svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

Carbon Credit เกี่ยวข้องกับชีวิตเราอย่างไร

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) การลงทุนกับอากาศ วิธีสร้างรายได้ที่มีส่วนรับผิดชอบกับสภาวะแวดล้อมของโลก

ช่วงนี้มีกระแสพูดถึง ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) ให้ได้ยินมากขึ้น เนื่องจากต่อจากนี้ไปองค์กรธุรกิจจะต้องมีส่วนรับผิดชอบกับสภาวะแวดล้อมโลก ด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก อันเป็นต้นเหตุสำคัญของสภาพอากาศแปรปรวน แม้บางคนจะมองว่าเป็นของคาร์บอนเครดิตเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตบนโลก

Carbon Credit เกี่ยวข้องกับชีวิตเราอย่างไร
"คาร์บอนเครดิต" (Carbon Credit) คืออะไร?

“คาร์บอนเครดิต” ตามความหมายที่องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) คือ “ศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศของโลก โดยนำมาคำนวนเป็นค่าเครดิต ให้สามารถซื้อ-ขายได้ เหมือนเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง โดยหนึ่งเครดิตเท่ากับการสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน เพื่อขายให้กับประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศอุตสาหกรรม หรือแม้แต่เอกชนบางราย โดยประเทศหรือหน่วยงานเหล่านี้จะซื้อคาร์บอนเครดิตไปเพื่อใช้ขยายขอบเขตหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง”

คาร์บอนเครดิต คือปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ ที่กำหนดให้บริษัทสามารถปล่อยได้ต่อปี หากปล่อยมลภาวะน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถนำส่วนต่างไปจำหน่ายให้กับบริษัทอื่นๆ ในภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งสิ่งนี้นี่เองที่เราเรียกว่า "คาร์บอนเครดิต" โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตถูกนำมาใช้เป็นแรงจูงใจและเป็นส่วนหนึ่งของกลไกลตลาดเพื่อโน้มน้าวให้โรงงานอุตสาหกรรมและผู้ผลิตรายใหญ่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ

ทั้งนี้ ประเทศในสหภาพยุโรปถือเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่รณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยมีการเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจก หรือภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งหลายๆ บริษัทก็มักจะทำโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เช่น การปลูกต้นไม้คืนพื้นที่สีเขียวสู่สังคม หรือจ้างชาวบ้านในชุมชนปลูกต้นไม้สำหรับช่วยกรองมลภาวะและคาร์บอนฯ เพื่อเป็นการสร้างคาร์บอนเครดิต ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทาง เพราะถือว่าต้นไม้ยิ่งมีจำนวนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยทำให้ก๊าซคาร์บอนฯ ในชั้นบรรยากาศลดลง

การซื้อขายคาร์บอนเครดิต

เมื่อได้ทราบกันไปแล้วว่าคาร์บอนเครดิตนั้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร ทีนี้เรามารู้จักกับแหล่งซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือเรียกกันว่า ตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Market) ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ดังนี้

1. ตลาดคาร์บอนเครดิตของทางการ หรือภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market)

ตลาดคาร์บอนเครดิตของทางการ หรือภาคบังคับ จะมีหน่วยงานของรัฐบาล และคณะกรรมการกลางอย่าง UNFCCC เข้ามาเป็นคนควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขององค์กรต่างๆ อย่างเข้มงวด รวมไปถึงเป็นผู้ดำเนินการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยเช่นกัน

โดยตลาดคาร์บอนของทางการส่วนใหญ่จะบังคับใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตรารายได้สูง

2. ตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)

ตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ คือ ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ยังมีผู้ซื้อขายไม่มากนัก แม้จะมีหน่วยงาน หรือองค์กรคอยดูแลการแลกเปลี่ยน แต่ภาคอุตสาหกรรมในประเทศเหล่านี้จะยังไม่ได้บังคับใช้กฎหมายควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะเป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันด้วยความสมัครใจเอง

ซึ่งประเทศไทยเองก็อยู่ในตลาดคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจเช่นกัน โดยจะอยู่ในความดูแลของ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นผู้ควบคุมการซื้อขาย

ราคาคาร์บอนเครดิตในไทย

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ผู้ที่เข้าร่วมการซื้อขายจะต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และดำเนินภายใต้ผ่านโครงการ Thailand Voluntary Emissions Reduction หรือที่เรียกว่า T-VER ซึ่งเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยโดยความสมัครใจ ส่วนหน่วยวัดของคาร์บอนเครดิต คือ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)

Carbon Credit เกี่ยวข้องกับชีวิตเราอย่างไร

สำหรับราคาคาร์บอนเครดิตในไทย อิงตามรายงานของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ระบุว่า ราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยแล้ว มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

  • ราคาคาร์บอนเครดิต ปี พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 21.36 บาท / tCO2eq
  • ราคาคาร์บอนเครดิต ปี พ.ศ. 2562 อยู่ที่ 24.78 บาท / tCO2eq
  • ราคาคาร์บอนเครดิต ปี พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 25.77 บาท / tCO2eq
  • ราคาคาร์บอนเครดิต ปี พ.ศ. 2564 อยู่ที่ 33.9 บาท / tCO2eq
  • ราคาคาร์บอนเครดิต ปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 108.22 บาท / tCO2eq
  • ราคาคาร์บอนเครดิต ปี พ.ศ. 2566 อยู่ที่ 97.57 บาท / tCO2eq

อัพเดตล่าสุด : วันที่ 7 มิ.ย. 2566 

ติดตามอัพเดทเพิ่มเติมได้ที่ carbonmarket

 

ประเภทต้นไม้ที่ขอรับรองคาร์บอนเครดิตได้ มี 2 ประเภท คือ

  • ต้นไม้ยืนต้นอายุยืนยาว ที่มีเนื้อไม้และมีวงปี
  • ต้นไม้ยืนต้นอายุหลายปี แต่ไม่มีวงปี เช่น ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และไผ่ชนิดต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังมีพืชกลุ่ม Blue Carbon เช่น หญ้าทะเล ที่สามารถขอการรับรองคาร์บอนเครดิตได้ด้วยเช่นกัน


58 พันธุ์ไม้ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แนะนำว่าสามารถแปลงเป็นคาร์บอนเครดิตได้ ได้แก่

  1. สัก
  2. พะยูง
  3. ชิงชัน
  4. กระซิก
  5. กระพี้เขาควาย
  6. สาธร
  7. แดง
  8. ประดู่ป่า
  9. ประดู่บ้าน
  10. มะค่าโมง
  11. มะค่าแต้
  12. เคี่ยม
  13. เคี่ยมคะนอง
  14. เต็ง
  15. รัง
  16. พะยอม
  17. ตะเคียนทอง
  18. ตะเคียนหิน
  19. ตะเคียนชันตาแมว
  20. ไม้สกุลยาง
  21. สะเดา
  22. สะเดาเทียม
  23. ตะกู
  24. ยมหิน
  25. ยมหอม
  26. นางพญาเสือโคร่ง
  27. นนทรี
  28. สัตบรรณ
  29. ตีนเป็ดทะเล
  30. พฤกษ์
  31. ปีบ
  32. ตะแบกนา
  33. เสลา
  34. อินทนิลน้ำ
  35. ตะแบกเลือด
  36. นากบุด
  37. ไม้สกุลจำปี - จำปา
  38. แคนา
  39. กัลปพฤกษ์
  40. ราชพฤกษ์
  41. สุพรรณิการ์
  42. เหลืองปรีดียาธร
  43. มะหาด
  44. มะขามป้อม
  45. หว้า
  46. จามจุรี
  47. พลับพลา
  48. กันเกร
  49. กะทังใบใหญ่
  50. หลุมพอ
  51. กฤษณา
  52. ไม้หอม
  53. เทพทาโร
  54. ฝาง
  55. ไผ่ทุกชนิด
  56. ไม้สกุลมะม่วง
  57. ไม้สกุลทุเรียน
  58. มะขาม

สำหรับกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทย ดำเนินการโดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยคนทั่วไป หรือภาคเอกชนที่สนใจ สามารถติดต่อขอคำแนะนำได้ที่ www.tgo.or.th เพียงแค่มีที่ดินปลูกต้นไม้ ก็สามารถเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้แล้ว โดยการประเมินปริมาณคาร์บอนเครดิตที่สามารถซื้อขายได้ จะประเมินโดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก

การขายเริ่มจากทำการลงทะเบียนสำหรับเปิดบัญชีในระบบทะเบียนคาร์บอน จากนั้นสามารถทำการขายได้ 2 วิธี คือ ขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย อิงราคากลางของตลาด และขายให้กับผู้ซื้อโดยตรง ราคาตามข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย

เงื่อนไขที่ต้องรู้

สำหรับผู้ที่สนใจจะปลูกต้นไม้ขายคาร์บอนเครดิต ข้อมูลจากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ระบุว่า จะต้องมีเงื่อนไขดังนี้

1. มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ประเภทไม้ยืนต้นตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป

2. มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

3. มีความรู้ในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนและจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ

4. มีการจ้างผู้ประเมินภายนอกมาตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบข้อมูลก๊าซเรือนกระจก

 

 

 

ที่มา :

คณะทำงานด้านพลังงาน หอการค้าไทย

องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม