svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"แชงกรีล่า" กลายเป็นเวทีปะทะคารมจีน-สหรัฐฯ (มีคลิป)

05 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แทนที่การประชุมระดับสูงด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก "แชงกรีลา" จะเป็นโอกาสให้สหรัฐฯ กับจีน ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์และความร่วมมือในภูมิภาค แต่กลับกลายเป็นเวทีการกล่าวหาซึ่งกันและกัน

การประชุมประจำปีด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก "แชงกรีล่า"  (Shangri-La Dialogue) หรือ  SLD ครั้งที่ 20 ที่สิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 2-4 มิถุนยนที่ผ่านมา ได้กลายเป็นเวทีที่สหรัฐฯ กับจีน กล่าวหากันและกันว่าเป็นฝ่ายที่เพิ่มความตึงเครียดบริเวณทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวัน โดยนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีจีนว่า แสดงพฤติกรรม "ไร้ความรับผิดชอบ" หลังเกิดเหตุเรือพิฆาตของจีนเฉียดเข้าไปใกล้เรือพิฆาตของสหรัฐฯ ในลักษณะที่ไม่ปลอดภัย บริเวณช่องแคบไต้หวัน เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 โดยกองเรือที่ 7 ของกองทัพเรือสหรัฐฯ อ้างว่า เรือพิฆาตจีนได้เข้าไปตัดหน้าเรือพิฆาตติดขีปนาวุธ  USS Chung-Hoon ของสหรัฐฯ ที่กำลังซ้อมรบร่วมกับเรือ HMCS Montreal ของแคนดา แต่จีนตอบโต้ว่าสหรัฐฯ กับแคนาดาเป็นฝ่ายจงใจยั่วยุให้เกิดความเสี่ยง ด้วยการเดินเรือผ่านช่องแคบไต้หวันที่อ่อนไหว แต่สหรัฐฯ ยืนยันว่าเรือทั้งสองลำแล่นผ่าน "น่านน้ำที่เสรีในการเดินเรือและการบินตามมกฎหมายระหว่างประเทศ"

"แชงกรีล่า" กลายเป็นเวทีปะทะคารมจีน-สหรัฐฯ (มีคลิป)

เหตุการณ์นี้ยังเกิดหลังขึ้นหลังจากกองบัญชาการภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกว่า เครื่องบินรบ J-16 ของจีน บินเข้าไปใกล้หนึ่งในเครื่องลาดตระเวน RC-135 ซึ่งตัดหน้าเฉียดบริเวณจมูกเครื่องบินเหนือน่านฟ้าทะเลจีนใต้ ที่ถือเป็นการแสดงพฤติกรรม "ก้าวร้าวโดยไม่จำเป็น" ซึ่งแม้ว่าเรือรบของสหรัฐฯ จะผ่านบริเวณนี้ราวเดือนละครั้ง แต่ก็ไม่ปกติที่จะผ่านเข้ามาพร้อมกับพันธมิตรอื่น ๆ และจีนก็ถือว่าน่านน้ำบริเวณนี้อ่อนไหว เนื่องจากกำลังพยายามใช้ทั้งการเมืองและการทหาร กดดันให้ไต้หวันยอมรับการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนือเกาะไต้หวัน แต่รัฐบาลไต้หวันปฏิเสธอย่างแข็งกร้าว 

นอกจากการกระทบกระทั่งกันทั้งในทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวันแล้ว  ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เขม็งเกลียวขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งเรื่องที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกระเบียบข้อบังคับเพิ่มเติม เพื่อห้ามไม่ให้มีการจัดส่งเซมิคอนดักเตอร์สำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเครื่องมือการผลิตชิปของสหรัฐฯ ไปยังจีน, การที่นางแนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ไปเยือนไต้หวัน ในขณะที่ยังอยู่ในตำแหน่ง, กรณีบอลลูนสอดแนมของจีนล่วงล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของสหรัฐฯ และกรณีล่าสุดที่ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันแวะสหรัฐฯ และได้พบกับนายเควิน แมคคาร์ธีย์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนปัจจุบัน ไปต้อนรับและหารือร่วมกับสมาชิกนิติบัญญัติของทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครต 

นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ

และแทนที่การประชุม SLD ที่สิงคโปร์ จะเป็นโอกาสและช่องทางให้ทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสปรับความเข้าใจและฟื้นฟูความสัมพันธ์กัน แต่โอกาสนั้น "ถูกปิดลงอย่างสิ้นเชิง" หลังจากจีนปฏิเสธข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่จะให้มีการพบปะกันระหว่างนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ กับพลเอกหลี่ ฉางฟู่ รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของจีน นอกรอบการประชุม โดยจีนยื่นคำขาดว่าสหรัฐฯ ต้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพลเอกหลี่ ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลการซื้ออาวุธจากรัสเซีย และสหรัฐฯ ยืนยันที่จะไม่ยกเลิกง่าย ๆ ส่วนเรื่องที่จีนยอมให้มีการเจรจา กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ มองว่าการตัดสินใจของจีนเป็น "ความไม่เต็มใจ" ที่จะมีส่วนร่วมในการหารือด้านการทหาร

พลเอกหลี่ ฉางฟู่ รัฐมนตรีกลาโหมจีน

สำหรับพลเอกหลี่ที่เพิ่งจะรับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมหมาด ๆ  เป็นสมาชิกคณะมนตรีรัฐกิจของจีน ( State Council) ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีนี้เป็นครั้งแรกในวันสุดท้ายของการประชุม โดยพูดถึงประเด็นขัดแย้งอย่างตรงไปตรงมาว่า ความคิดแบบสงครามเย็นกำลังเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงค่อความมั่นคงเป็นอย่างมาก ทั้งยังเตือนการจัดตั้งพันธมิตรแบบเดียวกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO)ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่นำพาให้ภูมิภาคนี้ตกเข้าสู่ภาวะการปะทะ  และบอกด้วยว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ต้องการความร่วมมืออย่างเปิดเผยและรอบด้าน ไม่ใช่ความร่วมมือในกลุ่มเล็ก ๆ 

"แชงกรีล่า" กลายเป็นเวทีปะทะคารมจีน-สหรัฐฯ (มีคลิป)

เขาบอกด้วยว่า จีนพยายามสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่กับประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ แต่ฝ่ายสหรัฐฯ ต้องแสดงความจริงใจ คำพูดและการกระทำต้องไปด้วยกัน เพื่อพบกับจีนคนละครึ่งทาง เพื่อผลักดันให้เกิดเสถียรภาพบนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศและกองทัพ และหลักการพื้นฐาน 3 ประการ อันประกอบด้วย ความเคารพซึ่งกันและกัน, การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความร่วมมืออันเป็นแบบได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย อันเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการปรับตัวเข้าหากัน

logoline