svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

งานวิจัยเผยโลกร้อนทำทะเลร้อนขึ้น สาเหตุของการเกิดสึนามิครั้งต่อไป

29 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผลการศึกษาครั้งใหม่โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกศาสตร์ เผย "โลกร้อน" อาจเป็นสาเหตุของสึนามิครั้งต่อไป เพราะทะเลที่ร้อนละลายน้ำแข็ง เกิดแผ่นดินถล่มที่ก้นมหาสมุทรในแอนตาร์กติก ซึ่งอาจเกิดคลื่นยักษ์ซัดถล่มซีกโลกใต้ในที่สุด

ผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Communications โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกศาสตร์ (Hydrography) และทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย ออกมาเตือนว่า “สภาวะโลกร้อน” และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ อาจเป็นตัวกระตุ้นให้มีเหตุดินถล่มครั้งใหญ่ที่ก้นมหาสมุทรแอนตาร์กติก จนเกิดคลื่นยักษ์สึนามิขนาดใหญ่ซัดถล่มซีกโลกใต้ โดยชี้ว่าเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วถึง 2 ครั้งเมื่อหลายล้านปีก่อน ระหว่างที่โลกอยู่ในช่วงมีอุณหภูมิสูงขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศราวปัจจุบัน

งานวิจัยเผยโลกร้อนทำทะเลร้อนขึ้น สาเหตุของการเกิดสึนามิครั้งต่อไป

ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยพลีมัธ ของสหราชอาณาจักร ดร.เจนนี่ เกลส์ อธิบายว่า คลื่นยักษ์สึนามิขนาดมหึมาที่มีสาเหตุจากชั้นตะกอนก้นมหาสมุทรพังถล่ม เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคดึกดำบรรพ์เมื่อราว 3 ล้านปีก่อน และเมื่อ 15 ล้านปีก่อน ซึ่งล้วนเป็นช่วงเวลาที่เกิดภาวะโลกร้อน ทำให้มีคลื่นยักษ์ซัดถล่มภูมิภาคอเมริกาใต้ นิวซีแลนด์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากหากเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในปี 2017 ทีมผู้วิจัยได้ค้นพบหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ชี้ว่า เคยเกิดเหตุดินถล่มก้นสมุทรนอกชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกา บริเวณทิศตะวันออกของทะเลรอสส์ (Ross Sea) ทำให้ในปีต่อมามีการขุดเจาะแกนของชั้นตะกอนก้นสมุทรขึ้นมาตรวจสอบ โดยผลวิเคราะห์พบว่าชั้นตะกอนที่เกาะตัวกันเพียงหลวมๆ และพังถล่มลงมานั้น แท้ที่จริงคือซากแพลงก์ตอนปริมาณมหาศาล ซึ่งขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในยุคไพลโอซีนตอนกลาง และยุคไมโอซีน เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรแอนตาร์กติกยุคนั้นสูงกว่าปัจจุบันถึง 3 องศาเซลเซียส หรือราว 5.4 องศาฟาเรนไฮต์

ทางด้าน ดร.โรเบิร์ต แม็กเคย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาสมุทรแอนตาร์กติก ประจำมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย แห่งกรุงเวลลิงตันของนิวซีแลนด์ หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัย เปิดเผยว่า “ในช่วงยุคน้ำแข็งที่อากาศหนาวเย็นลง ชั้นตะกอนที่เกิดจากซากแพลงก์ตอนถูกทับถมด้วยหินกรวดที่ธารน้ำแข็งพัดพามา ทำให้เกิดโครงสร้างที่ไม่มั่นคงและมีความเสี่ยงจะพังถล่มลงมาได้ง่าย”

งานวิจัยเผยโลกร้อนทำทะเลร้อนขึ้น สาเหตุของการเกิดสึนามิครั้งต่อไป

แม้ขณะนี้ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุที่จะทำให้ชั้นตะกอนก้นสมุทรพังถล่มนั้น แต่คาดการณ์ว่าการละลายและหดตัวของธารน้ำแข็งจากภาวะโลกร้อนในอดีต ทำให้แผ่นเปลือกโลกรับน้ำหนักน้อยลงและเกิดการ “ดีดตัว” (Isostatic rebound) ซึ่งจะทำให้มีแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่เขย่าให้ชั้นตะกอนก้นสมุทรพังลงมาและเกิดคลื่นยักษ์สึนามิได้

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังไม่สามารถคำนวณได้ว่า คลื่นยักษ์สึนามิขนาดมหึมาที่อาจซัดถล่มซีกโลกใต้อีกครั้งต่อไปจะมีขนาดและความสูงเป็นเท่าใดกันแน่ แต่พวกเขาคาดว่าน่าจะมีขนาดไม่เล็กไปกว่า “สึนามิแกรนด์แบงส์” (The Grand Banks Tsunami) เมื่อปี 1929 ที่ซัดถล่มชายฝั่งเขตนิวฟาวด์แลนด์ ประเทศแคนาดา โดยมีความสูงถึง 13 เมตร นอกจากนี้ คลื่นยักษ์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวน่าจะมีขนาดใหญ่กว่าสึนามิที่ซัดถล่มปาปัวนิวกินี เมื่อปี 1998 ซึ่งมีความสูงถึง 15 เมตร และทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 2,200 คน

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้เน้นย้ำว่าต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่สามารถส่งผลต่อความมั่นคงลักษณะภูมิประเทศเชื่อมกับการเกิดสึนามิในอนาคต ทั้งหมดก็เพื่อปกป้องชีวิตจากโลกที่กำลังร้อนขึ้นในทุกขณะ

 

 

 

source : Climate change could trigger gigantic deadly tsunamis from Antarctica, new study warns

 

logoline