รายงานดัชนีสันติภาพโลก (GPI) ฉบับที่ 18 ที่จัดทำโดยสถาบัน เพื่อเศรษฐกิจและสันติภาพ (IEP) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในออสเตรเลีย และเผยแพร่เมื่อวันอังคารระบุว่า ทั่วโลกมีความขัดแย้งมากถึง 56 แห่ง ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และ 97 ประเทศ มีระดับความสงบสุขลดลงในปี 2567 ซึ่งมากกว่าทุกปีที่ผ่านมานับจากเริ่มมีการจัดทำรายงานในปี 2551
รายงานระบุด้วยว่า สงครามหลายแห่งมีประเทศอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น โดยมี 92 ประเทศเกี่ยวข้องกับสงครามนอกพรมแดนของตัวเอง ซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มจัดทำรายงาน GPI
ในขณะที่ยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีประเทศที่สงบสุขมากที่สุดถึง 7 ประเทศจาก 10 อันดับแรกของโลก แต่ 23 จาก 36 ประเทศในภูมิภาคนี้กลับมีสันติภาพลดลง โดยเฉพาะสวีเดน ซึ่งเข้าเป็นชาติสมาชิกล่าสุดขององค์การนาโตเมื่อเดือนมีนาคม มีระดับความสงบสุขลดลงมากที่สุดในยุโรป โดยร่วงลง 22 ขั้นสู่อันดับที่ 39 ซึ่งเป็นอันดับต่ำที่สุดนับจากปี 2551
สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ยุโรปเพิ่มงบประมาณด้านการทหารมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสู้รบ โดย 30 จาก 39 ประเทศ มีการใช้จ่ายด้านการทหารมากขึ้นในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้รายงานพบว่า มีการเตรียมพร้อมสำหรับการสู้รบหรือสงครามเพิ่มขึ้นใน 91ประเทศ สวนทางกับแนวโน้มในช่วง 15 ปีก่อนหน้านี้ และความขัดแย้งระดับเล็กน้อยกลับมีแนวโน้มลุกลามเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้น และความขัดแย้งที่มีนานาชาติเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ทำให้โอกาสบรรลุแนวทางยุติปัญหาอย่างยั่งยืนลดลง ส่งผลให้กลายเป็นความขัดแย้งตลอดกาล เช่น สงครามในยูเครน และฉนวนกาซา
รายงานประจำปีนี้ยังพบว่า การสูญเสียชีวิตจากสงครามยังอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย โดยเพียง 4 เดือนแรกของปี 2567 มีผู้เสียชีวิต 47,000 ราย จากความขัดแย้งทั่วโลก และหากตัวเลขเพิ่มขึ้นในอัตรานี้จนถึงสิ้นปี จำนวนผู้เสียชีวิตจะมากที่สุดนับจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาในปี 2537
ในปี 2566 มีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้ง 162,000 คน มากเป็นอันดับ 2 ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยสงครามในยูเครนและฉนวนกาซา มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวมกันคิดเป็นเกือบ 3 ใน 4 ของตัวเลขดังกล่าว