การประท้วงจัดขึ้นในหลายเมืองทั่วฝรั่งเศสเมื่อวันเสาร์ (7 กันยายน) โดยการนำของสหภาพแรงงานต่าง ๆ และสมาชิกของพันธมิตรฝ่ายซ้ายภายใต้ชื่อ นิว ป็อปปูลาร์ ฟรอนต์ (NPF) ซึ่งคว้าที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นก่อนกำหนดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม NPF โกรธแค้นที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ไม่ยอมแต่งตั้งลูซี คาสเต็ตส์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจาก NPF โดยเธอไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะได้รับการลงมติไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่
กระทรวงมหาดไทย ประเมินว่า มีผู้เข้าร่วมชุมนุมราว 110,000 คน ซึ่งรวมถึง 26,000 คน ในกรุงปารีส แต่แกนนำผู้ประท้วง อ้างว่า มีผู้ชุมนุมทั่วประเทศรวม 300,000 คน ขณะที่มีรายงานกำหนดจัดการประท้วงเกือบ 130 จุด โดยส่วนใหญ่อยู่ในกรุงปารีส
ฌอง-ลุก เมลองชง ผู้นำ NPF ร่วมปราศรัยต่อฝูงชน โดยยืนยันว่า จะลงมติคัดค้านรัฐบาลชุดใหม่ในสภา ขณะที่การประท้วงมุ่งประณามมาครงว่า ทำลายประชาธิปไตย ก่อรัฐประหาร และปล้นการเลือกตั้ง รวมทั้งเรียกร้องให้เขาลาออก ผู้ประท้วงคนหนึ่ง บอกด้วยว่า “สาธารณรัฐฝรั่งเศสกำลังล่มสลาย” และ “คะแนนเสียงประชาชนไร้ประโยชน์ตราบใดที่มาครงอยู่ในอำนาจ”
ขณะที่มิเชล บาร์นิเยร์ อดีตผู้แทนเจรจาเบร็กซิตของสหภาพยุโรป ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากมาครงเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันพฤหัสบดี ให้สัมภาษณ์ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์เกี่ยวกับการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีว่า เขาพร้อมเปิดกว้างรับสมาชิกลุ่มการเมืองต่าง ๆ รวมถึงพรรคฝ่ายซ้าย และกลุ่มสายกลางของมาครง
บาร์นิเยร์ วัย 73 ปี จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุมากที่สุดของฝรั่งเศสยุคใหม่ และมีภารกิจท้าทายรออยู่ทั้งในเรื่องการปฏิรูป และการจัดทำงบประมาณประจำปี 2025 ที่เจอแรงกดดันให้ลดการขาดดุลงบประมาณ นักวิเคราะห์ มองว่า มาครงและภาคธุรกิจกังวลเรื่องเส้นตายการจัดทำร่างงบประมาณที่ต้องเสนอต่อสภาภายในวันที่ 1 ตุลาคม และมาครงเชื่อว่า บาร์นิเยร์เป็นนักการเมืองที่ไว้ใจได้ และจะสามารถบริหารการคลังของรัฐบาลได้
แต่ผลสำรวจความคิดเห็นที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ พบว่า ผู้ตอบคำถาม 74% มองว่า การกระทำของมาครงไม่เคารพผลการเลือกตั้ง และ 55% เชื่อว่า เขาปล้นชัยชนะ