svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

สิงคโปร์คว้าอันดับ 1 ของโลกด้านประสิทธิผลของรัฐบาล

26 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผลการจัดอันดับประจำปี 2566 เผยสิงคโปร์ขยับขึ้น 2 ขั้น แซงหน้าฟินแลนด์ กลายเป็นประเทศที่รัฐบาลสามารถสร้างประสิทธิผลได้ดีที่สุดในโลก ส่วนอันดับของไทยลดลง

รายงานการจัดอันดับ Chandler Good Government Index ประจำปี 2566 ที่ประเมินประสิทธิผลของรัฐบาลระบุว่า สิงคโปร์อยู่ในอันดับ 1 ของโลก เลื่อนขึ้นจากอันดับ 3 และแซงหน้าฟินแลนด์ที่ครองอันดับ 1 ตั้งแต่เริ่มเผยแพร่การจัดอันดับครั้งแรกในปี 2564

การจัดอันดับนี้เผยแพร่โดยสถาบัน Chandler Institute of Governance ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรในสิงคโปร์ และเป็นดัชนีวัดความสามารถและผลสำเร็จของรัฐบาลจาก 104 ประเทศ โดยมีปัจจัยชี้วัด 35 ข้อ แบ่งเป็น 7 เสาหลัก ได้แก่

  • ความเป็นผู้นำและการมองการณ์ไกล
  • กฎหมายและนโยบายที่เข้มแข็ง
  • สถาบันที่แข็งแกร่ง
  • การกำกับดูแลทางการเงิน
  • ตลาดที่มีความน่าสนใจ
  • อิทธิพลและชื่อเสียงระดับโลก
  • การช่วยให้คนมีชีวิตดีขึ้น 

การจัดอันดับอาศัยแหล่งข้อมูลทั่วโลกที่เปิดเผยต่อสาธารณชนมากกว่า 50 แห่ง รวมถึง สหประชาชาติ องค์การการค้าโลก โครงการวิจัยความยุติธรรมของโลก และมหาวิทยาลัยเยล

สิงคโปร์คว้าอันดับ 1 ของโลกด้านประสิทธิผลของรัฐบาล

ประเทศที่อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลกในปีนี้  ได้แก่

  1. สิงคโปร์
  2. สวิตเซอร์แลนด์
  3. ฟินแลนด์
  4. เดนมาร์ก
  5. นอร์เวย์
  6. สวีเดน
  7. เนเธอร์แลนด์
  8. เยอรมนี
  9. สหราชอาณาจักร
  10. นิวซีแลนด์ 

สิงคโปร์มีคะแนนรวม 0.865 คะแนน และปัจจัยที่ทำให้ก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 มาจากคะแนนระดับสูงใน 4 เสาหลัก ได้แก่ ความเป็นผู้นำและการมองการณ์ไกล 0.87 คะแนน , การกำกับดูแลทางการเงิน 0.95 คะแนน, ตลาดที่มีความน่าสนใจ 0.95 คะแนน และการช่วยเหลือให้ประชาชนมีชีวิตดีขึ้น 0.92 คะแนน

แต่สิงคโปร์มีคะแนนลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2665 ในด้านกฎหมายและนโยบายที่เข้มแข็งที่ได้ 0.8 คะแนน และอิทธิพลและชื่อเสียงระดับโลกที่ได้ 0.65 คะแนน ส่วนด้านสถาบันเข้มแข็งมี 0.82 คะแนน 

สิงคโปร์คว้าอันดับ 1 ของโลกด้านประสิทธิผลของรัฐบาล

สถาบัน Chandler Institute of Governance ระบุในรายงานว่า วิกฤตซ้อนวิกฤต (polycrisis) ของโลกมีผลต่อประสิทธิผลของรัฐบาล โดยวิกฤตการระบาดของโควิด-19, ร่วมกับสงครามนองเลือด และอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงในวงกว้าง เป็นตัวพิสูจน์ความสามารถของรัฐบาลในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน และการรักษาเสถียรภาพและการปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้สถาบันฯ ระบุว่า สิงคโปร์ ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ มีศักยภาพแข็งแกร่งที่สุดในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากหลากหลายวิกฤตที่รุมเร้า โดยประเทศที่มีการบริหารงานที่ดีจะสามารถพัฒนาความยืดหยุ่นและการต้านทานได้มากกว่าเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤต

สิงคโปร์คว้าอันดับ 1 ของโลกด้านประสิทธิผลของรัฐบาล

รายงานในปีนี้ยังระบุว่าชาติเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน กัมพูชา และเกาหลีใต้มีอันดับดีขึ้น สะท้อนถึงศักยภาพและผลการปฏิบัติงานของภาครัฐพัฒนาดีขึ้น นอกจากนี้ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ได้แก่ เวียดนาม, มาซิโดเนียเหนือ, สาธารณรัฐคีร์กิซ และเคนยา มีอันดับดีขึ้นมากที่สุด

ส่วนไทยอยู่ในอันดับ 47  ลดลง 1 ขั้น มีคะแนนรวม 0.529 มีคะแนนใน 7 เสาหลัก ได้แก่ ความเป็นผู้นำและมองการณ์ไกลที่ 0.35 , กฎหมายและนโยบายที่เข้มแข็ง  0.61, สถาบันเข้มแข็ง 0.43, การกำกับดูแลทางการเงิน 0.61, ตลาดที่มีความน่าสนใจ 0.58, อิทธิพลและชื่อเสียงระดับโลก 0.44 และการช่วยให้ประชาชนมีชีวิตดีขึ้น 0.61

สิงคโปร์คว้าอันดับ 1 ของโลกด้านประสิทธิผลของรัฐบาล

logoline