svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เตือนภัยสุขภาพช่วงหน้าร้อน ระวัง ‘อี.โคไล’ อันตรายจากน้ำแข็ง

21 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หน้าร้อนระวังอันตรายจากสารปนเปื้อนในน้ำดื่ม-น้ำแข็ง หลัง อย.ตรวจพบน้ำแข็งหลอดปิดฉลากผลิตภัณฑ์ระบุ “น้ำแข็งหลอดใช้รับประทานได้” แต่ตรวจพบเชื้อโคลิฟอร์ม และ อี.โคไล ตัวการทำปวดท้อง-ท้องเสีย

กรุงเทพฯ และประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อน ช่วงอุณหภูมิสูงขึ้นคนส่วนใหญ่เลือกตัวช่วยดับร้อนเป็นเครื่องดื่มเติมน้ำแข็งเพิ่มความเย็นสดชื่น แต่ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่ายจากสถานที่ผลิตอาหารในเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งฉลากผลิตภัณฑ์ระบุ “น้ำแข็งหลอดใช้รับประทานได้” พร้อมเลขสารบบอาหาร โดยส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลการตรวจพบแบคทีเรียชนิดโคลิฟอร์ม มากกว่า 23 ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร โดยวิธี เอ็ม พี เอ็น (Most Probable Number) และตรวจพบแบคทีเรียชนิด อี.โคไล (Escherichia coli) ซึ่งไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ. 2527) เรื่อง น้ำแข็ง จึงจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ อย.อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิด จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังการซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว  

ซึ่งข่าวนี้ทำให้หลายคนที่กำลังร้อนอยู่กลับหนาวขึ้นมาทันที เมื่อเป็นหนึ่งในผู้ที่บริโภคน้ำแข็งจากแหล่งผลิตดังกล่าวที่ตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม และ อี.โคไล เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวส่งผลกระทบกับสุขภาพของผู้บริโภค

 

เตือนภัยสุขภาพช่วงหน้าร้อน ระวัง ‘อี.โคไล’ อันตรายจากน้ำแข็ง

สำรวจอันตรายจากสารปนเปื้อนในน้ำดื่มมีอะไรบ้าง

1.โคลิฟอร์ม (Coliform bacteria)

เป็นกลุ่มแบคทีเรียแกรมลบสามารถเจริญเติบโตได้ในที่ที่มีอากาศและไม่มีอากาศ มักพบในสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องน้ำ ทั้งในดินและพืช มีอยู่ในร่างกายสัตว์เลือดอุ่น รวมถึงอาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ แม้ว่าแบคทีเรียพวกนี้จะอยู่ในลำไส้ของพวกเรา แต่ก็เป็นเพียงบางส่วนหากพบว่ามีการเจือปนในน้ำดื่มมากเกินไปสามารถบ่งชี้ถึงความไม่สะอาดและไม่ถูกสุขลักษณะของแหล่งน้ำดื่มได้

โดยผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายกับเป็นไข้หวัดใหญ่ คือ เป็นไข้ ปวดท้อง และท้องเสีย สามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งแบคทีเรียโคลิฟอร์ม สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานกว่าจุลินทรีย์อื่นๆ แต่ไม่ทนความร้อน สามารถฆ่าเชื้อเหล่านี้ได้โดยผ่านกระบวนการทำความร้อนในระดับพาสเจอไรซ์หรือระบบกรองน้ำที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพก็สามารถช่วยกำจัดหรือควบคุมปริมาณของแบคทีเรียให้พอเหมาะและสามารถดื่มน้ำได้อย่างปลอดภัย

วิธีการป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย

  • ผ่านกระบวนการทำความร้อน เช่น การต้มให้น้ำเดือด
  • ผ่านระบบเครื่องกรองน้ำ ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพก็สามารถช่วยกำจัดหรือควบคุมปริมาณของแบคทีเรียให้พอเหมาะ และสามารถดื่มน้ำได้อย่างปลอดภัย
  • ใช้คลอรีนฆ่าเชื้อในน้ำ โดยมีความเข้มข้น ประมาณ 0.2 – 0.5 ppm

2.อีโคไล (E.coli)

Escherichia coli เป็นหนึ่งในแบคทีเรียที่พบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์ มีหลากหลายสายพันธุ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับแบคทีเรียโคลิฟอร์ม

ผลกระทบต่อร่างกายเมื่อได้รับเชื้ออี.โคไล

ผู้ป่วยอาจเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ E. coli ภายใน 1-10 วัน หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายเป็นปกติใน 5-10 วัน อาการโดยทั่วไปของโรคติดเชื้อชนิดนี้ ได้แก่

  • ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องอืด
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • อ่อนเพลีย มีไข้

ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีกลุ่มอาการฮีโมไลติกยูเรมิก (Hemolytic Uremic Syndrome: HUS) ซึ่งอาจส่งผลให้มีความดันโลหิตสูง มีภาวะไตวายและเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการบ่งชี้ของภาวะนี้ ได้แก่ อุจจาระหรือปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะน้อยลง ปวดท้อง อาเจียน มีไข้ ผิวซีด มีรอยฟกช้ำตามร่างกาย มีเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล อ่อนเพลีย มึนงง ปวดตามตัว เป็นต้น หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวหรือมีอาการรุนแรงต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • ผู้ใหญ่ที่อาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 4 วัน หรือเด็กและทารกที่อาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือนที่มีอาการคลื่นไส้และอาเจียน
  • อาเจียนอย่างต่อเนื่องและรุนแรง
  • กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้
  • ท้องเสียร่วมกับมีไข้
  • มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ง่วงซึม ปากแห้ง ผิวแห้ง กระหายน้ำอย่างมาก เวียนศีรษะ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้ออีโคไล

ผู้ป่วยโรคติดเชื้ออี.โคไลบางราย โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ อาจเกิดกลุ่มอาการฮีโมไลติกยูเรมิก ซึ่งเป็นภาวะที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลายก่อนอายุขัยและเข้าไปอุดตันระบบกรองของเสียของไต ส่งผลให้เกิดภาวะไตวาย ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง ความผิดปกติทางลำไส้หรือหัวใจ ภาวะโคม่า และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทว่าภาวะแทรกซ้อนนี้พบในผู้ป่วยเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เตือนภัยสุขภาพช่วงหน้าร้อน ระวัง ‘อี.โคไล’ อันตรายจากน้ำแข็ง

โอกาสของการได้รับเชื้อมาจากทางใดบ้าง

สำหรับการได้รับเชื้ออี.โคไล แม้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็อาจก่อให้เกิดอาการป่วยได้ โดยสาเหตุทั่วไปที่อาจทำให้ได้รับเชื้อ มีดังนี้

  • การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการปรุงที่ไม่สะอาด ปรุงไม่สุก หรือเก็บรักษาอย่างไม่เหมาะสม เช่น เนื้อสัตว์ดิบ อาหารทะเลดิบ ผักและผลไม้สด นมที่ไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ เป็นต้น
  • การนำนิ้วมือที่สัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก
  • การสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อหรือมูลสัตว์ที่มีเชื้อปะปน โดยเฉพาะวัว แพะ และแกะ
  • การสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ
  • การว่ายน้ำในสระน้ำหรือแหล่งน้ำที่มีเชื้อปะปน

3.โลหะหนัก (Heavy Metal)

คือธาตุที่มีน้ำหนักมากกว่าน้ำ 5 เท่า บางชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกายแต่บางชนิดก็เป็นพิษ และการนำสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายโดยการ “กิน” เป็นช่องทางที่นำเข้าสู่ร่างกายได้มากที่สุด สำหรับน้ำดื่ม สามารถปนเปื้อนได้จากภาชนะในขั้นตอนการผลิตน้ำดื่มหรือแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อน โดยโลหะหนักที่พบได้ในน้ำดื่ม ได้แก่

  • เหล็ก (Iron: Fe) เมื่อสะสมในร่างกายมากเกินไป จะทำให้ประสิทธิภาพในการย่อยอาหารลดลง หลอดเลือดขยายตัว ความดันโลหิตลด เลือดแข็งตัวช้า ตับเสื่อมสภาพ รวมไปถึงการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในร่างกาย
  • ปรอท (Mercury: Hg) รูปแบบที่ทำให้เกิดความเป็นพิษมากกว่าปรอทที่อยู่ในรูปของโลหะ คือ methyl และ ethyl ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย ระบบประสาทผิดปกติ ตามัว มองไม่ชัด ส่งผลต่อระบบความจำทำให้เกิดอาการความจำเสื่อม
  • แมงกานีส (Manganese: Mn) หากมีมากเกินความต้องการของร่างกาย จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เยื่อบุในระบบทางเดินอาหารอักเสบ ร้ายแรงที่สุด คือ ระบบประสาทถูกทำลายมีความเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาต
  • ทองแดง (Copper: Cu) ถ้าร่างกายสะสมทองแดง มากกว่า 100 มิลลิกรัม จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน เม็ดเลือดแดงแตกตัว จนไปถึงยับยั้งการทำงานของตับ แค่มีทองแดงสะสมเพียง 25-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ก็ทำให้ตับแข็งและเกิดอาการคลุ้มคลั่งได้ง่ายๆ

8 วิธีการป้องกันเชื้อโรคที่อาจปลอมปนมาในอาหารและน้ำดื่มช่วงหน้าร้อน

  1. ล้างมือเป็นประจำก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังจากใช้ห้องน้ำ และหลังจากสัมผัสสัตว์
  2. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและผ่านกรรมวิธีการปรุงที่ถูกสุขลักษณะ
  3. ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานสด
  4. ล้างภาชนะใส่อาหารให้สะอาดก่อนนำมาใช้งาน
  5. เก็บอาหารที่ต้องการรับประทานสด เช่น ผักและผลไม้ และอาหารที่ปรุงสุกแล้ว แยกส่วนกับเนื้อสัตว์ดิบ
  6. ไม่นำอุปกรณ์ทำครัวและภาชนะที่สัมผัสเนื้อดิบมาใช้กับผักผลไม้หรืออาหารที่ปรุงสุกแล้ว
  7. ดื่มนมที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งเป็นกระบวนการกำจัดแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกายด้วยความร้อน
  8. หลีกเลี่ยงการกลืนน้ำในระหว่างว่ายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำในแม่น้ำ คลอง ทะเล หรือสระว่ายน้ำก็ตาม
logoline