svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

นักวิทย์ฯ จีนพัฒนา ‘เนื้อปลาเพาะจากแล็บ’ เท็กซ์เจอร์เหมือนจริง

26 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง และมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคต้าเหลียนของจีน โชว์ผลงานวิจัยล่าสุด “เนื้อปลาเพาะจากแล็บ” ให้สัมผัสเนื้อนุ่มเด้งคล้ายของจริง แก้ปัญหาปลาไม่พอ

โปรตีนจาก “เนื้อปลา” นับเป็นเมนูยอดนิยมของผู้คนจำนวนมากทั่วโลก โดยเฉพาะคนยุคนี้ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทั้งยังอยากมีส่วนช่วยลดการก่อก๊าซเรือนกระจกจากการทำปศุสัตว์  ทว่า จำนวนประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นดันยอดตัวเลขความต้องการบริโภคมากขึ้นในทุกฤดูกาล จนส่งผลทำให้เกิดการทำประมงเกินขนาด ทำให้ทรัพยากรทางทะเลเริ่มร่อยหรอ มากไปกว่านั้นยังมีเรื่องของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเป็นความตายของสัตว์ใต้น้ำมากมาย

นักวิทย์ฯ จีนพัฒนา ‘เนื้อปลาเพาะจากแล็บ’ เท็กซ์เจอร์เหมือนจริง

China’s first centimeter-long cultured fish fillets with the help of 3D technology. Photo: website of Zhejiang University

ล่าสุด คณะนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง และมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคต้าเหลียนของจีน พยายามพัฒนาเนื้อปลาเพาะเลี้ยงที่มีลักษณะเหมือนเนื้อเยื่อสำหรับการบริโภคของมนุษย์ โดยมีการผสมเส้นใยกล้ามเนื้อปลาและเซลล์ไขมัน (adipocyte) เข้ากับเจลจากการพิมพ์แบบ 3 มิติ โดยขั้นแรกทีมวิจัยแยกสเต็มเซลล์กล้ามเนื้อและสเต็มเซลล์ไขมันออกจากปลาจวดเหลือง ซึ่งเป็นปลาอพยพเขตอบอุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติและอุดมด้วยสารอาหาร ต่อจากนั้นกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเชิงไมโอจีนิก (myogenic) ของเซลล์แซทเทลไลท์ปลา (PSC) ด้วยการควบคุมเส้นทางส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องสองเส้นทาง

จากนั้นทีมวิจัยได้สร้างโครงเลี้ยงเซลล์ 3 มิติ ซึ่งเป็นวัสดุรองรับการยึดเกาะและการเจริญเติบโตของเซลล์ปลา โดยสร้างจากเจลที่มีส่วนประกอบของเจลาตินผสมกับเซลล์แซทเทลไลท์ปลา และหลังจากการแบ่งตัวและการเปลี่ยนแปลง นักวิจัยเติมเซลล์ไขมันปลาเพาะเลี้ยงลงในโครงเลี้ยงเซลล์กล้ามเนื้อ จนเกิดการก่อตัวของเนื้อปลาที่มีลักษณะคล้ายเนื้อเยื่อ

ทั้งนี้ ทีมวิจัยอธิบายว่า การเพาะเลี้ยงเซลล์ของปลาเป็นกระบวนการแบ่งตัวและการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในหลอดทดลองผ่านสเต็มเซลล์ของสัตว์ โดยกระบวนการผลิตเนื้อปลานี้ใช้เวลา 17 วัน และไม่พบความแตกต่างชัดเจนระหว่างเนื้อปลาเพาะเลี้ยงและเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อจากปลาจริงในแง่สัดส่วนของเซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ไขมัน ความเหนียว ความยืดหยุ่น หรือความเด้ง

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการประเมินความปลอดภัยหลายขั้นตอน ก่อนที่เนื้อปลาเพาะเลี้ยงจะถูกนำมาเสิร์ฟแก่มนุษย์ โดยหลิวตงหง สมาชิกทีมวิจัย กล่าวว่าผลการวิจัยนี้มอบความเป็นไปได้ในการจัดสรรเนื้อสัตว์และโปรตีนจากสัตว์ในอนาคต และมีนัยสำคัญต่อการอนุรักษ์พันธุ์ปลาทะเล พร้อมกันนี้คณะนักวิทยาศาสตร์ข้างต้นได้เผยแพร่ผลการวิจัยผ่านวารสารเอ็นพีเจ ไซแอนซ์ ออฟ ฟูด (npj Science of Food) เมื่อไม่นานนี้

logoline