svasdssvasds
เนชั่นทีวี

บันเทิง

โนรา"ทักษิณนาฏยศาสตร์"มรดกชาวใต้สู่มรดกโลก

17 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยูเนสโก ขึ้นทะเบียน "โนรา" เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยเป็นลำดับที่ 3 ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนต่อจากโขนและนวดไทย

การประชุมออนไลน์ของคณะกรรมการอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 16 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.64  องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนการรำโนรา ชื่อภาษาอังกฤษ "Nora, dance drama in southern Thailand" เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม) ในประเภท "รายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity" นับเป็นการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้รายการที่ 3 ของประเทศไทย ต่อจากโขน และนวดไทย 

 

เว็บไซต์ ยูเนสโก ระบุว่า โนรา เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่มีการรำและการขับร้องจากภาคใต้ของไทย โดยการแสดงประกอบด้วยการตั้งเครื่อง หรือการประโคมดนตรีเพื่อขอที่ขอทาง เมื่อเข้าโรงแสดง มีการโหมโรง กาศครู หรือเชิญครู ซึ่งเป็นการขับร้องบทไหว้ครู และการปล่อยตัวนางรำออกรำโดยการเคลื่อนไหวของขา แขน และนิ้วที่กระฉับกระเฉงและประณีต

โนรา"ทักษิณนาฏยศาสตร์"มรดกชาวใต้สู่มรดกโลก

การแสดงมักจะมาจากเรื่องราวเกี่ยวกับพระชนม์ชีพในอดีตของพระพุทธเจ้า หรือเกี่ยวกับวีรบุรุษในตำนาน ประกอบกับดนตรีที่ใช้กลองหุ้มหนังหน้าเดียว ซึ่งเรียกว่า ทับ ที่ให้ทำนองและจังหวะที่หนักแน่น ร่วมกับปี่ กลอง โหม่ง ฉิ่ง แตระ

 

หนังสือ โนราศิลปะการร้องรำที่ผูกพันกับชีวิต กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ระบุว่า โนรา หรือ มโนราห์ ศิลปะการแสดงท้องถิ่นที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนภาคใต้มาช้านาน เป็นการแสดงที่มีแบบแผนในการร่ายรำและขับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ฉพาะถิ่น มีดนตรีเป็นลูกคู่ เล่นรับ-ส่งตลอดการแสดง โดยผู้รำโนรา จะสวมเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยลูกปัดหลากสี สวมปีกหางคล้ายนก เทริดทรงสูง ต่อเล็บยาวที่ทำด้วยโลหะ 
 

การแสดงโนรา เป็นที่นิยมและถือปฏิบัติแพร่หลายในชุมชนรอบๆ ทะเลสาบสงขลา และยังได้รับความนิยมไปตลอดสองฟากฝั่งของคาบสมุทรอินโดจีน ทางตอนเหนือมีคณะโนรา แสดงขึ้นไปถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนทางตอนใต้มีคณะโนราสองภาษา ที่ยังคงแสดงอยู่ในเขตสามจังหวัดภาคใต้ และมีการแสดงของชุมชนไทย ในรัฐตอนเหนือของสหพันธรัฐมาเลเซีย ได้แก่ กลันตัน เกดาห์ ปะลิส และปีนัง
 
สำหรับตำนานความเชื่อเกี่ยวกับที่มาของโนราภาคใต้ นั้น มีอยู่หลายกระแสหลายสำนักแล้วแต่ว่าจะเลือกฟัง แต่พอสรุปสาระสำคัญที่คล้ายคลึงถึงที่มาของความเชื่อเรื่องโนราว่า 

 

ณ เวียงบางแก้ว (ปัจจุบันคือจังหวัดพัทลุง) มีเจ้าเมืองพระนามว่า พระยาสายฟ้าฟาด และมีพระมเหสีนามว่า นางศรีมาลา มีพระราชธิดานามว่านางนวลทองสำลี ซึ่งเป็นธิดาที่โปรดปรานของบิดาเป็นอย่างมาก 

 

คืนหนึ่งนางฝันว่า เห็นกินนรมาร่ายร่ำให้ชมลีลาท่ารำของกินนร งดงามน่าอัศจรรย์มาก และนางก็ได้จดจำท่ารำสิบสองท่าไว้ ขณะร่ายรำมีเสียงดนตรีบรรเลงด้วย 

 

เมื่อตื่นขึ้นมานางจึงร่ายรำตามลีลาและท่าทางตามความฝัน แต่อยู่มาวันหนึ่งนางเกิดตั้งท้องขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ ในตำนานเล่าว่านางกินเกสรดอกบัวในสระแก้วแล้วเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา แต่บางตำนานเชื่อว่านางได้สมสู่กับพวกนักรำละครด้วยกัน คือ พระม่วงทอง แล้วเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา

 

ความทราบถึงพระยาสายฟ้าฟาด ทรงพิโรธจนเนรเทศนางพร้อมบริวารให้ลอยแพออกไปจากเมือง แพของนางนวลทองสำลี ลอยไปในทะเลสาบใหญ่และไปติดที่เกาะกะชัง (ในทะเลสาบสงขลา) ซึ่งที่นั้นนางได้ให้กำเนิดพระโอรสและตั้งชื่อว่าเทพสิงหล และสอนให้พระโอรสนั้นร่ายรำลีลาท่ากินนรตามที่ฝันไว้ 
ภาพท่ารำ ที่มา : http://movie.thaiware.com/891-Serd.html

เมื่อเจริญวัยพระโอรสก็ได้แอบหนีออกมาร่ายรำในเมือง เมื่อพระยาสายฟ้าฟาด พบเห็นการร่ายรำของเด็กน้อยจึงได้สั่งให้เข้าวังเพื่อมารำถวายให้ชมต่อหน้าพระพักตร์ เมื่อพระยาสายฟ้าฟาดได้ชมการร่ายรำของเด็กน้อยที่อ่อนช้อยงดงาม อีกทั้งหน้าตาก็คล้ายคลึงกับพระราชธิดา คือ นางนวลทองสำลีซึ่งตนเองเคยเนรเทศไปจากเมืองก็รู้สึกเอ็นดู 

 

ต่อมาจึงได้รู้ว่าเด็กน้อยที่ร่ายรำได้อย่างงดงามนั้นเป็นหลานตา พระยาสายฟ้าฟาด จึงได้มอบเครื่องต้นอันเป็นอาภรณ์แห่งกษัตริย์ขัตติยราช ประกอบด้วย เทริด คือ เครื่องสวมศรีษะทรงสูง ทับทรวง ประจำยาม ปีกนกแอ่น (ใช้ร้อยเข้ากับสร้อยสังวาลย์) ปั้นเหน่ง และกำไรต้นแขนและปลายแขนอย่างละคู่ และต่อมาแต่งตั้งให้เป็นขุนศรีศรัทธา เพื่อทำหน้าที่เป็นศิลปินผู้ดูแลเรื่องการร่ายรำของราชอาณาจักรเวียงบางแก้ว 

 

ขุนศรีศรัทธา ถือเป็นบรมครูโนราผู้ยิ่งใหญ่ที่ชาวโนรานับถือสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
 

บางตำนานว่า มโนราห์, มโนห์รา หรือโดยย่อว่า โนรา เป็นชื่อศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีรากศัพท์ที่มาจากคำว่า “นระ” เป็นภาษาบาลี – สันสกฤต แปลว่ามนุษย์ เพราะการร่ายรำแต่เดิมแล้ว การรำโนรา จะรำให้เสมือนกับท่าร่ายรำของเทวดา

 

มโนราห์ มีแม่บทท่ารำอย่างเดียวกับละครชาตรี บทร้องเป็นกลอนสด ผู้ขับร้องต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ สรรหาคำให้สัมผัสกันได้อย่างฉับไว มีความหมายทั้งบทร้อง ท่ารำและเครื่องแต่งกายเครื่องดนตรีประกอบด้วย กลอง ทับคู่ ฉิ่งโหม่ง ปี่นอก หรือ ปี่ใน และกรับ ปัจจุบันพัฒนาเอาเครื่องดนตรีสากลเข้าร่วมด้วย เดิมนิยมใช้ผู้ชายล้วนแสดง แต่ปัจจุบันมีผู้หญิงเข้าไปแสดงด้วย

โนรา"ทักษิณนาฏยศาสตร์"มรดกชาวใต้สู่มรดกโลก

โนรา เป็นการร่ายรำตามแบบฉบับของชาวปักษ์ใต้ มีการขับร้องประกอบดนตรี อันได้แก่ กลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ และแตระ ซึ่งเป็นต้นฉบับในการเล่นละครชาตรีมาแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีผู้รู้บางคนกล่าวว่าการรำโนราน่าจะเป็นวัฒนธรรมของอินเดียมาแต่เดิม แล้วแพร่หลายเข้าสู่ชวา มลายู ในช่วงที่อาณาจักรศรีวิชัยกำลังรุ่งเรือง ถ้าพิจารณาดูท่ารำแม่บทของโนราชาตรี จะเห็นได้ว่าหลายท่าคล้ายกับ "ท่ากรณะ" ในคัมภีร์ภรตนาฏยศาสตร์และคล้ายกันมากกับท่ารำในแผ่นศิลาจำหลักที่ บุโรพุธโธ ในเกาะชวาภาคกลาง 

 

นอกจากนั้น วิธีการเล่นของหุ่นละครชาตรี ยังคล้ายคลึงกับละครประเภทหนึ่งของอินเดีย ซึ่งเล่นอยู่ตามแคว้นเบงกอลในสมัยโบราณที่เรียกว่า "ยาตรา" ก็ได้ จากหลักฐานนี้พอจะยืนยันได้ว่า โนรา เป็นอารยธรรมของอินเดียภาคใต้ที่เข้ามาทางแหลมมลายูและภาคใต้ของไทย

logoline