนื้อสัตว์ทุกประการ (Ruby, 2012) ข้อมูลโดยนางสาวเกษิณี เกตุเลขา อาริยะ ผู้ช่วยวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารฮาลาลอินไซต์ อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า เนื้อสัตว์ทางเลือกนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทตามวิธีการผลิต คือ

  1. plant-based meat คือเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากโปรตีนจากพืชตระกูลถั่ว หรือกลูเต็นจากข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์และข้าวโพด เป็นต้น
  2. cell-based meat หรือเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (culture meat) จากเสต็มเซลล์ของสัตว์ต้นแบบในภาวะที่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ทั้งนี้เนื้อแต่ละชนิดจะต้องการสภาวะการเลี้ยงเช่นอุณหภูมิ หรือสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป กระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อดังกล่าวเกิดขึ้นในหลอดทดลองบางครั้งจึงอาจเรียกว่า in vitro meat 
  3. เนื้อสัตว์ที่ผลิตขึ้นมาจากกระบวนการหมัก คือ fermentation-based meat เช่น ไมโครโปรตีน เป็นเนื้อสัตว์ทางเลือกที่ได้จากฟังไจที่ผลิตจากราสาย (filamentous fungi) Fusarium venenatum ซึ่งเป็นกลุ่มราที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการมาตรฐานอาหารของอังกฤษ (UK Food Standard Committee) ว่ามีความปลอดภัยและสามารถใช้ในการผลิตโปรตีนทางเลือกได้ (Sha & Xiong, 2020) เนื้อสัตว์ทางเลือกจึงนับเป็นรูปแบบหนึ่งของการผลิตอาหารแห่งอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้บริโภคให้ความตระหนักในการเลือกบริโภคอาหารที่ต้องดีทั้งในแง่ของคุณค่าทางโภชนาการและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงกับแนวคิดเรื่องฮาลาล

แนวคิดการทำเนื้อสัตว์ทางเลือกมาจากไหน

เนื้อสัตว์ทางเลือกจากพืชนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนของอาหารในโลกอนาคต และกลายมาเป็นรูปแบบใหม่ของการบริโภคโปรตีนที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรักสุขภาพ เนื่องจากมีรายงานข้อดีหลายประการ อาทิ

การบริโภคเนื้อสัตว์ปริมาณมากมีความสัมพันธ์กับความเจ็บป่วยบางประการของผู้บริโภค เช่น งานวิจัยที่ได้จากการวิเคราะห์อภิมาณ (meta-analysis) พบว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชแทนการรับประทานเนื้อสัตว์สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวาน ประเภท 2 หรือ type-2 diabetes  (Qian, Liu, Hu, Bhupathiraju, & Sun, 2019) และการเกิดโรคหัวใจ  (Lederman, 2019) รวมถึงลดโอกาสการสะสมสารก่อมะเร็งจำพวก Polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) และ N‐nitrosamines ที่ผลิตขึ้นมาเมื่อร่างกายบริโภคอาหารดัดแปลงจากเนื้อสัตว์เพราะมีไนโตรเจนและไขมันอิ่มตัวสูง (saturated fatty acid) (Cantwell & Elliott, 2017) นอกจากนี้ ยังพบการส่งผ่านและการสะสมของสารเคมีที่ใช้ในปศุสัตว์เช่นสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (ด้วงกลัด, 2018) ฮอร์โมนเร่งโตและยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์และเกิดการสะสมและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีโรคประจำตัว เด็ก คนชรา และสตรีมีครรภ์ 

เนื้อสัตว์ทางเลือกจากพืชนี้ยังได้รับการสนับสนุนในหมู่นักเคลื่อนไหว NGOs เนื่องจากเหตุผลด้านสวัสดิภาพของสัตว์ (animal welfare) และเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าปศุสัตว์ที่ต้องมีการจัดการระบบกำจัดสิ่งขับถ่าย ทั้งยังใช้พื้นที่ ทรัพยากรมาก ก่อให้เกิดมลภาวะ และก๊าซเรือนกระจกต่อโลกมากกว่าระบบเกษตรกรรมหรือการปลูกพืช (Sanchez-Sabate & Sabaté, 2019) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวยังต้องมีการศึกษาค้นคว้ากันอีกมาก 

อีกแนวคิดหลักของการพัฒนาเนื้อเพาะเลี้ยงคือเพื่อแก้ไขภาวะอาหารขาดแคลนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเนื้อที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บใช้เวลาน้อยกว่าการทำปศุสัตว์แถมยังใช้ทรัพยากรน้อยกว่าอีกด้วย นอกจากนี้ การเพาะเลี้ยงเนื้อให้ห้องแล็บยังมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย เพราะทุกวันนี้การทำปศุสัตว์เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมและมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 18% เลยทีเดียว

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญและสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ เราอาจจะคุ้นหูกันภายใต้ชื่อทางการค้าต่าง ๆ เช่น Beyond Meat™, Impossible Foods™, Light life™ สำหรับประเทศไทย Let’s planty meet คือรายแรกและเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมนี้ โดยผลิตเนื้อสัตว์จากพืชสำหรับเบอร์เกอร์ ซึ่งต่างก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในเชิงธุรกิจ มีการคาดเดาการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้จาก 4.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2018 เป็น 85 ล้านล้านดอลลาร์ ในอีก 9 ปีข้างหน้า (UBS, 2019)

เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงกับแนวคิดเรื่องฮาลาล

เนื้อสัตว์ทางเลือกกับมิติของศาสนา และประเด็นข้อถกเถียงเรื่อง “ฮาลาล”

มีข้อถกเถียงมากมายในโลกมุสลิมแม้กระทั่งในหมู่นักวิชาการอิสลามเอง และสำหรับบริษัทผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง คำตอบของคำถามนั้นอาจหมายถึงความอยู่รอดทางธุรกิจ เพราะนั่นอาจทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคมุสลิมซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ของตลาดเนื้อสัตว์ได้

ข้อถกเถียงเรื่องฮาลาลที่เกิดขึ้นนั้นแบ่งออกเป็นฝ่าย โดยฝ่ายแรกยืนยันว่าในศาสนาอิสลามเนื้อสัตว์จะฮาลาลก็ต่อเมื่อเนื้อนั้นมาจากสัตว์บางชนิดที่ผ่านการเชือดด้วยนามของอัลลอฮ์เท่านั้น ในขณะที่อีกฝ่ายก็โต้แย้งด้วยเหตุผลว่าเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงไม่ได้มีการเชือดมาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรกอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีข้อห้ามอะไร

สำนักข่าวรอยเตอร์ เคยออกรายงานอ้างถึงสถาบันอิสลามแห่งออเรนจ์เคาน์ตี้ในแคลิฟอร์เนียว่า “ดูเหมือนจะไม่มีข้อห้ามใดๆ ในการกินเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยง” แต่นั่นก็อาจเป็นเพราะเหตุผลที่ว่าเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงไม่ได้ถูกระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานตั้งแต่แรก เช่นเดียวกับ Chernor Saad Jalloh อิหม่ามแห่งศูนย์วัฒนธรรมอิสลามแห่งนิวยอร์กที่บอกว่า “นี่เป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน นี่ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะพบในอัลกุรอาน” และอิหม่ามยังบอกอีกว่ามีหลายสิ่งที่ต้องหาข้อสรุปกันก่อนที่จะติดฉลากฮาลาลบนเนื้อสัตว์ดังกล่าว

แม้ว่าการพัฒนาเนื้อเพาะเลี้ยงจะเกิดขึ้นมาแล้วหลายปี แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่มีข้อสรุปว่าเนื้อเพาะเลี้ยงนี้จะได้รับการรับรองฮาลาลหรือไม่ ซึ่ง Dr. Abdul Qahir Qamar ผู้อำนวยการฝ่ายฟัตวาและชะรีอะฮ์ แห่งสถาบันฟิกฮุลอิสลามนานาชาติ (International Islamic Fiqh Academy) บอกกับ Gulf News เอาไว้ตั้งแต่ปี 2013 ว่าเนื้อที่ผลิตในห้องปฏิบัติการจะไม่ถือว่าเป็นเนื้อจากสัตว์ที่มีชีวิต เนื่องจากสัตว์ไม่ได้ถูกฆ่า เขาจึงถือว่าเนื้อสัตว์นั้นคล้ายกับโยเกิร์ตซึ่งเป็นนมที่สกัดมาจากสัตว์ที่มีชีวิต

ด้านอิหม่ามมาห์มูด ฮาร์มูช แห่งมัสยิดริเวอร์ไซด์ในแคลิฟอร์เนีย กลับให้น้ำหนักกับแนวคิดที่ว่าเนื้อเพาะเลี้ยงจะฮาลาลก็ต่อเมื่อเซลล์นั้นถูกนำมาจากสัตว์ที่เชือดด้วยกรรมวิธีฮาลาลเท่านั้น ไม่ใช่นำมาจากสัตว์ที่มีชีวิต เพราะเงื่อนไขในการพิจารณาว่าเนื้อสัตว์นั้นฮาลาลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการเชือด ถ้าสัตว์ตัวนั้นไม่ได้ถูกเชือดเนื้อนั้นจะยังกินได้หรือไม่? แนวคิดของการเชือดแบบฮาลาลคือการระบายเลือดของสัตว์อย่างเหมาะสม แล้วเราจะพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างไรในเนื้อสัตว์ปลูก?

สุดท้ายแล้วกระบวนการตัดสินและรับรองว่าเนื้อเพาะเลี้ยงจะฮาลาลหรือไม่นั้น ก็ต้องเกิดขึ้นหลังจากการพูดคุยและหาข้อสรุปกันจากหลายภาคหลายส่วน ไม่ใช่เพียงแต่ในหมู่นักวิชาการอิสลามเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงนักวิทยาศาสตร์อาหารอีกด้วย ดังที่ Dr. Mian N. Riaz ศาสตราจารย์ด้านความหลากหลายของอาหารแห่ง Texas A&M University และบอร์ดบริหารของสภาอาหารและโภชนาการอิสลามแห่งอเมริกา (IFANCA) ได้กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิตและองค์ประกอบของอาหารที่ใช้เลี้ยงเนื้อเพาะเลี้ยงแก่นักวิชาการศาสนา เพื่อให้พวกเขาสามารถระบุสถานะฮาลาลของเนื้อเพาะเลี้ยงได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้นกระบวนการรับรองฮาลาลถึงจะเริ่มต้นขึ้นได้

 

source : halalinsight.orghalallifemag, gulfnews.comislamicity.org

 

logoline