svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

TikTok เป็นภัยด้านความมั่นคง เรื่องจริงหรือสหรัฐฯ มโนไปเอง

15 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สหรัฐฯ เชื่อว่า TikTok ซึ่งเป็นของบริษัท ByteDance ถูกรัฐบาลจีนควบคุมการทำธุรกิจ จึงอาจเป็นภัยด้านความมั่นคงต่อสหรัฐฯ แต่เรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร สหรัฐฯ จะมโนไปเองหรือเปล่า หรืออาจจะเป็นแค่ข้ออ้างในการกีดกันธุรกิจจากประเทศจีน

ByteDance เป็นบริษัทเทคโนโลยีจากประเทศจีน ก่อตั้งเมื่อปี 2012 ซึ่งทำธุรกิจหลายอย่าง ตั้งแต่การทำแอปพลิเคชัน เกมออนไลน์ สื่อบันเทิง รวมทั้ง TikTok โซเชียลมีเดียที่มีเอกลักษณ์ในด้านการโพสต์คลิปวิดีโอสั้นๆ ซึ่งตอบโจทย์ผู้ใช้งานในยุคนี้ที่ต้องการดูคอนเทนต์ไวๆ ทำให้ TikTok มีผู้ใช้งานเป็นประจำทั่วโลกขณะนี้ เกิน 1,000 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ใช้งานในสหรัฐฯ สูงถึง 150 ล้านคน

 

ByteDance มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ประมาณ 220,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ หรือประมาณ 7.7 ล้านล้านบาท ซึ่งชาติตะวันตกเชื่อว่า บริษัทเอกชนที่มีมูลค่าสูงขนาดนี้ ย่อมถูกจับตามองและถูกกำกับดูแลการทำธุรกิจอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลจีน และเมื่อ TikTok ของ ByteDance กลายเป็นโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาติตะวันตกเป็นกังวลว่า รัฐบาลจีนอาจจะใช้อิทธิพลบีบบังคับให้ ByteDance เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลอ่อนไหวด้านความมั่นคงมาให้รัฐบาลจีน ซึ่งตรงนี้ ไม่ใช่ความกังวลที่เลื่อนลอย เพราะจีนมีกฎหมายข่าวกรอง ที่ระบุว่า “องค์กรแต่ละแห่งต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐบาลด้านข่าวกรอง” และยังมีกฎหมายต่อต้านการจารกรรมของจีน ที่ระบุว่า “องค์กรที่เกี่ยวข้อง ต้องไม่ปฏิเสธในการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อการสืบสวนของราชการ”

TikTok เป็นภัยด้านความมั่นคง เรื่องจริงหรือสหรัฐฯ มโนไปเอง

ดังนั้น บริษัท ByteDance ซึ่งเป็นเจ้าของ TikTok หากถูกรัฐบาลจีนขอความร่วมมือในเรื่องการส่งต่อข้อมูลใดๆ บริษัท ByteDance ย่อมต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเต็มใจ หรือไม่เต็มใจก็ตาม เพื่อไม่ให้การทำธุรกิจได้รับผลกระทบ

 

สำนักข่าว AP รายงานว่า กฎหมายที่กล่าวมาเป็นแค่หนึ่งในไม่กี่วิธีที่รัฐบาลจีนอาจจะใช้ในการขอความร่วมมือจาก ByteDance เพราะรัฐบาลจีนมีอำนาจเด็ดขาดในการแทรกแซงการทำธุรกิจของบริษัทเอกชนที่ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีน ตั้งแต่ การสั่งระงับใบอนุญาตการทำธุรกิจ การสั่งตรวจสอบภาษีย้อนหลัง หรือมาตรการลงโทษอื่นๆ ที่สามารถใช้ได้กับบริษัทที่ประกอบธุรกิจในประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนปฏิเสธอย่างหนักแน่นมาตลอดว่าไม่เคยขอให้ ByteDance หรือบริษัทไหนๆ ส่งข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานในต่างประเทศมาให้หน่วยงานของรัฐบาล ส่วนทาง ByteDance ก็อธิบายว่าการบริหารงานภายในบริษัทเป็นไปอย่างอิสระ และที่สำคัญ ผู้ถือหุ้นในบริษัท ByteDance 60% คือผู้ถือหุ้นในต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หุ้นอีก 20% เป็นของพนักงานในบริษัท และอีก 20% เป็นของกลุ่มผู้ก่อตั้งบริษัท

 

แม้แต่ชาวอเมริกันก็ไม่เห็นด้วย ที่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่า TikTok เป็นภัยด้านความมั่นคง และพยายามแบน TikTok ให้ได้ โดยหลายคนแสดงความคิดเห็นว่าเวลาที่สหรัฐฯ ทำธุรกิจสู้ประเทศไหนไม่ได้ ก็จะหาเรื่องแบนธุรกิจนั้นของต่างชาติ โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง และบอกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ควรจะเอาเวลาไปแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในประเทศ อย่างปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหายาเสพติด มากกว่าที่เอาเวลามาหาเรื่องแบน TikTok

logoline