ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 20 ประเทศ จากทั้งหมด 27 ชาติในสหภาพยุโรป (อียู) ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป 720 ที่นั่งในวันอาทิตย์ (9 มิถุนายน) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเลือกตั้งที่มีระยะเวลา 4 วัน หลังจากอีก 7 ประเทศทยอยเปิดลงคะแนนไปแล้ว โดยเนเธอร์แลนด์เริ่มเปิดให้ลงคะแนนเป็นชาติแรกเมื่อวันพฤหัสบดี
ผลสำรวจความคิดเห็นบ่งชี้ว่า พรรคการเมืองกระแสหลักและพรรคที่สนับสนุนอียู จะยังครองเสียงข้างมาในรัฐสภา แต่ฝ่ายขวาดจัดและชาตินิยม เช่น พรรคการเมืองของเกิร์ต ไวล์เดอร์ส ในเนเธอร์แลนด์ และพรรคของมารีน เลอ เพน ของฝรั่งเศส จะได้สัดส่วนที่นั่งเพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้รัฐสภายุโรปประสบความยากลำบากมากขึ้นในการผ่านร่างกฎหมายและการตัดสินใจใด ๆ
ขณะที่สงครามในยูเครน ปัญหาผู้อพยพลอบเข้าสู่ยุโรป และผลกระทบด้านนโยบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อภาคการเกษตร เป็นปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ความสำคัญในการตัดสินใจ
สมาชิกรัฐสภายุโรปแบ่งสัดส่วนที่นั่งตามจำนวนประชากรของแต่ละประเทศ เช่น มอลตา มี 6 ที่นั่ง และเยอรมนีได้ 96 ที่นั่ง รัฐสภายุโรปมีหน้าที่กำหนดนโยบายต่าง ๆ ตั้งแต่ เรื่องข้อบังคับทางการเงินไปจนถึงเกษตรกรรม และการอนุมัติงบประมาณ ที่จะสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐาน เงินอุดหนุนภาคเกษตรกรรม และการจัดส่งความช่วยเหลือแก่ยูเครน
การเลือกตั้งยังเป็นช่วงเวลาทดสอบที่สำคัญต่อความเชื่อมั่นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่ออียู ที่มีประชากรรวมกันเกือบ 450 ล้านคน และในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา อียูประสบปัญหาทั้งการระบาดของโควิด-19, การชะลอตัวของเศรษฐกิจ และวิกฤตพลังงาน สืบเนื่องจากสงครามในยูเครน ที่เป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่พรรคการเมืองต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับวาระของแต่ลประเทศ มากกว่าผลประโยชน์ของยุโรปในวงกว้าง
ปัจจุบันพรรคประชาชนยุโรป (EPP) ที่มีนโยบายสายกลางขวา เป็นพรรคใหญ่ที่สุด แต่ในช่วงหาเสียงพรรคก็ปรับจุดยืนเอียงขวามากขึ้น โดยสนับสนุนนโยบายที่เน้นเรื่องความมั่นคงมากขึ้น หนุนเพิ่มความเข้มงวดของกฎหมายควบคุมผู้อพยพ และมุ่งให้ความสำคัญกับธุรกิจมากกว่าสวัสดิการสังคม