ผลสำรวจล่าสุด พบว่า จีนยังเป็นประเทศที่ให้เงินกู้ช่วยเหลือฉุกเฉินแก่กลุ่มประเทศเหล่านี้ ซึ่งหลายประเทศก็ยังคงดิ้นรนหาเงินมาจ่ายหนี้มหาศาลที่ยืมจีนมา
ระหว่างปี 2008 ถึง 2021 จีนใช้งบ 2 แสน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 8 ล้านล้านบาท ช่วยเหลือ 22 ประเทศที่ใกล้จะเป็นลูกหนี้รายพิเศษในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งก็มีทั้ง อาร์เจนติน่า ปากีสถาน เคนย่า และตุรกี
แม้เงินที่จีนช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ จะยังถือว่า เล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินช่วยเหลือที่ได้จากสหรัฐอเมริกา หรือ ไอเอ็มเอฟ ซึ่งก็ได้จัดเงินกู้ฉุกเฉินเป็นประจำอยู่แล้วให้หลายประเทศที่เผชิญวิกฤติปัญหา แต่ตอนนี้ จีนก็ถือว่า มีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
จีนผงาดขึ้นเป็นผู้จัดการวิกฤติปัญหาระดับนานาชาติ ช่างเป็นกลยุทธ์คล้ายคลึงกับที่สหรัฐเคยทำอยู่ในช่วงเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา คือการเสนอเงินกู้ให้แก่หลายประเทศ เช่น กลุ่มละตินอเมริกาในช่วงที่เผชิญวิกฤติหนี้สิน ช่วงทศวรรษที่ 1980 และนับจากนั้น สหรัฐก็ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางการเงินของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ 1930 และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่ที่ต่างกันก็คือ เงินกู้จากจีนดูจะเป็นความลับมากกว่า ปฏิบัติการส่วนใหญ่จะถูกเก็บซ่อนไว้ ไม่ให้สาธารณชนได้รับรู้ ผลการศึกษาพบว่า ระบบการเงินของจีนดูจะมีความเป็นสถาบันน้อยกว่า โปร่งใสน้อยกว่า และดูไม่ค่อยเป็นเนื้อเป็นหนัง
ธนาคารกลางของจีน จะไม่เปิดเผยข้อมูลการกู้ยืมเงิน หรือ ข้อตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ให้ธนาคารกลางชาติอื่นได้รับรู้ ธนาคารของรัฐบาลจีนและวิสาหกิจอื่นๆ ก็ไม่ได้ตีพิมพ์ข้อมูลตรงส่วนนี้
เมื่อปี 2010 จีนปล่อยกู้ให้ต่างชาติยังไม่ถึง 5% แต่ก่อนปี 2022 ตัวเลขนี้พุ่งเป็น 60% โดยเฉพาะระหว่างปี 2016 ถึง 2021 ที่ตัวเลขนี้พุ่งขึ้นอย่างมาก
เงินกู้ส่วนใหญ่จากจีน จะลงไปที่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งถือว่า สำคัญต่อภาคธนาคารของจีน ในขณะที่กลุ่มประเทศรายได้ต่ำ จะได้เงินกู้จากจีนน้อยมากหรือไม่ได้เลย แต่จะเน้นไปที่การปรับโครงสร้างหนี้แทน
เป็นเวลาสิบปีมาแล้ว ที่ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ได้ทุ่มงบหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี ลงไปกับโครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการสร้างทางหลวงจากปาปัวนิวกินีไปเคนย่า การสร้างท่าเรือจากศรีลังกาไปยังเวสต์แอฟริกา และการจัดหาพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมให้ผู้คนตั้งแต่ละตินอเมริกาไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นี่จึงถูกมองว่า เป็นการขยายบทบาทของจีนสู่การเป็นมหาอำนาจโลก
เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2021 มีอยู่ 139 ประเทศลงนามข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง คิดเป็น 40% ของจีดีพีโลก และนับเป็นการลงทุนของจีนที่มีมูลค่าสูงเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 34 ล้านล้านบาท แต่ก็ใช่ว่า จะประสบความสำเร็จง่าย เพราะหลายประเทศขาดเงินทุน และการเมืองถอยหลัง บ้างก็ถูกสกัดจากประเด็นสิ่งแวดล้อม คอร์รัปชั่น และการละเมิดสิทธิแรงงาน
บางประเทศยังวิตกเรื่องการกู้เงินจากจีนมากเกินไปและการแผ่อิทธิพลของจีน กล่าวหาข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางว่า เป็นเหมือนกับดักหนี้ ที่ออกมาแบบมาเพื่อให้จีนเข้าควบคุมโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่
แต่รัฐมนตรีต่างประเทศจีน อ้างว่า จีนเข้ามาช่วยให้หลายประเทศผ่อนคลายในสภาวะหนี้สินมากกว่า จีนยังมีข้อตกลงช่วยเหลือหนี้สินกับอีกหลายประเทศแถบแอฟริกา และตำหนิการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐว่า จะส่งผลเสียต่อภาระหนี้สินในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามากกว่า