svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

Low Carbon Society : ประเทศญี่ปุ่นกับแนวทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

07 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ญี่ปุ่น” แดนอาทิย์อุทัยกับแนวคิดรักษ์โลก จากจุดเริ่มต้นของสังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดี สู่เป้าหมายที่จะก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และทิศทางการขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำของไทย

ทุกวัน เราดื่มกาแฟ กินอาหาร ช้อปปิ้ง แล้วก็ทิ้งขยะ ผลักภาระให้รถขยะนำไปจัดการต่อ ทั้งของเสียทั่วไป ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่พัง ยิ่งสังคมบริโภคมากเท่าไหร่ เราก็จะได้ข่าวปริมาณขยะเพิ่มขึ้นจนเกินปริมาณ กลายเป็นความท้าทายของการบริหารจัดการทรัพยากร เรื่องที่ทุกเมือง ทุกสังคม และทุกประเทศต้องเผชิญเหมือนกัน ยิ่งประเทศพัฒนา เศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้นเท่าไหร่ ทรัพยากรที่นำมาใช้ ของเสียที่ปล่อยออกมาก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

Low Carbon Society : ประเทศญี่ปุ่นกับแนวทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

จุดเริ่มต้นแนวคิดสังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดีของ “ญี่ปุ่น”

ประเทศที่เป็นเกาะ มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคน และเศรษฐกิจอยู่ในระดับประเทศพัฒนาแล้ว น่าจะมีความคิดดีๆ สำหรับจัดการทรัพยากรเพื่อก้าวสู่สังคมในอนาคต การพัฒนาเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กับการนำเข้าทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก ทั้งพลังงาน อาหาร และวัตถุดิบอื่นๆ ญี่ปุ่นเริ่มมองเห็นปัญหาที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณของเสีย เช่น ความเสี่ยงของมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ข้อจำกัดเรื่องระบบบำบัดขยะ และต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น การตอบสนองทางนโยบายของญี่ปุ่น คือ การพยายามมุ่งไปสู่การเป็นสังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดี (Sound Material Cycle Society)

Low Carbon Society : ประเทศญี่ปุ่นกับแนวทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

แนวคิด “จุนคังกะตะชาไค” (Junkan-gata-shakai) หรือสังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดี ได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1991 โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น แนวคิดสังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดีมีรากฐานมาจากหลักการ 3R (Reduce, Reuse, Recycle) ปัจจัยสำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของขยะและปริมาณขยะที่ไม่ได้บำบัดจัดการอย่างดี ทำให้เกิดมลพิษในด้านต่างๆ ทั้งมลพิษทางอากาศ ดิน น้ำ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปริมาณของวัตถุดิบที่เสียไป เนื่องจากความไม่มีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรและการบริหารจัดการขยะที่มหาศาล สังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดีจึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อลดขยะและลดการนำทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใช้ โดยการนำกลับมาใช้ซ้ำ การรีไซเคิล และกำจัดอย่างเหมาะสม ให้เกิดสมดุลขึ้น

ทิศทางการปฏิบัติ

ขั้นตอนแรกสุดของการสร้างสังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดี คือการต้องเข้าใจถึงการไหลของวัสดุ (flows of materials) ในภาคเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นได้สร้างบัญชีการไหลเวียนวัสดุ (Material Flow Accounts: MFA) ซึ่งบัญชีนี้กลายเป็นเครื่องมือสำหรับบูรณาการนโยบายสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น

บัญชีการไหลเวียนวัสดุ (MFA) ได้ระบุชัดถึงการไหลเวียนของวัตถุดิบในระบบเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น และบันทึกรายการภาพรวมของการไหลเวียนนั้นไว้ จึงทำให้ภาครัฐสามารถกำหนดเป้าหมายหรือตัวชี้วัดการไหลเวียนวัตถุดิบ (material flow indicators) ได้ ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกกฎหมายหลักสำหรับการจัดตั้งสังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 แผนที่ 1 (1st Fundamental Plan for Establishing a Sound Material Cycle Society) ได้ผ่านรัฐสภาในปีค.ศ 2003 และมีแผนฉบับปรับปรุงในปี ค.ศ. 2008 กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบูรณาการการบริหารจัดการขยะ ของเสีย และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเข้ากับกระบวนการบริหารเศรษฐกิจของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีกฎหมายเฉพาะเรื่องรีไซเคิล สำหรับรายสินค้าและรายสาขา เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเพื่อก้าวสู่สังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดี ในขณะที่กฎหมายส่งเสริมการจัดซื้อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นการสนับสนุนสินค้ารีไซเคิล

การกำหนดมาตรฐานอ้างอิงจากผู้ที่ทำได้ดีที่สุด (Top Runner Standard)

ญี่ปุ่นมีวิธีปฏิบัติและประสบการณ์การเข้าสู่สังคมที่มีการหมุนเวียนวัสดุที่ดีที่น่าสนใจ โดยเริ่มจากใช้วิธีการสมัครใจของอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ว่าญี่ปุ่นจะกำหนดเป้าหมายของประเทศไว้ในแผนงานพื้นฐานเพื่อเข้าสู่สังคมหมุนเวียนวัสดุที่ แต่ไม่ได้กำหนดเป้าหมายผูกพัน (binding targets) สำหรับภาคอุตสาหกรรม แต่อาศัยความสมัครใจของภาคอุตสาหกรรมโดยเอกชนเอง นอกจากนี้ ยังได้อาศัยการปฏิบัติการโดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยรัฐบาลท้องถิ่นรับผิดชอบในส่วนการบริหารขยะมูลฝอยในเมือง พยายามลดภาระสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ

และไอเดียที่น่าสนใจที่สุดคือการกำหนดมาตรฐานอ้างอิงจากผู้ที่ทำได้ดีที่สุด (Top Runner Programmed) ทั้งที่ในหลายๆ ประเทศมักใช้การสร้างประสิทธิภาพด้านพลังงาน โดยอาศัยมาตรการขั้นต่ำ (Minimum Efficiency Performance Standard) แต่ประเทศญี่ปุ่นใช้ยุทธศาสตร์ที่ต่างออกไป โดยใช้โครงการกำหนดมาตรฐานอ้างอิงจากผู้ที่ทำได้ดีที่สุดเพื่อหาแบบจำลองที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในตลาด จากนั้นจึงขยายมาตรฐานที่ดีที่สุดนี้ให้ผู้ประกอบการรายอื่นต้องทำตาม โดยกำหนดการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในอนาคตไว้ว่าจะกลายเป็นมาตรฐานที่ใช้

Low Carbon Society : ประเทศญี่ปุ่นกับแนวทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society Creation)

นอกจากเรื่องสังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดีแล้ว ประเทศญี่ปุ่นยังมีเป้าหมายที่จะก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอีกด้วย เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ประเทศญี่ปุ่นกำหนดหลักการสำคัญคือ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกภาคส่วน โดยประเทศญี่ปุ่นจะมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนสมดุล (Carbon neutral society) ซึ่งหมายถึงสังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ธรรมชาติสามารถดูดซับได้ ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายสังคมคาร์บอนสมดุลนี้ทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึงการลดปริมาณคาร์บอนในทุกๆ กิจกรรม

เน้นการมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและตระหนักถึงการส่งเสริมคุณภาพชีวิต โดยภายใต้สังคมคาร์บอนต่ำ ประชาชนควรพยายามละทิ้งค่านิยมที่มุ่งเน้นการบริโภค หันมามุ่งเน้นคุณค่าของสถาบันครอบครัว สายใยชุมชน และความสัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยต้องมีความตระหนักและรู้สึกผิดหากใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้คุณค่า (Mottainai spirit) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่จะสะท้อนออกมาในทางเลือกของผู้บริโภคซึ่งจะนำพาให้สังคมไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู่การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

ในสังคมคาร์บอนต่ำนั้น มนุษย์และสังคมถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศโลก เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงภาวะโลกร้อนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาและฟื้นฟูธรรมชาติ เพื่อการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ รวมทั้งการสนับสนุนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สังคมคาร์บอนต่ำของญี่ปุ่นจะถูกสะท้อนออกมาใน 6 มิติ

มิติที่ 1 การเดินทางเคลื่อนย้าย เน้นการใช้ระบบขนส่งมวลชน แนะนำระบบแบ่งปันรถยนต์ให้ประชาชนรู้จัก ระบบขนส่งและจัดส่งจะถูกกำกับโดยระบบสารสนเทศที่ก้าวหน้า เพื่อให้เกิดการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพและปล่อยคาร์บอนต่ำ

มิติที่ 2 สิ่งแวดล้อมการทำงานและการใช้ชีวิต ประหยัดพลังงานด้วยพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้คนสามารถทำงานจากที่บ้านหรือสถานที่อื่นได้โดยไม่ต้องเดินทางเข้าเมือง

มิติที่ 3 อุตสาหกรรม ภาวะโลกร้อนถือเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจ บริษัทเอกชนต้องเปิดเผยรายละเอียดของกิจกรรมที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สาธารณชนรับทราบ การลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้รับการคำนึงถึงตลอดทั้งสายโซ่อุปทาน ด้านเทคโนโลยี เน้นนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิต เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก มีการใช้ไฮโดรเจนมาทดแทนการใช้ถ่านหิน การที่ภาคอุตสาหกรรมได้ใช้เทคโนโลยีด้านการผลิตที่สะอาดเหล่านี้จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ

มิติที่ 4 ทางเลือกของผู้บริโภค ประชาชนควรไม่รับหีบห่อที่ไม่จำเป็น มีความพอใจที่จะซื้อสินค้าที่ใช้ซ้ำได้และสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความภูมิใจในสินค้าจากภายในชุมชนของตนเอง ไม่สนับสนุนสินค้าจากบริษัทที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบ Eco-point ได้คะแนนจากกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

มิติที่ 5 ป่าไม้ และการเกษตรโภคภัณฑ์ สิ่งเสริมการบริหารจัดการการเกษตรและการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่อนุญาตให้ผู้บริโภคสามารถทราบถึงที่มาและวิธีการผลิตของโภคภัณฑ์ต่างๆ

มิติที่ 6 รูปแบบที่แตกต่างระหว่างเขตเมือง และเขตชนบท กำหนดให้มีการวางรูปแบบของเมืองให้เหมาะสมตามขนาดของเมือง โดยแบ่งประเภทของเมืองตามขนาดได้ 3 ระดับ 1.เมืองขนาดกลางถึงใหญ่ 2.เมืองขนาดเล็ก 3.เขตชนบท โดยได้ระบุประเภทของปัจจัย 3 อย่าง คือระบบคมนาคม อาคารบ้านเรือน พลังงานทางเลือก เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของเมือง
 

Low Carbon Society : ประเทศญี่ปุ่นกับแนวทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

กลยุทธ์เพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society Strategy)

วิธีการที่จะทำให้สังคมคาร์บอนต่ำสำเร็จประกอบด้วย ความร่วมมือจากภาคประชาชน (Desirables action for Citizens) โดยปลูกฝังให้ประชาชนมี การมีส่วนร่วม ความคิดและการแบ่งปัน (Eco-participation, eco-thinking และ eco-sharing) นอกจากนั้นคือความร่วมมือจากภาคเอกชน (Desirables action for Corporations) ให้ผลิตสินค้าที่มุ่งเน้นความเป็นคาร์บอนต่ำ สนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยี โมเดลธุรกิจคาร์บอนต่ำ ธุรกิจที่มีส่วนเสริมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำและบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางกำไร สนับสนุนสถาบันการเงินเพื่อให้เงินทุนกับธุรกิจที่ต้องการทำการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม

ส่วนรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ได้แก่ การให้แรงจูงใจแบบสนับสนุน (Incentives) โครงสร้างพื้นฐาน (Soft Infrastructure) ที่มุ่งเน้นด้านความรู้และการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานทั่วไป (Hard infrastructure) มุ่งเน้นจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และทุนธรรมชาติ มุ่งเน้นการบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม

ทิศทางการพัฒนาของญี่ปุ่นและหลายประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น ทุกประเทศล้วนต้องการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน อย่างไรก็ตาม หลายประเทศก็ตระหนักดีถึงผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาดังกล่าวที่ส่งผลต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศและโลก เราจึงสามารถเรียนรู้จากประเทศที่ผ่านประสบการณ์มาก่อนและดึงบทเรียนที่น่าสนใจมาคิดให้ลึกซึ้งเพื่อประยุกต์ใช้กับสังคมของเราต่อไป

Low Carbon Society : ประเทศญี่ปุ่นกับแนวทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ไทยแลนด์กับทิศทางการขับเคลื่อน "สังคมคาร์บอนต่ำ"

การพัฒนาประเทศไทยให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีทิศทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการสนับสนุน “เศรษฐกิจหมุนเวียน” และ “สังคมคาร์บอนต่ำ” ได้ถูกกำหนดเอาไว้ให้อยู่ภายใต้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งประกาศใช้อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

สังคมคาร์บอนต่ำกับยุทธศาสตร์ชาติ

สำหรับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดรูปแบบเอาไว้ในหมุดหมายการพัฒนาที่ 10 ตามแผนพัฒนาชาติฉบับ 13 โดยให้มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 3 ด้าน ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง : ในด้านการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์ และให้ผลประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน 

ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน : ในการอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมและบริการที่เหมาะสม และสนับสนุน การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอย่างยั่งยืน 

ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม : ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนา และใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดมลพิษและผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

logoline