นักโทษชาวอเมริกันจำนวน 5 คน ที่ได้รับการปล่อยตัวจากอิหร่าน ขณะนี้ได้เดินทางถึงกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์แล้ว ก่อนที่จะเดินทางต่อกลับมาที่สหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ซึ่งทางสหรัฐฯ ก็ได้ปล่อยตัวนักโทษชาวอิหร่านจำนวน 5 คนเช่นเดียวกัน ซึ่งนักโทษ 2 คน จะเดินทางกลับอิหร่าน อีก 2 คน เลือกที่จะอยู่ในสหรัฐฯ ต่อ และอีก 1 คน เลือกที่จะเดินทางไปอยู่ประเทศที่สาม เพื่ออยู่กับครอบครัว
การเจรจาแลกเปลี่ยนตัวนักโทษระหว่างสองประเทศ มีกาตาร์เข้ามาช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจามากว่า 1 ปีครึ่ง เพราะการเจรจาเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ซึ่งนอกจากการปล่อยตัวนักโทษแล้ว สหรัฐฯ ยังตกลงที่จะยกเลิกการอายัดเงินกองทุนของอิหร่านจำนวน 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 210,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่อิหร่านได้จากการขายน้ำมันให้กับเกาหลีใต้ โดยเงินจำนวนนี้ จะถูกโอนต่อไปยังธนาคารของอิหร่านในกาตาร์ และมีเงื่อนไขว่า อิหร่านจะใช้เงินจำนวนนี้ในด้านมนุษยธรรมเท่านั้น เช่น การจัดซื้ออาหารและยา ซึ่งจะมีกาตาร์ทำหน้าที่สังเกตการณ์ให้การใช้เงินเป็นไปตามเงื่อนไข
การแลกเปลี่ยนนักโทษเป็นไปตามนโยบายของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีเป้าหมายนำตัวชาวอเมริกันที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมในต่างประเทศให้กลับบ้านให้ได้มากที่สุด แต่เขาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอ่อนข้อมากเกินไป ในการไปเจรจาตกลงแลกเปลี่ยนตัวนักโทษกับอิหร่านแบบนี้ เพราะจะยิ่งทำให้อิหร่าน หรือประเทศอื่นๆ จับกุมและคุมขังชาวอเมริกันมากขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองในการเจรจาแลกผลประโยชน์กับทางสหรัฐฯ
แม้จะมีการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษระหว่างกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านจะดีขึ้น โดยสหรัฐฯ ยังคงมีมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่ไม่ยอมยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์ แม้จะมีความพยายามเจรจาให้อิหร่านยุติโครงการดังกล่าว แลกกับการยุติการคว่ำบาตร แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แล้วยิ่งเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ที่มีการประท้วงทั่วอิหร่านเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ มาห์ซา อามินี หญิงสาวที่ถูกจับกุมเพราะไม่ยอมสวมผ้าคลุมศีรษะ แล้วเสียชีวิตระหว่างที่ถูกจับกุม ก็ทำให้สหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่ออิหร่านที่ใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชน